ข่าว

จี้ ! สอบอธิบดีกรมศิลป์บูรณะเพนียดคล้องช้างผิดแบบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศรีสุวรรณ"นำชาวอยุธยาร้องผู้ตรวจฯสอบ"อธิบดีกรมศิลป์–ผอ.อุทยาน"ปรับปรุงเพนียดคล้องช้างอยุธยา ผิดรูปแบบ ไม่รับฟังคนในพื้นที่ ส่อทุจริต ใช้งบเกินจริง

 

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 22 กรกฎาคม 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมชาวบ้านในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยยา เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจฯผ่านนายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน 

 

ทั้งนี้เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 230(2) ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและสอบอธิบดีกรมศิลปากร และผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของกรมศิลปากร ในฐานะหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หากกรมศิลปากรฝ่าฝืน ก็ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งปลดหรือย้ายบุคคลทั้ง 2 ออกจากตำแหน่ง


นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตามที่เกิดกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรมศิลปากรกับชาวอยุธยา เกี่ยวกับการบูรณะเพนียดคล้องช้างโดยการ “ตัดหัวเสาตะลุง” ด้านปีกกาทิ้งทั้งหมด ซึ่งไม่เป็นไปตามรูปแบบทางประวัติศาสตร์ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมาย และใช้งบประมาณในการดำเนินการส่อไปในทางทุจริตนั้น การกระทำดังกล่าว อาจชี้ได้ว่าเป็นการบิดเบือนและทำลายรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชาวอยุธยาไม่อาจที่จะยอมรับได้

 

เพราะที่ผ่านมามีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง ทางผู้รับเหมาได้สร้างตามหลักฐานที่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปคือ เสาตะลุงที่หลงเหลืออยู่เดิมมีหัวมัณท์ หรือหัวบัว กรมศิลปากรจึงได้ทำการซ่อมแซมทั้งด้านนอกด้านใน และซ่อมต่อเนื่องกันมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้กลับไปเชื่อเพียงแค่รูปถ่ายเพนียดคล้องช้างชั่วคราวของฝรั่งเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วเท่านั้น โดยไม่ดูบริบททางประวัติศาสตร์และความเชื่อที่แท้จริง 


นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ในการซ่อมแซมมีการนำไม้เสาตะลุงเดิมมาปะผุแซมกับไม้ใหม่ ไม่ได้จัดซื้อจัดหาไม้ใหม่ทั้งหมด ทั้งๆที่ใช้งบประมาณสูงถึง 35.8 ล้านบาท แม้เรื่องดังกล่าวชาวอยุธยาจะได้แสดงออกโดยการร่วมลงชื่อกันนับหมื่นรายชื่อเพื่อเสนอให้ ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และอธิบดีกรมศิลปากร ได้ทบทวนการบูรณะให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ที่แท้จริงแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการทบทวนหรือใส่ใจในการแก้ไขปัญหา

 

จี้ ! สอบอธิบดีกรมศิลป์บูรณะเพนียดคล้องช้างผิดแบบ


“เมื่อปี 2550 เคยมีโครงการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ที่ตำบลสวนพริก มีการจัดทำเสาตะลุงพร้อมการเหลาหัวเสาเป็นหัวมัณท์หรือหัวดอกบัว และเปลี่ยนเสาตะลุงใหม่ทั้งหมด รวม 980 ต้น ด้วยงบประมาณ 16 ล้านบาท แต่ในการปรับปรุงบูรณะครั้งล่าสุดนี้พบว่าเสาตะลุงเหลืองเพียง 846 ต้นเท่านั้น แต่กลับใช้งบประมาณถึง 35.8 ล้านบาท ทั้งเสาตะลุงแต่ละต้นจะต้องมีการวางหมุดเหล็กชนิดหนา ความยาวประมาณ 1 ฟุตมาตอกยึดฐานทั้งสี่ด้านของเสากับพื้นปูนที่เป็นฐาน เพื่อไม่ให้เสาเอียง แต่ปรากฏว่าในการบูรณะครั้งนี้มีการใช้หมุดเหล็กชนิดบางและสั้น 30 เซนติเมตร ทำให้เสาตะลุงแต่ละต้นขาดีความมั่นคง เสี่ยงและเป็นอันตรายมากหากพื้นดินอ่อนตัว” นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

นายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย เลขานุการมูลนิธิพระคชบาล กล่าวว่า อธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อมีหลักฐาน หรือรูปภาพที่เก่ากว่ามาแสดง แต่หลังจากที่ประชาชนได้ร้องเรียนทักท้วงไปกว่า 2 เดือนแล้ว ก็ไม่มีการแก้ไข แต่กลับสั่งระงับการบูรณะ และจ่ายค่างวดงานให้กับผู้รับรับเหมาไปแล้ว 8 งวด เป็นวงเงินกว่า 24 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในการซ่อมแซมเสา ได้นำเสาเก่ามากลึงใหม่ และบางส่วนนำไม้มาปิด แบบปะผุ และทางสีใหม่ โดยอ้างงว่ามีน้ำยาจากต่างประเทศมาทาเพื่อให้เสามีอายุใช้งานต่ออีกถึง 100 ปี ซึ่งไม่เป็นความจริง


ทางด้านนายกำธร ขันธนิกร อายุ 59 ปี ซึ่งเป็นหลานของ “ปู่จู” ที่ทำงานอยู่ในกรมช้าง สมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวว่า เสาเพนียดมีหัวบัวมาโดยตลอด แต่ทางราชการได้ส่งรูปถ่ายในปี 2434 โดยเป็นภาพของชาวต่างชาติ ที่อ้างว่าถ่ายเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบจึงพบว่าภาพถ่ายดังกล่าวไม่น่าจะถ่ายจากในพื้นที่นั้น อีกทั้งการบูรณะที่ผ่านมาหลายครั้งกรมศิลป์ทุกชุดก็ยึดตามแบบแผนเดิม ยกเว้นชุดปัจจุบัน ที่ทำแบบคิดเองทำเอง กำลังเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคนอยุธยา จึงอยากให้การบูรณะในครั้งนี้เป็นบทเรียนของกรมศิลปากรในการทำงานที่ปกปิด ตรวจสอบยาก และไม่มีการทำประชาพิจารณ์กับคนในพื้นที่


“ที่ชาวบ้านลุกขึ้นเรียกร้องไม่ได้ต้องการที่จะเอาแพ้เอาชนะ แต่เอาความถูกต้อง อยากให้กรมศิลป์บูรณะแบบเปิดเผยและทำอย่างถูกต้อง เพราะเพนียดถือเป็นมรดกโลก” นายกำธร กล่าวและว่าอยากให้ย้ายอธิบดีกรมศิลปากร และ ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ออกไปจากพื้นที่ก่อน เพื่อลดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ