ข่าว

ศาลปค.สูงสุดยืนตามศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องคดีเบรคสรรหาส.ว.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปค.สูงสุดชี้การตั้งกก.สรรหาส.ว.ใช้อำนาจตามรธน.ไม่ใช่อำนาจคดีปกครองส่วนไม่เรียกคำสั่งตั้งจากคสช.มาตรวจ ศาลระบุเมื่อคดีไม่อยูในอำนาจเรียกส่งเอกสารไม่ได้

 

25 มิถุนายน 2562  ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยนายฤทัย หงส์สิริ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน และองค์คณะรวม 5 คน  

 

มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับฟ้องคดี คณะราษฎรไทยแห่งชาติ , เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ , องค์การสหพันธ์พิทักษ์อธิปไตยแห่งชาติ และบุคคลอีก 31 ราย ยื่นฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

จากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน แต่ไม่มีการเผยแพร่คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ดังกล่าว โดยภายหลังปรากฏข้อมูลจากการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์สื่อมวลชน และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ (iLaw) เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ร่วมกันใช้อำนาจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยมิชอบเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้

 

โดยแต่งตั้งบุคคลที่ไม่เป็นกลางและล้วนเป็นพรรคพวกของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง มาเป็นกรรมการสรรหาฯ ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนไทย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 269 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 90 (1) โดยกฎหมายบัญญัติให้คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง

 

แต่การแต่งตั้งนั้นเป็นการเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระต่อไป ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่น รวมถึงพรรคการเมืองอื่น และไม่ชอบด้วยครรลองประชาธิปไตย ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.และให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง แต่งตั้งผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ต่อไป รวมทั้งให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว.ฯ นั้นขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 58 หรือไม่

 

โดย "ศาลปกครองชั้นต้น" พิจารณาแล้ว เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน เนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยล่าช้าเกินสมควร เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องทั้ง 34 ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสองแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีความเป็นกลางมาเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว.

 

จึงเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องฟ้องเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ส.ว.อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ดังนั้นศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 197 วรรคหนึ่ง

 

ส่วนคำขอที่ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าการที่ศาลปกครองจะส่งบทกฎหมายใด ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ไม่ว่าจะศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่รับไว้พิจารณา แต่เมื่อคดีนี้ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องทั้ง 34 คนไว้พิจารณาแล้วจึงไม่มีกรณีที่ต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่อ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายออกจากสารบบความ

 

ต่อมาผู้ฟ้องทั้ง 34 คน ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว ต่อศาลปกครองสูงสุด

 

ขณะที่ "ศาลปกครองสูงสุด" พิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 197 วรรคหนึ่ง ที่ได้บัญญัติอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลปกครองในคดีปกครองและมาตรา 269 บัญญัติเรื่องการสรรกาและแต่งตั้ง ส.ว.250 คนให้ดำเนินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้แล้ว เมื่อพิจารณากับส่วนที่ผู้ฟ้องทั้ง 34 อ้างว่าการที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้เรียกให้ "คสช." ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ เพื่อนำมาพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองหรือไม่นั้น ขัดต่อระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 54 นั้น 

 

ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า ระเบียบฯ ดังกล่าว กำหนดว่าเมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ ศาลมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้คู่กรณีหน่วยงานทางปกครอบ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานใดให้แก่ศาล 

 

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าระเบียบฯ ข้อ 54 ดังกล่าว เป็นเพียงข้อกำหนดให้สิทธิแก่คู่กรณีที่จะยื่นคำขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งเรียกให้คู่กรณี หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานใดให้แก่ศาล แล้วเป็นอำนาจดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาต่อไปว่ากรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องมีคำสั่งตามคำขอของคู่กรณีนั้นหรือไม่ เมื่อคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วว่า การที่คสช. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 โดย พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครองแล้ว คดีพิพาทจึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

 

ดังนั้นจึงไม่มีเหตุหรือความจำเป็นต้องเรียกให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ส่งสำเนาดังกล่าวมาให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณาการที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้ให้ "คสช." ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ส่งสำเนาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการฯ ข้อ 54 ข้ออ้างของผู้ฟ้องทั้ง 34 ราย ไม่อาจรับฟังได้

 

ส่วนคำขอของผู้ฟ้อง 34 รายที่ให้ศาลปกครองสูงสุดเสนอความเห็น ถึงประธานศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดโดยเร่งด่วนที่สุดนั้น ก็เห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ฯ ก็ได้ หรือเป็นมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดได้

 

ดังนั้นการจะให้มีการวินิจฉัยคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ฯหากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่กำหนดไว้ให้วินิจฉัยได้เป็นการเฉพาะ ย่อมเป็นอำนาจและดุลพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุดที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยนั้นโดยที่ประชุมใหญ่หรือไม่ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของศาลหรือสิทธิของคู่กรณีที่จะเสนอความเห็นถึงประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ดำเนินการดังกล่าวได้

 

ที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาแล้วเนื่องจากมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง กรณีจึงถือเป็นที่สุดเกี่ยวกับการวินิจฉัยอำนาจฟ้องกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ในส่วนของศาลปกครอง

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ