ข่าว

ชงบอร์ด สปสช.จัดทำระบบสำรองยาต้านพิษอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ชงบอร์ด สปสช.ร่วมมือ WHO-SEARO ผลักดัน "โครงการ iCAPS" จัดทำระบบสำรองยาต้านพิษระดับภูมิภาค


หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ชงบอร์ด สปสช.ร่วมมือ WHO-SEARO ผลักดัน "โครงการ iCAPS" จัดทำระบบสำรองยาต้านพิษระดับภูมิภาค เชื่อมต่อกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และอาเซียน เตรียมความพร้อมรับมืออุบัติภัยสารเคมี พร้อมเสนอ สปสช. อภ. เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลและบริหารจัดการยาต้านพิษ

 

          ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 62 โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอข้อมูล "โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ (Antidote) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้" และประชาคมอาเซียน (ASEAN) เพื่อให้ สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดัน

 

          ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ความสำเร็จโครงการเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษของประเทศไทยที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553-2554 โดยความร่วมมือ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยา เพราะเป็นยาที่มีอัตราการใช้น้อยมาก ไม่ทำกำไร บริษัทยาจึงไม่ผลิตและนำเข้าจนเกิดความขาดแคลนยา โดยปีแรก สปสช.สนับสนุนงบประมาณ 5 ล้านบาท ก่อให้เกิดการสนับสนุนการผลิตและจัดหายากำพร้าและยาต้านพิษ พัฒนารูปแบบการจัดส่งและกระจายยา ช่วยลดจำนวนยาหมดอายุและงบประมาณสำรองยาของโรงพยาบาล รวมถึงฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลในการวินิจฉัยการใช้ยาต้านพิษและดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษทั้งระบบ โดยปี 2556 ได้ขยายถึงกลุ่มเซรุ่มต้านพิษงู ทำให้ปัจจุบันระบบได้ครอบคลุมยากำพร้าและต้านพิษรวม 16 รายการ จากเดิมที่เริ่มต้น 6 รายการ 

 

          ศ.นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่ละปีมีผู้ป่วยได้รับประโยชน์ 200–300 คน กรณีผู้ป่วยสารพิษไซยาไนด์เป็นตัวอย่างชัดเจน นอกจากได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงรักษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังลดอัตราเสียชีวิตจากร้อยละ 52 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 28.3 ส่วนงบประมาณบริหารจัดการยากำพร้าและยาต้านพิษทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านบาท/ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีตัวเลขชัดเจนถึงค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่เฉพาะในส่วนเซรุ่มแก้พิษงู เดิมทีต้องใช้งบประมาณถึง 70 ล้านบาท/ปี แต่ด้วยระบบกระจายยา นอกจากทำให้การจัดซื้อเซรุ่มแก้พิษงูลดลงถึงร้อยละ 60 แล้ว และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้สภากาชาดไทยมีเซรุ่มเหลือพอเพื่อขายให้กับต่างประเทศได้ ขณะเดียวกันด้วยระบบนี้ทำให้ประเทศไทยยังสามารถช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่มีผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ด้วย

 

          หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าวว่า ด้วยประสิทธิผลของการบริหารจัดการยากำพร้าและยาต้านพิษที่ประเทศไทยดำเนินอยู่นี้ ปีที่ผ่านมานายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของระบบที่ศูนย์พิษวิทยาฯ พร้อมชื่นชมการบริหารจัดการที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาได้

 

          ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ปัจจุบันแต่ละประเทศมีการเชื่อมต่อถึงกันในทุกด้าน ขณะที่อุบัติภัยจากสารเคมีที่รุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นไปตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพในกลุ่มเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ในการจัดทำระบบคลังยา กระจายและจัดส่ง จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นระบบเชื่อมต่อระหว่างประเทศในการช่วยเหลือและประหยัดงบประมาณที่สุด โดยองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก (World Health Organization, South-East Asia Region Office : WHO-SEARO) ได้เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เพื่อให้ประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้จัดทำระบบ รวมถึงการจัดซื้อยาร่วมกันภายใต้ โครงการ iCAPS (Initiation for Coordinated Antidotes Procurement in the South-East Asia region) หรือโครงการการริเริ่มการจัดหายาต้านพิษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมและศึกษารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาต้านพิษแล้วที่ประเทศไทย

 

          "ในการนำเสนอข้อมูลต่อบอร์ด สปสช.ครั้งนี้ เนื่องในวาระที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ขอให้ช่วยผลักดันขยายโครงการนี้ให้รวมถึงประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วย เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ในการรับภัยพิบัติจากสารเคมีที่อาจเกิดขึ้น พร้อมขอความร่วมมือจาก สปสช. องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานร่วมกับศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี โดยให้ สปสช.และ อภ. เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลความต้องการยาจากประเทศต่างๆ เพื่อวางแผนบริหารจัดการกระจายยา รวมถึงขอให้สนับสนุนงบประมาณจัดทำเว็บไซด์ iCAPS เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารในการดำเนินโครงการต่อไป" หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าว

 

          สำหรับโครงการ iCAPS ระยะแรกเริ่มต้นที่กลุ่มยาต้านพิษ 8 รายการ เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่หายากและขาดแคลน ได้แก่ 1.Activated charcoal หรือถ่านกัมมันต์ เป็นยาใช้รักษาผู้ที่ได้รับพิษหรือยาบางชนิดเกินขนาด

2.Dimercaprol (ไดเมอร์แคปรอล) รักษาภาวะเป็นพิษจากโลหะหนัก 3.CaNa2 EDTA หรือเกลือแคลเซียม รักษาโรคพิษตะกั่ว 4.D penicillamine (ดีเพนิซิลลามีน) ใช้บําบัดอาการพิษจากสารทองแดง ตะกั่ว ปรอท และสารหนู และ 5.Succimer (ซัคซิเมอร์) รักษาภาวะเป็นพิษจากตะกั่ว, mercury และ arsenic
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ