ข่าว

สพฐ.เด้งผอ.วัดสุทธิฯเซ่นปมคูปองฉาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สพฐ.เด้งผอ.วัดสุทธิฯเซ่นปมคูปองฉาว หลังศิษย์เก่า-นร.บุกศธ.จี้สอบความโปร่งใส ด้าน"บิ๊กป๊อก" สั่งเพิ่มเงื่อนไขเปิดช่องยกเลิกสัญญาอาหารกลางวันนร.ได้

 

 

          ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายชนธัณ อัศวฐานนท์  ประธานกลุ่มสุทธิต่อต้านคอรัปชั่นและศิษย์เก่าโรงเรียนวัดสุทธิวราราม พร้อมด้วย นายสหรัฐ ก้องเกียรติศักดิ์ ประธานสภานักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวราราม และนักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงศ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ตรวจสอบการทำงานของ นายอารีย์ วีระเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน กรณีคูปองเงินอุดหนุนอุปกรณ์การเรียนให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น คนละ 210 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลาย 230 บาทแทนเงินสด แล้วต้องซื้ออุปกรณ์การเรียนภายในโรงเรียนเท่านั้น แต่คุณภาพของสินค้าไม่เหมาะสมกับมูลค่าคูปอง มีการปรับขึ้นราคากระเป๋านักเรียนจาก 300 เป็น 350 บาท แต่กลับมีคุณภาพต่ำลง และปัญหาคูปองในโรงอาหารและปัญหางบประมาณการจัดสอนพิเศษเพื่อสอบโอเน็ต ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบมาระยะหนึ่งแล้ว มีการแต่งชุดดำและล่าชื่อเพื่อประท้วง แต่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จึงรวมตัวมาเรียกร้องครั้งนี้

 

 

          ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าวว่า กรณีนี้ได้ทราบเรื่องและข้อมูล โดยสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 (สพม.2) ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบ ให้ลงไปตรวจสอบหาข้อมูลแล้ว แต่ก็เข้าใจและรับทราบในข้อกังวลใจของนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ นอกจากให้ สพม.2 ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องแล้ว ทางสพฐ.ส่วนกลางจะตั้งคณะกรรมการอีกชุดลงไปตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย โดยให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน เป็นหัวหน้าทีมสืบสวนกลาง ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายหลักที่ สพฐ.ย้ำว่าการบริหารงานจะต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ 


          ทั้งนี้เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปโดยสะดวกได้ลงนามหนังสือมีคำสั่งย้าย นายอารีย์ ไปช่วยงานราชการที่ สพม.2 ก่อน จนกว่ากระบวนการตรวจสอบจะเสร็จสิ้น โดยได้รับแจ้งจาก สพม.2 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม คาดว่าหนังสือที่ออกโดยเขตรับผิดชอบ คือ สพม.2 จะออกได้วันนี้ ส่วนการตรวจสอบจากเอกสารที่นักเรียนมายื่นรวมกับเอกสารจากคณะกรรมการไปตรวจสอบอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ แต่ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนจะมีคำตอบให้สังคมได้และยืนยันจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งผู้อำนวยการ นักเรียน และผู้ปกครองที่เดือดร้อน หากผลสอบออกมาผิดวินัยไม่ร้ายแรง จะมีโทษตัดเงินเดือน และคาดโทษ แต่หากผิดวินัยร้ายแรง ทุจริตจริง จะต้องไล่ออกจากราชการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานอย่างละเอียดก่อนจึงจะให้ข้อมูลได้




          “ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง แต่ตามระเบียบแล้ว หากพบข้าราชการทุจริตจริงก็ต้องโดนโทษวินัย” ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว


          มีรายงานแจ้งว่า การย้าย ผอ.โรงเรียนวัดสุทธิฯ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจาก สพฐ.ส่วนกลางลงไปอีก 1 ชุด หลังจากที่คณะกรรมการสอบชุดของ สพม.2 ไม่คืบหน้า และผู้ร้องเรียนทั้งนักเรียนและศิษย์เก่าไม่พอใจ


          ด้านผู้ปกครองนักเรียน กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะโรงเรียนจะให้เงินสดแก่นักเรียนไปซื้ออุปกรณ์การเรียนแล้วนำใบเสร็จมาให้โรงเรียน โดยระดับชั้น ม.ต้น ได้รับเงิน 210 บาท ส่วน ม.ปลาย 230 บาท แต่ภาคเรียนนี้กลับมีการเปลี่ยนเป็นคูปองไม่มีแจ้งผู้ปกครองล่วงหน้า และต้องให้ผู้ปกครองเซ็นรับทันทีตามเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเช้าวานนี้(8ก.ค.)โรงเรียนได้แจ้งผ่านกลุ่มไลน์ผู้ปกครองว่าจะคืนเงินค่าอุปกรณ์การเรียนและกระเป๋านักเรียนในวันประชุมผู้ปกครองในเดือนสิงหาคมนี้


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ได้ออกแถลงการณ์พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกร้องให้ออกมาชี้แจงการบริหารงานที่ศิษย์เก่ามีข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใส ตลอดระยะเวลา 1 ปี แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ได้ชี้แจงแต่อย่างใด


          ขณะที่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนฝ่ายกิจการนักเรียน ระบุว่า ไม่ได้บังคับให้นักเรียนและผู้ปกครองนำคูปองมาใช้ซื้ออุปกรณ์การเรียน แต่เป็นเพียงการเชิญชวนเท่านั้น และขอเวลาในการรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงรายละเอียด รวมทั้งขอความร่วมมือศิษย์เก่าจัดกิจกรรมด้วยความสงบ ไม่รบกวนเวลาเรียนของนักเรียน


          อย่างไรก็ตามสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากผู้ปกครองเข้าหารือร่วมกับโรงเรียนโดยผู้อำนวยการโรงเรียนได้ออกแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยโรงเรียนจะรับคืนกระเป๋านักเรียนที่ชำรุดและคืนเงินให้ 350 บาท ส่วนอุปกรณ์การเรียนจะรับคืนทั้งหมดและคืนเงินตามมูลค่าคูปองที่ได้รับ


          วันเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาอาหารกลางวันเด็กนักเรียนว่า สาเหตุเกิดจากปริมาณอาหารไม่เพียงพอ รวมถึงในแต่ละโรงเรียนก็ดำเนินการไม่เรียบร้อย ทั้งนี้ในส่วนของโรงเรียนที่เป็นปัญหาเกิดจากการดำเนินการทำสัญญาเอง โดยได้สั่งตรวจสอบว่ามีใครไปบังคับหรือไม่ และมีมาตรการอย่างไรที่ผู้ทำสัญญาจะสามารถตรวจสอบได้ตามเงื่อนไขที่มีอยู่ว่าคุณภาพอาหารดีหรือไม่ดีอย่างไร


          “กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนทุกแห่ง รวมถึงในสังกัด สพฐ.ด้วย โดยกำชับใช้ทุกอย่างดำเนินการตามกฎหมาย การทำสัญญาจะต้องถูกต้อง โดยจะต้องเพิ่มเงื่อนไขหากเจอผู้ประกอบการทำอาหารคุณภาพไม่ดีหรือมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต้องสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หรืออาจจะมีมาตรการอื่นๆ นอกจากนี้จะต้องตั้งคณะกรรมการในระดับอำเภอและท้องถิ่นไปสุ่มตรวจเป็นระยะ และผู้ประกอบการก็ต้องติดรายการอาหารให้รับทราบในแต่ละวันด้วย พร้อมขอให้ผู้ปกครองช่วยกันตรวจสอบ ทั้งนี้หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการทางกฎหมายทั้งแพ่ง อาญา และวินัย” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว และว่า หากมีเสียงสะท้อนจากเด็กถึงคุณภาพอาหารและปริมาณที่ไม่เพียงพอ ทางผู้กำกับดูแลจะต้องรับผิดชอบ ยืนยันว่ากระทรวงมหาดไทยและ ป.ป.ช.มีความเข้มงวดในการตรวจสอบการทุจริต


          ขณะที่ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ตามที่สพฐ.มีนโยบายเน้นการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใย และกำชับให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยกำกับ ดูแลและตรวจสอบทุกโรงเรียนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สพฐ.ได้กำหนดแนวทางดำเนินการ 5 ประเด็น ได้แก่ 1.มอบนโยบายให้ทุกโรงเรียนจัดให้มีโครงการอาหารกลางวันอย่างมีคุณภาพ 2.มีกระบวนการนิเทศ ติดตาม กำกับ ประเมินผลระดับเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง 3.มีประกาศให้สถานศึกษาในสังกัดเป็นสถานศึกษาปลอดภัย ส่งเสริมให้โรงเรียนและชุมชนร่วมกันทำเกษตรอินทรีย์ และนำวัตถุดิบเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้นักเรียนบริโภคอาหารที่ปลอดภัย เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง 4.เน้นย้ำให้ทุกโรงเรียนได้ใช้โปรแกรม Thai School Lunch เพื่อวางแผนการจัดอาหารที่มีคุณภาพ นักเรียนได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และ 5.จัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอาหารกลางวันระดับเขตพื้นที่การศึกษา ในเรื่องการจัดอาหารที่ปลอดภัยและขยายผลสู่โรงเรียนให้ครูผู้รับผิดชอบเป็นนักโภชนาการประจำโรงเรียน


          สำหรับงบประมาณโครงการอาหารกลางวัน สพฐ.ได้รับจากกระทรวงมหาดไทย 4 ปีย้อนหลัง พบว่าปีการศึกษา 2558 มีจำนวนนักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ระดับชั้น ป.6 จำนวน 4,117,288 คน งบประมาณที่ได้รับ 82,345,760 บาทต่อวัน รวมงบประมาณที่ได้รับต่อปี (200 วัน) จำนวน 16,469,152,000 บาท, ปีการศึกษา 2559 มีจำนวนนักเรียน 4,083,982 คน งบประมาณที่ได้รับ 81,679,240 บาทต่อวัน รวมงบประมาณที่ได้รับต่อปี (200 วัน) จำนวน 16,335,848,000 บาท, ปีการศึกษา 2560 มีจำนวนนักเรียน 4,125,623 คน งบประมาณที่ได้รับ 82,512,460 บาทต่อวัน รวมงบประมาณที่ได้รับต่อปี (200 วัน) จำนวน 16,502,492,000 บาท และปีการศึกษา 2561 มีจำนวนนักเรียน 4,081,643 คน งบประมาณที่ได้รับ 81,632,860 บาทต่อวัน รวมงบประมาณที่ได้รับต่อปี (200 วัน) 16,326,572,000 บาทต่อปี ส่วนปีการศึกษา 2562 นี้ รอรวบรวมงบประมาณที่กระทรวงมหาดไทยจัดสรรให้


          นายสุเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้ประกาศมาตรการภายในเพื่อให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดำเนินงานของสพฐ. ในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลและป้องกันการทุจริต ซึ่ง สพฐ.ได้ดำเนินการประกาศมาตรการภายในเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต 7 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ 2.มาตรการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม 3.มาตรการส่งเสริมความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง 4.มาตรการจัดการเรื่องร้องเรียนและทุจริต 5.มาตรการป้องกันการรับสินบน 6.มาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม และ 7.มาตรการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจ อย่างไรก็ตามการประกาศเจตจำนงเรื่องป้องกันทุจริตของสพฐ.นั้น ต้องการส่งเสริมความโปร่งใส และการดำเนินการใดๆ ก็ตามห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเด็ดขาด
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ