ข่าว

เกษตรกรเปิดศึกแย่งน้ำ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2562


 


          “ประภัตร” สั่งเขื่อนระบายน้ำลงลุ่มเจ้าพระยาช่วยนาข้าวกว่า 1.7 ล้านไร่ เผยแย่งน้ำกันแล้ว ชาวนาสุพรรณฯ โวยต้นน้ำสูบเกลี้ยงจี้รัฐช่วยเหลือ ส่วนชาวนาพิจิตร 3 ตำบลร้องระบายน้ำช่วยกว่า 3 หมื่นไร่กำลังยืนต้นตาย ด้านโคราชภัยแล้งคุกคามหนักเสียหายนับหมื่นไร่ ขณะที่ลำไยพะเยายับกว่า 4 หมื่นไร่

 

          สถานการณ์ภัยแล้งไม่เพียงกระทบน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแต่ยังส่งผลต่อการทำเกษตรในหลายพื้นที่นั้น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าสถานการณ์ภัยแล้งภาคอีสานเริ่มมีสัญญาณคลี่คลายโดยวานนี้ (22 ก.ค.) มีฝนตกมากพอสมควรในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สุรินทร์ ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยฝนจะมาปลายเดือนนี้และต้นเดือนหน้าเข้าหน้าฝนปกติ อย่างไรก็ตามได้สั่งการกรมส่งเสริมการเกษตรให้เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ทุกจังหวัดลงพื้นที่ออกไปสำรวจความเสียหาย ลงไปพบชาวนาไม่ต้องใช้วิธีแบบเดิมนั่งรอชาวนามาแจ้ง เพราะปัจจุบันมีระบบออนไลน์ทั่วประเทศ พร้อมถ่ายภาพพื้นที่จริงประกอบมาด้วย ถ้าเกษตรกรยังไม่ขึ้นทะเบียนก็รับขึ้นทะเบียนในพื้นที่ได้เลย ซึ่งจะต้องทำงานเชิงรุกเข้าถึงทุกพื้นที่ว่ามีพื้นที่เกษตรเท่าไหร่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง เอาของจริงมา อย่านั่งเทียนเขียนส่งมา


          นอกจากนี้ยังมีหลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เปิดศูนย์ภัยแล้งซึ่งจะทำงานร่วมกันทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพย์ฯ ช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้มีแหล่งน้ำเลี้ยงพื้นที่การเกษตรให้ได้ผลผลิต โดยพื้นที่ใดสามารถเจาะบ่อน้ำบาดาล บ่อตอก ได้ให้ดำเนินการทันที ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกระทรวงทรัพย์ฯ มีแผนที่และทีมสำรวจพื้นที่บริเวณใดที่จะมีน้ำบาดาลตรงไหน มีรถขุดเจาะเคลื่อนที่สามารถเข้าไปดำเนินได้โดยด่วนจะแก้ไขปัญหาขาดน้ำได้ทั้งน้ำบริโภคและน้ำการเกษตร


          ส่วนปัญหาลุ่มเจ้าพระยาต้องเร่งจัดหาน้ำส่งให้นาข้าวกว่า 17 ล้านไร่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขต ที่กำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ช่วงกลางเดือนสิงหาคม และช่วงวันที่ 10 สิงหาคมฤดูฝนจะเข้าสู่ปกติจึงเร่งปรับเพิ่มระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สถานการณ์ขณะนี้อันตรายมาก มีปริมาณน้ำระบายหน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพียง 14.3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ส่งผลเกิดปัญหาน้ำไม่ไหลเข้าระบบชลประทาน เช่น คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ความยาว 104 กิโลเมตร จึงไม่มีน้ำส่งให้พื้นที่เกษตรหลายแสนไร่ น้ำไม่พอแบ่งให้ 24 คลอง มีปัญหาทะเลาะแย่งน้ำกันตลอด จึงสั่งเพิ่มน้ำมาจากเขื่อนภูมิพล ปรับเพิ่มการระบายน้ำวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์เพิ่ม 20 ล้านลบ.ม. โดยน้ำออกเดินทางเย็นวันที่ 21 กรกฎาคม และให้ผู้ว่าราชการสั่งหยุดสถานีสูบน้ำไฟฟ้ากว่า 400 แห่ง ตลอดแนวลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน หยุดสูบน้ำ 3 วัน คาดว่าปริมาณน้ำก้อนนี้มาถึงเขื่อนเจ้าพระยาวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ เพื่อมาช่วยเลี้ยงนาข้าวกว่า 17 ล้านไร่ ถ้าน้ำก้อนนี้ไม่พออาจมีการปรับระบายเพิ่มอีกรอบ 

 

 

          อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ล่าสุดมีน้ำใช้การได้ 1.3 พันล้านลบ.ม. จะเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคแน่นอน ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก แต่จะต้องจัดสรรปันส่วนกันกับน้ำเพื่อการเกษตรให้รอบคอบเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดไม่เดือดร้อนทุกฝ่ายได้ใช้น้ำผ่านพ้นวิกฤติไปได้จนเข้าฤดูฝนปกติ


          ส่วนที่ จ.สุพรรณบุรี นายอภิรักษ์ ช่างทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองสุพรรณบุรี ประธานจัดสรรน้ำ ต.บ้านโพธิ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวนาในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี หลายอำเภอกำลังประสบปัญหาภัยแล้งโดยเฉพาะฝนทิ้งช่วงทำให้ข้าวในนาที่กำลังออกรวงขาดน้ำ ชาวบ้านทำทุกวิธีแก้ไขเบื้องต้นไปก่อนเพื่อประคองไม่ให้ต้นข้าวตายสาเหตุเนื่องจากพื้นที่อยู่ท้ายน้ำและรับน้ำจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง (มอ.) มาสู่คลอง 3 ซ้าย 1 ขวา น้ำจากคลอง มอ.มาไม่ต่อเนื่อง เพราะต้นคลองสูบไปก่อน ทั้งที่ขอความร่วมมือกับต้นคลองแล้วให้สูบน้ำเข้าตามรอบที่กำหนด แต่ก็ยังมีการลักลอบสูบน้ำก่อนจึงเกิดปัญหากับเกษตรกรท้ายน้ำ ทั้งนี้ชาวนาสุพรรณบุรีจึงขอความอนุเคราะห์ชลประทานสามชุก ขอเครื่องสูบน้ำที่จะสูบน้ำจากบึงบ้านโพธิ์ ดันขึ้นไปคลอง 3 ซ้าย 1 ขวา เพื่อจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่ ถ้าไม่รีบดำเนินการต้นข้าวที่มีอายุ 1-2 เดือนไม่รอดแน่ แต่ปัญหาเนื่องจากในบึงบ้านโพธิ์มีวัชพืชหนาแน่นจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลในการกำจัดวัชพืชเพื่อให้เครื่องสูบน้ำดันน้ำได้สะดวก โดยนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี นำเครื่องจักรกลมากำจัดวัชพืชแล้ว


          ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พิจิตร ว่าสถานการณ์ฝนแล้งยังส่งผลกระทบประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำยมในพื้นที่ตอนบนในเขต อ.สามง่าม ระดับน้ำแห้งขอดแม้ฝนเริ่มตกลงมาแต่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ประกอบกับฝายยางสามง่ามที่หมู่ 1 บ้านจระเข้ผอม อ.สามง่าม ไม่สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้เนื่องจากชำรุดไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาส่วนราชการร่วมกับประชาชนนำกระสอบทรายมากั้นบริเวณฐานฝายยางแต่กระสอบทรายกั้นน้ำกลับพังชำรุดยิ่งส่งผลกระทบในพื้นที่


          ทั้งนี้ นายฉัตรชัย สุขเกตุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ดงเสือเหลือง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร พร้อมเกษตรกรชาวนา 3 ตำบล ได้แก่ ต.ดงเสือเหลือง ต.เนินสว่าง และต.ทุ่งใหญ่ ในพื้นที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง ที่ประสบภัยขาดแคลนน้ำเพื่อไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวรวมตัวกันกว่า 200 คน ได้เดินทางไปที่ชลประทานจังหวัดกำแพงเพชรเพื่อขอให้เปิดประตูระบายน้ำให้น้ำจากลุ่มแม่น้ำปิง จ.กำแพงเพชร ไหลผ่านคลองสาขา ซึ่งมีระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวกว่า 30,000 ไร่ที่กำลังขาดแคลนน้ำและกำลังยืนต้นตาย


          นายประเสริฐ ล่ำภากร หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ขณะนี้มีการก่อสร้างคลองระบายน้ำวังบัวจึงไม่สามารถระบายน้ำให้แก่เกษตรกรชาวนาได้เนื่องจากกระทบการก่อสร้าง โดยทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 เครื่อง มาติดตั้งโดยชาวบ้านได้นำถุงเพื่อกรอกทรายเพื่อให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบน้ำเพื่อระบายน้ำไปช่วยเหลือนาข้าวในพื้นที่ จ.พิจิตร ผ่านคลองส่งทองแดงและสามารถระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาโดยจะระบายน้ำได้ 30-35 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะใช้เวลาเดินทางของน้ำ 7-10 วันน้ำที่ระบายไปจะถึงเกษตรกรชาวนาในพื้นที่พิจิตร


          ด้านนายวรวุฒิ เนียมน้อย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เปิดเผยสถานการณ์น้ำเขื่อนแควน้อย เหลือเพียง 134 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 14% ของความจุอ่าง แต่ใช้การได้จริง 91.26 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 10% ซึ่งปัจจุบันไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเลยทำให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรทางเขื่อนแควน้อยก็ยังคงปล่อยน้ำช่วยเหลือลุ่มน้ำเจ้าพระยาเช่นเดิมแต่ปรับระบายน้ำลดลงเหลือ 25 ลบ.ม.ต่อวินาที ตามการปรับแผนของกรมชลประทาน ซึ่งทางเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนถือว่าเป็น 4 เขื่อนหลักที่ช่วยเหลือราบลุ่มเจ้าพระยาจากปริมาณน้ำเขื่อนที่น้อยลงทำให้บริเวณประตูระบายน้ำท้ายเขื่อนเห็นแต่สันดอนบริเวณกว้าง

 



          เช่นเดียวกับ จ.พะเยา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสภาพความเสียหายของผลผลิตลำไยในพื้นที่หมู่ 14 ต.น้ำแวน อ.เชียงคำ ผลผลิตลำไยที่กำลังจะได้รับการเก็บเกี่ยวเกิดอาการแตกร่วงแทบทั้งหมด หลังสภาพอากาศในพื้นที่เผชิญภาวะภัยแล้ง รวมทั้งอากาศที่ร้อนจัด และในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกในพื้นที่จึงส่งผลให้ลำไยผิวแตกและร่วงเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยนายปรีชา แสงศรีจันทร์ เกษตรกรในพื้นที่หมู่ 14 ต.น้ำแวน ระบุว่า ในปีนี้มีสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นในพื้นที่เป็นระยะเวลายาวนานจึงทำให้ผลผลิตลำไยแตกและร่วงได้รับความเสียหายแทบทั้งสวน 


          นายเสาร์ ยาศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.น้ำแวน ในฐานะประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ กล่าวว่า ภัยแล้งในปีนี้ค่อนข้างหนักมากและไม่เคยพบมาก่อนทำให้ผลผลิตลำไยเสียหายแทบทั้งหมดคาดว่าจะเหลือเพียง 20% เท่านั้น โดยมีผลกระทบในพื้นที่พะเยาแทบทุกอำเภอ โดย จ.พะเยา มีพื้นที่ปลูกลำไย ทั้งหมดรวม 63,604 ไร่ และพื้นที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 44,522 ไร่


          ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ขอนแก่น ว่าวันเดียวกัน นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือนาข้าวของเกษตรกรบริเวณแก่งน้ำต้อน บ้านกุดกว้าง ต.เมืองเก่า อ.เมืองขอนแก่น ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นกล้าของเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรวมกว่า 1,000 ไร่ใกล้ยืนต้นตาย ชาวบ้านจึงร้องขอช่วยเหลือไปยังเทศบาลตำบลเมืองเก่าเพื่อประสานไปยังจังหวัดในการขอสนับสนุนแหล่งน้ำให้ผ่านพ้นภาวะฝนทิ้งช่วงไปได้


          นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พื้นที่ทางการเกษตรดังกล่าวเป็นหนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง จังหวัดจึงประสานไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 6 ขอนแก่น นำเครื่องสูบน้ำระยะไกลอัตราสูบ 28,000 ลิตรต่อนาที สูบน้ำจากแก่งน้ำต้อนเข้าที่นา โดยเทศบาลตำบลเมืองเก่าใช้รถแบ็กโฮขุดคลองส่งน้ำเข้าที่นาที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร โดยแก่งน้ำต้อนเป็นพื้นที่แก้มลิง ขนาด 6,000 ไร่ มีความจุน้ำ 90 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ทางการเกษตรรอบแก่งน้ำต้อน 5,000 ไร่ มีชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน 3 ตำบล คือ ต.เมืองเก่า ต.ดอนช้าง และต.บ้านหว้า อ.เมืองขอนแก่น ปัจจุบันยังมีน้ำกักเก็บประมาณ 7 ล้านลบ.ม. ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรโดยรอบให้ผ่านพ้นภัยแล้งไปได้


          นางจันทิมา ผาไหม ชาวนาบ้านกุดกว้าง กล่าวว่า ปลูกข้าวนาปีบนพื้นที่ 4 ไร่ ซึ่งภายหลังจากที่ฝนได้ทิ้งช่วงมากกว่า 1 เดือนก็รู้สึกสิ้นหวังและคิดว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ลงทุนคงไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตและยืนต้นตายในที่สุดแต่เมื่อทราบว่าทางจังหวัดได้เข้ามาช่วยเหลือทำให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ จ.ขอนแก่น พัฒนาแก่งน้ำต้อนให้เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ จากพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ ขยายเป็นแก้มลิงรองรับน้ำได้ 6,200 ไร่ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถดูแลระบบชลประทานของเขตอำเภอเมืองต่อเนื่องไปจนถึงอำเภอพระยืน จ.ขอนแก่น โดยรวมกว่า 40,000 ไร่ และคาดว่าโครงการพัฒนาจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณปี 2567


          ส่วนที่ จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือนส่งผลให้ข้าวนาปีที่กำลังเจริญเติบโตในพื้นที่ อ.เมืองยาง จำนวนกว่า 1 หมื่นไร่ยืนต้นตายทั้งหมด ขณะที่ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ก็แห้งขอดเกือบหมด โดยเฉพาะปริมาณน้ำในลำน้ำมาศและลำน้ำมูลในพื้นที่ อ.ชุมพวง ที่ไหลผ่าน อ.เมืองยาง ปริมาณน้ำแห้งขอดทำให้ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ในการเกษตรได้ อีกทั้งพื้นที่ปลูกข้าวนาปีส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบไม่มีแหล่งน้ำไหลผ่านรอคอยเพียงน้ำฝนที่ตกลงมาตามฤดูกาลเท่านั้น


          นายจรัส เลาะไธสง อายุ 54 ปี ชาวนาบ้านเมืองยาง หมู่ที่ 1 ต.เมืองยาง อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปีนี้ภัยแล้งยาวนานที่สุดในรอบ 50 ปี และคาดว่าจะเข้าขั้นวิกฤติมากยิ่งขึ้นเนื่องจากไร้วี่แววฝนจะตกลงมาในพื้นที่ทำให้เกษตรกรทำนาข้าวหลายอำเภอได้รับความเดือดร้อนโดยนาข้าวนับแสนไร่เตรียมยืนต้นตายทั้งหมดหากฝนไม่ตกลงมาภายในสัปดาห์นี้


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง ประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ไม่มีน้ำฝนลงมาเพิ่มเติมและปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณน้ำเหลือเพียงแค่ 326 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 32.39% ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 285 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 29.53% เท่านั้น โดยอ่างเก็บน้ำที่ยังคงเหลือปริมาณน้ำมากกว่าที่อื่นคืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำใช้การได้ 130.44 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 44.71% ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย วิกฤติหนักเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 22.66 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 14.69% อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 32.53 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 24.28% อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำใช้การได้ 75.89 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 28.32% และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำใช้การได้ 23.75 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 20.13%


          ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา งดปล่อยน้ำให้เกษตรกรสำหรับเพาะปลูกไว้ชั่วคราวก่อนเพื่อเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค และได้ประสานหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงนครราชสีมาให้ทำฝนหลวงในพื้นที่โดยเน้นไปที่พื้นที่ทำการเกษตรเป็นหลักก่อนเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร


          ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.หนองคาย ว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.หนองคาย ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ล่าสุดวัดที่ส่วนอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับเพียง 1.54 เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้ (22ก.ค.) เพียง 4 ซม. ยังต่ำกว่าตลิ่งถึง 10.68 เมตร และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งโขง โดยเฉพาะ ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปลาในแม่น้ำโขงต้องจอดเรือไปรับจ้างใช้แรงงานในตัวเมืองเนื่องมาจากน้ำโขงลดต่ำทำให้จับปลาไม่ได้ และปีนี้ระดับน้ำโขงต่ำกว่าฤดูแล้งที่ผ่านมาโดยพบว่าโขดหินที่บ้านหาดทรายทอง ต.หาดคำ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่ปีนี้ก็โผล่ขึ้นให้เห็นด้วย


          ส่วนสถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ที่ลดต่ำลงมากจากภาวะภัยแล้งจนทำให้วัดหนองบัว(ใหญ่) ที่จมน้ำในเขื่อนได้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาโดยทางจังหวัดได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสเชิญชวนนักท่องเที่ยวและประชาชนมาเที่ยมชมวัดหนองบัวที่โผล่พ้นน้ำในครั้งนี้


          นายศภชัย มโนการ ผู้อำนวยการโครงการป่าสักชลสิทธิ์ เปิดเผยว่า ทางเขื่อนร่วมกับนายก อบต.หนองบัว เชิญชวนเที่ยววัดหนองบัว(ใหญ่) ที่จมน้ำในเขื่อนมาร่วม 20 ปี แต่จากสภาพที่แล้งจัดของปีนี้และน้ำในเขื่อนลดทำให้เห็นวัดหนองบัว(ใหญ่) ได้ชัดเจน ซึ่งการโผล่ขึ้นมาของวัดและชุมชนเก่านี้เคยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2558 และครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่เปิดเขื่อนมาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งประชาชนสามารถลงชมวัดเก่าจมน้ำโดยสามารถชมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงระดับน้ำที่ไม่สามารถจะลงไปได้ ซึ่งทางเขื่อนจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบทางเฟซบุ๊กของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์เป็นระยะต่อไป


          ส่วนสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วันนี้มี 44 ล้านลบ.ม. ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก กรมชลประทานได้วางแผนการใช้น้ำโดยส่งช่วยด้านอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมและรักษาระบบนิเวศวันละ 700,000 ลบ.ม. สามารถส่งได้ต่อเนื่องทุกวันและคาดว่าต้นสิงหาคมจะมีน้ำมาเติมในเขื่อน อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนต้องตระหนักใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนภาคการเกษตรขอให้เกษตรกรรอใช้น้ำฝนในการทำนา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ