ข่าว

แนะลดการเผาไหม้แก้ฝุ่นควัน เชื่อรถไฟฟ้า-บุหรี่ไฟฟ้าช่วยได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นักวิชาการ" แนะใช้นวัตกรรม-เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ "รถยนต์ไฟฟ้า – บุหรี่ไฟฟ้า" ลดการเผาไหม้แก้วิกฤตฝุ่นควัน วอนภาครัฐหนุนทุกผลิตภัณฑ์-บริการที่ไม่มีการเผาไหม้

 

        25 มิ.ย.62-“นักวิชาการ” แนะใช้นวัตกรรม-เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ “รถยนต์ไฟฟ้า – บุหรี่ไฟฟ้า” ลดการเผาไหม้แก้วิกฤตฝุ่นควัน วอนภาครัฐหนุนทุกผลิตภัณฑ์-บริการที่ไม่มีการเผาไหม้ “ผู้เชี่ยวชาญ ตปท.” ชี้ควันบุหรี่ตัวการร้ายฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ควรสนับสนุน “สิงห์อมควัน” ใช้ “บุหรี่ไฟฟ้า” แทนที่ ยกตัวเลขนานาชาติชี้ช่วยลดปริมาณนักสูบ พร้อมตอบโจทย์นโยบายสุขภาพ ทำคุณภาพชีวิตดีขึ้น

             โรงแรมสุโกศล กทม. สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมวิชาการหัวข้อ การลดอันตรายจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อม (Environmental Pollution Harm Reduction) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสานวิทยาการด้านสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับสุขภาพ หรือเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม และขยายความร่วมมือระหว่างนักวิชาการในการสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง หาแนวทางในการลดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากภัยจากการเผาไหม้ให้กับประชาชน

แนะลดการเผาไหม้แก้ฝุ่นควัน เชื่อรถไฟฟ้า-บุหรี่ไฟฟ้าช่วยได้

           โดย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้กล่าวในระหว่างการสัมมนาหัวข้อ “ฝุ่น PM2.5 กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดมะเร็งตลอดช่วงชีวิต” ถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาไหม้ว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองในภาคเหนือของประเทศไทยที่เกิดจากการเผาป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ไฟป่าก่อให้เกิดควันและฝุ่นละอองที่ประกอบไปด้วยสารอันตราย ไม่ว่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สารก่อการกลายพันธุ์ และโลหะหนัก จากการศึกษาล่าสุดที่ทำขึ้นใน 9 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทยเพื่อวัดระดับค่า PM2.5 ก่อนและหลังการเกิดไฟป่าพบว่า มีค่าความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของ 9 จังหวัดในประเทศไทยนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของหลายๆ เมืองในโลก ในพื้นที่เมืองอย่าง กทม. แม้จะไม่มีการเผาในที่โล่งแจ้ง แต่ก็ยังมีฝุ่นควันจากการเผาไหม้ที่พบในชีวิตประจำวันในรูปแบบอื่น เช่นการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ไอเสียจากยานพาหนะ การจุดธูป การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นมลภาวะทางอากาศใกล้ตัว ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดโรคระบบการหายใจ และสารก่อโรคมะเร็งในร่างกายทั้งสิ้น

 

       
          ศ.ดร.ศิวัช  กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันก็คือต้องช่วยกันลดการเผาป่า ป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่า ลดการใช้รถยนต์ แต่บางครั้งกิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นมลพิษที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ หรือที่เรียกว่าการลดอันตราย หรือ Harm Reduction โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยลดเรื่องการเผาไหม้ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) รวมทั้งรถเมล์ไฟฟ้า ตลอดจนบุหรี่ไฟฟ้า ที่ไม่ก่อให้เกิดการไหม้ ก็จะช่วยลดสารพิษที่จะปล่อยออกมาสู่บรรยากาศได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยภาคประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือ ภาคเอกชนก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มีการเผาไหม้ ในขณะที่ภาครัฐก็ควรต้องมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่มีการเผาไหม้ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาฝุ่นละอองได้อย่างแท้จริง
          “ในฐานะนักวิชาการ เราอยากเห็นมาตรการลดพิษภัยจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อมที่แก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติได้จริงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคมปัจจุบัน” ศ.ดร.ศิวัช ระบุ

               แนะลดการเผาไหม้แก้ฝุ่นควัน เชื่อรถไฟฟ้า-บุหรี่ไฟฟ้าช่วยได้
           ด้าน ดร.อเล็กซ์ วอแดค (Alex Wodak) ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมมูลนิธิปฏิรูปกฎหมายด้านยาเสพติด และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดอันตราย (Harm reduction) โดยเฉพาะการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดและบุหรี่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลักการลดอันตรายเป็นที่ยอมรับในวงการสาธารณสุขมานานแล้ว และสามารถนำมาใช้กับการลดอันตรายจากควันบุหรี่ได้ เพราะบุหรี่เองก็มีการเผาไหม้ ซึ่งก่อให้เกิดควัน ที่นอกจากจะมีนิโคตินระเหยออกมาแล้ว ยังมีสารอันตรายที่ก่อมะเร็งด้วย ดังนั้น หากเราต้องการลดอันตรายต่อสุขภาพให้กับผู้สูบบุหรี่ ก็สามารถทำได้โดยการให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินทดแทนแต่ไม่มีการเผาไหม้ จึงมีความเสี่ยงต่ำกว่า ซึ่งมีหลากหลายประเภทและกำลังได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology) ที่กำลังมาทำลายบุหรี่ธรรมดา โดยมีผลการศึกษาที่คาดว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับบุหรี่ แนวทางนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศต่างๆเหล่านี้ก็มีตัวเลขของผู้สูบบุหรี่ลดลงมากกว่าประเทศที่ไม่มีการอนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างเห็นได้ชัด

แนะลดการเผาไหม้แก้ฝุ่นควัน เชื่อรถไฟฟ้า-บุหรี่ไฟฟ้าช่วยได้
          “สวีเดนเป็นตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการลดอันตรายจากยาสูบ โดยมีทางเลือกให้ผู้สูบบุหรี่สามารถใช้ สนุซ (ยาสูบแบบอม โดยไม่ต้องมีการเผาไหม้) แทนการสูบบุหรี่ได้ ซึ่งทำให้อัตราผู้สูบบุหรี่และอัตราผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในประเทศสวีเดนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปที่แบนสนุซ” ดร.วอแดค กล่าว
ส่วนข้อกังวลที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกต่อต้านในประเทศไทยนั้น ดร.วอแดค กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้ออ้างที่ถูกใช้ในทุกๆประเทศ แต่จากการเก็บข้อมูลในหลายประเทศที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้คนที่ไม่เคยสูบบุหรี่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากอย่างมีนัยสำคัญ แต่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลดหรือเลิกบุหรี่มวน โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า พบว่าตัวเลขผู้สูบบุหรี่กลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีข้อมูลบ่งชี้ด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้มากกว่าผลิตภัณฑ์อื่นถึง 3 เท่า อีกทั้งหากพูดในแง่นโยบายด้านสุขภาพของรัฐ ที่ข้อหนึ่งต้องเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นนั้น บุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคน้อยกว่ายาสูบทุกประเภท ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลของไทยหันมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ