ข่าว

"แก้วสรร-17 กปปส."ร้องส่งศาลรธน.ชี้สิทธิพิทักษ์รธน.สู้คดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"17 กปปส." ยกเหตุ 9 ข้อ ให้ศาลรธน.วินิจฉัยสิทธิพิทักษ์ รธน.ชุมนุมสันติวิธีได้ เกิดขึ้นตอนไหน "แก้วสรร" ระบุ หากชี้ชัดเป็นประโยชน์ทุกคดีการเมืองส่วนรวม

            

            18 มิ.ย.62 - "17 กปปส." ยกเหตุ 9 ข้อ ให้ศาลรธน.วินิจฉัยสิทธิพิทักษ์ รธน.ชุมนุมสันติวิธีได้ เกิดขึ้นตอนไหน "แก้วสรร" ระบุ หากชี้ชัดเป็นประโยชน์ทุกคดีการเมืองส่วนรวม ย้ำเหตุชุมนุม กปปส.ต่อต้านระบอบทักษิณ ทำการเมืองนายทุนผิดครรลอง รธน.จุดพลิกออก ก.ม.นิรโทษทักษิณคดีคอรัปชั่น

            ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีชุมนุม กปปส. 5 สำนวน คดีหมายเลขดำ อ.247/2561 , อ.832/2561, อ.1185/2561, อ.491/2562 , อ.791/2562 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "นายสุเทพ" เทือกสุบรรณ อายุ 70 ปี อดีตเลขาธิการ กปปส. , อดีตแกนนำ กปปส. และแนวร่วม รวมทั้งสิ้น 32 คน

           ในความผิด 8 ข้อหาฐานร่วมกันกบฏ , สนับสนุนกบฏ , ขัดขวางการเลือกตั้งฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 , 116 , 117 , 209 , 210 , 215 , 216 , 362 , 364 , 365 , พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 ม.76 , 152 ขณะที่นายสุเทพกับนายชุมพล จุลใส ถูกฟ้องเพิ่มอีกข้อหาฐานก่อการร้าย ตามมาตรา 135/1 ด้วย 

    กรณีสืบเนื่องจากการร่วมชุมนุมกันของ กปปส.ที่มีนายสุเทพ เป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 56 – 1 พ.ค.57 ซึ่งมีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายคำฟ้องอัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยด้วยมีกำหนด 5 ปี

          ซึ่งคดีได้เริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 14 พ.ค.62 ที่ผ่านมา และพยานต่อเนื่องทุกสัปดาห์

"แก้วสรร-17 กปปส."ร้องส่งศาลรธน.ชี้สิทธิพิทักษ์รธน.สู้คดี
     

          โดยช่วงสืบพยานโจทก์ช่วงเช้า "นายแก้วสรร อติโพธิ์" จำเลยที่ 21 ได้ยื่นคำร้องในนามจำเลย 17 คน ประกอบด้วย นายแก้วสรร , พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ , นายแซมดิน เลิศบุศย์ , นายถนอม อ่อนเกตุพล , นายถวิล เปลี่ยนศรี , พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ , นายมั่นแม่น กะการดี , นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ , นายวิทยา แก้วภราดัย , พล.อ.อ.วัชระ ฤทธาคนี , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข , นายสุริยะใส กตะศิลา , นายสาธิต เซกัลป์ , นายคมสัน ทองศิริ , พ.ต.ท.สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ , พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ ฉายาพนะพุทธอิสระ ขอให้ศาลอาญาพิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 212 (ที่บัญญัติว่า หากมีคดีในศาลและมีความเห็นว่าบทบัญญัติที่นำมาใช้บังคับกับจำเลยนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว สามารถเข้าถึงอำนาจวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยศาลในคดีนั้นเห็นเอง หรือโดยคู่ความขอให้ศาลมีหนังสือยื่นคำร้องส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ เมื่อศาลวินิจฉัยเช่นใดก็จะมีผลผูกพันในทุกคดีความ) เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยใน 2 ประเด็น 1.ให้พิจารณาว่า "สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ 2550 มาตรา 69 รับรองไว้ว่า " บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" ได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่ปวงชนชาวไทยในปี 2556 และ 2557 ที่จะต่อต้านโดยสงบซึ่งกระบวนการทางการเมืองอันเป็นภัยต่อรัฐธรรมนูญที่นำโดยพรรคเพื่อไทย

          2.ขอให้สั่งว่า การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่ไม่ยอมรับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของผู้ใช้สิทธิ์ตามข้อ 1 ในคดีต่อต้านระบอบทักษิณทั้งปวงจะกระทำไม่ได้ พนักงานอัยการต้องถอนฟ้องคดีใหม่ทั้งหมด

          โดยจำเลยทั้ง 17 คนอ้างเหตุผล 9 ข้อ พร้อมเนื้อหาจำนวน 46 หน้า ให้ศาลอาญาพิจารณาเพื่อมีคำสั่ง ส่งเนื้อหาตามคำร้องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป ซึ่งเหตุผล 9 ข้อนั้น
          สรุปว่า คดีนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ โดยจะสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นในเดือน ก.ย.62 และจะสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นในเดือน ธ.ค.62 แต่จำเลยทั้ง 17 คนในฐานะผู้ร้องนี้ เห็นว่าคดีนี้จำเลยมีข้อต่อสู้สำคัญว่า การกระทำของตนตามฟ้องนั้น เป็นการต่อต้านขบวนการเผด็จการที่แสวงหาอำนาจโดยวิธีการที่ผิดครรลองเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิกระทำได้โดยชอบเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ 2550 มาตรา 69 ได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้ โดยพฤติการณ์ที่อัยการฟ้องคดีทั้งหมดนี้ถูกเรียกรวมว่า คดี กปปส.ซึ่งที่เรียกเช่นนี้ไม่ใช่เพราะถูกบงการสั่งการโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้นำกปปส. และพวกแต่อย่างใด แต่เป็นการประท้วงต่อต้านที่เกิดขึ้นโดยอิสระด้วยใจตรงกันเพื่อต่อต้านเผด็จการขบวนการหนึ่งร่วมกันเท่านั้น ซึ่งหากศาลวินิจฉัยสภาพการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นว่าได้เกิดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแก่ปวงชนจริงแล้ว กรณีก็ย่อมจะมีผลทางกฎหมายรับฟังเป็นข้อต่อสู้ได้ในทุกกรณีทุกคดี 

          ขณะที่คำร้องจะอ้างถึงกำเนิดระบอบเผด็จการพรรคการเมืองนายทุนในไทยด้วยว่า เกิดขึ้นระหว่างปี 2543-2556 เมื่อนายทักษิณ ชินวัตรและพวก ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองด้วยความคิด ความเคลื่อนไหว และระบบที่ผิดเพี้ยนจากครรลองรัฐธรรมนูญ ระบบการปกครองที่เกิดขึ้นก็กลับกลายเป็นเผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตย จนเรียกขานว่าเป็นระบอบเผด็จการพรรคการเมืองนายทุน ซึ่งได้เกิดการแสวงน้ำหน้าโดยผิดวิถีทางตามรัฐธรรมนูญอย่างเป็นขบวนการ และเติบโตจนเป็นภัยชัดเจนต่อรัฐธรรมนูญในปลายปี 2556 และในช่วงปลายสมัยของยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ระบอบนี้ ได้พยายามใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างบิดผันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกพยายามจะสร้างกระบวนการร่างใหม่ทั้งฉบับ เมื่อไม่สำเร็จก็หันมาแก้ไขเป็นรายมาตราโดยมีสาระล้มหลักการพื้นฐานในมนุษย์หลายประการ เช่น เพิ่มอิสระรัฐบาลในการทำข้อตกลงสำคัญกับต่างประเทศ หรือให้วุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเลือกตั้งได้ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้แทนก็สามารถลาออกจากพรรคการเมืองมาสมัคร ส.ว.เลยก็ได้ ทั้งหมดแสดงถึงการแสวงนำโดยผิดครรลองจนศาลรัฐธรรมนูญต้องยับยั้งให้ยุติ และเมื่อไม่อาจใช้อำนาจปรับแก้รัฐธรรมนูญตามอำเภอใจได้ก็ตัดสินใจ ฝืนตรากฎหมายนิรโทษที่เป็นการนิรโทษกรรมคดีคอรัปชั่นให้แก่นายทักษิณ และคดีอาชญากรรมของแกนนำมวลชนไว้ด้วย ซึ่งแม้ฝ่ายค้านจะพยายามอภิปรายปรับแก้โต้แย้งว่าเป็นการล้มล้างกระบวนการยุติธรรมของชาติอย่างแรง ก็ถูกปิด ด้วยเสียงข้างมากตลอดเวลา จนทำให้ประชาชนไม่พอใจเกิดกระแสต่อต้านครั้งใหญ่ โดยการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคือจุดกำเริบสูงสุดของขบวนการนี้ที่ทำร้ายหลักรัฐธรรมนูญจนย่อยยับ ปรากฏเห็นเป็นภัยใกล้ชิดชัดเจน ขณะที่สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ 2550 นั้นได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.56 และยังคงกล่าวอ้างถึงได้ในคดีปัจจุบัน 

          โดยคดีของจำเลย หรือคดีคัดค้านการเลือกตั้งของประชาชนอื่นๆ อีกหลายคดีนั้นเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 69 รับรองไว้ ซึ่งคำวินิจฉัยเรื่องกำเนิดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้ในระบอบกฎหมายจะต้องมีอยู่หนึ่งเดียว ยกขึ้นอ้างได้ในคดีอาญา และไม่อาจจะปล่อยให้ศาลยุติธรรมแต่ละคดีวินิจฉัยแตกต่างกันไปตามพยานหลักฐานในสำนวนที่ต่างกันและตามความเห็นที่ต่างกันได้ ดังนั้นทางที่จะทำให้เกิดเป็นเอกภาพได้ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะเป็นผู้ชี้ขาดให้ยุติเป็นหนึ่งเดียว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสิทธินี้ได้บังเกิดขึ้นแล้วในขณะใด คำวินิจฉัยนี้ก็จะส่งผลบังคับผูกพันไปยังศาลที่เกี่ยวข้องจนเกิดเป็นการให้จำเลยทุกคดีสามารถอ้างสิทธิได้ในคดีของตนต่อไป หรือหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสิทธินี้ไม่ได้บังเกิดขึ้น คดีในศาลยุติธรรมทุกคดีก็จะไม่มีปัญหานี้ให้ต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเช่นกัน จึงขอให้ศาลอาญาได้พิจารณาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

          โดย ศาลอาญา รับคำร้องไว้พิจารณาว่า มีเหตุที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ต่อไป

          ขณะที่ภายหลังเสร็จสิ้น การสืบพยานโจทก์ช่วงเช้า "นายแก้วสรร" นักวิชาการ จำเลยที่ 21 กล่าวถึงการยื่นคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญฯ ว่า จำเลย 17 คนจาก 32 คนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการต่อต้านระบอบทักษิณโดยสันติวิธีของปวงชนในปี 2556-2557 สามารถกระทำได้ ไม่มีความผิดเพราะเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ได้รับรองไว้ ก็ต้องรอดูว่าศาลอาญาจะมีคำสั่งอย่างไร

          ส่วนกระบวนการสืบพยานคดีนี้ ศาลอาญาก็ยังเดินหน้าควบคู่กันไปกับการพิจารณาคำร้องของจำเลยทั้ง 17 คน ส่วนจำเลยอื่นๆ ที่ไม่เข้าร่วมยื่นคำร้องนั้นเพราะอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ โดยนายสุเทพ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมลงชื่อยื่นคำร้องนี้ด้วย แต่ได้ข่าวว่านายสุเทพ อาจจะยื่นคำร้องแนวทางอื่น ก็ไม่เป็นไร 
  
          "ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ เรายิงโจรใต้ เราก็บอกว่าไม่มีเจตนาฆ่า แต่ที่สำคัญเราต้องอ้างสิทธิ์ป้องกัน ซึ่งคดี กปปส.นี้ เราก็ต้องการใช้สิทธิ์ป้องกันประชาธิปไตย ถามว่ามีกฎหมายอะไรคุ้มครองไหม ตนตอบได้เลยว่ามี คือรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 มาตรา 69 ซึ่งเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นผู้วินิจฉัย เพราะถ้าหลุดก็หลุดหมดทุกคดี ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้" 

          "นายแก้วสรร" กล่าวอีกว่า หากสุดท้ายมีการส่งไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญแล้วรับวินิจฉัย ตนก็มีพยานหลักฐานพร้อมเสนอ โดยหวังว่าเราจะได้เอาสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นสิทธิเข้าไปถึงศาล ตอนนี้เราคิดว่าเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญแต่ตอนนี้ก็ต้องรอให้ศาลอาญามีคำสั่งก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยคาดว่าศาลอาญายังต้องใช้เวลาพิจารณาพอสมควรเพราะเราเพิ่งยื่นคำร้องไปวันนี้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ