ข่าว

อย่าใช้เกณฑ์ต่างชาติกีดกันผลงานนักประดิษฐ์ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'นายกสมาคมนักประดิษฐ์ฯ' แนะอย่าใช้เกณฑ์ของต่างชาติกีดกันผลงานนักประดิษฐ์ไทย - ชี้หน่วยงานของรัฐ ต้องสร้างความเชื่อมั่นนำนวัตกรรมไปสู่ระดับโลก

 

‘นายกสมาคมนักประดิษฐ์ฯ’ แนะอย่าใช้เกณฑ์ของต่างชาติ มากีดกันผลงานนักประดิษฐ์ไทย - ชี้หน่วยงานของรัฐ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทย ในการนำนวัตกรรมไปสู่ระดับโลก และพัฒนาธุรกิจภายในประเทศ เพื่อก้าวให้พ้น 'กับดักรายได้ปานกลาง'

 

          นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทยและ นักประดิษฐ์ 5 เหรียญทองอัจฉริยะโลก  กล่าวถึงปัญหาการใช้มาตรฐานของต่างประเทศ มากีดกันผลงานของนักประดิษฐ์ไทยว่า อย่าเอามาตรฐานต่างชาติ มาบีบกดสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของชาติไทย เพราะ เราสร้างนวัตกรรมใหม่ สร้างขึ้นเพื่อเกิดมาตรฐานใหม่ๆ เพราะเหล่านักประดิษฐ์ และนักพัฒนานวัตกรรม พวกเขาคิดค้นมาจากความพยายามและการต่อยอดมาจากสิ่งประดิษฐ์เดิม ที่ผ่านการทดสอบทดลองมาหลายครั้ง จนสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ประสบความสำเร็จและใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น สร้างงาน สร้างธุรกิจ สร้างความมั่นคงให้กับประชาชน และแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในด้านศิลปะ และนโยบายของรัฐ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ด้วย  

 

          “การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเพิ่มมูลค่าเป้าหมายของนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงในเชิงลบ สินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ นั้น พวกเราพัฒนามาจาก สินค้าเก่า เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เปลี่ยนแปลงทั้งความเป็นอยู่ การสร้างอาคารบ้านเรือน จากป่าสู่เมือง และเป็นมหานคร จากกาต้มน้ำร้อนใช้เตาถ่านกลายมาเป็นกาต้มนำร้อนอัตโนมัติ แน่นอนที่สุด การสร้างนวัตกรรมสินค้า กาต้มน้ำร้อนอัตโนมัติ จะต้องสร้างมาตรฐานทดสอบสินค้าใหม่ เพื่อให้มีมาตรฐาน มาทดสอบ ให้สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้มีการรับรองว่า สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่เหล่านั้นใช้งานได้จริงและแก้ปัญหางานได้จริง” นายภณวัชร์นันท์ กล่าว    

 

          นายภณวัชร์นันท์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ต้องมีหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมไทยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะต้องมอบหมายให้ ห้องทดสอบโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ กรมวิทยาศาสตร์ บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำการรายงานและสร้างคู่มือทดสอบให้ ความสามารถของ และออกรายงาน และขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อส่งมอบให้ สำนักงบประมาณและให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างและประยุกต์ใช้ในกิจการของรัฐ อย่าอ้างว่าไม่มีมาตรฐาน เพราะคู่มือทดสอบของนวัตกรรมใหม่เหล่านั้นมันคือมาตรฐานใหม่ในอนาคตต่อไป ไม่ใช่นำมาตรฐานเก่าๆ อาทิ เช่น UL NFPA เพราะสิ่งนั้นมันเป็นนวัตกรรมของคนต่างชาติ ไม่ใช่ของชาติไทย หากหน่วยงานของรัฐ ไม่เชื่อมั่นหน่วยงานของรัฐ แล้วจะให้คนไทยเชื่อมั่นอะไรได้อีก

 

          “การหน่วยงานของรัฐนำมาอ้าง ทั้งที่มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560 เวียนไปหน่วยงานราชการทุกกระทรวง ที่ นร.0505/ว 494 และกฎหมายก็ระบุชัดเจนว่า ให้ประยุกต์ใช้นวัตกรรม ให้เกิดประโยชน์ในภารกิจในหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์ เป็นไปตาม รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 69 ที่บัญญัติว่า รัฐพึงจัดให้มีและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ ให้เกิดความรู้ การพัฒนา และนวัตกรรม เพื่อความเข้มแข็งของสังคม และเสริมสร้างความสามารถของคนในชาติ ดังนั้น คณะกรรมการพิจารณาสินค้าที่ผลิตในประเทศ สมอ.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ก็เช่นกัน ควรให้การสนับสนุน นำผลการทดสอบ นวัตกรรมใหม่ที่ออกโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ กรมวิทยาศาสตร์ บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

          เมื่อมีรายงานผลการทดสอบของหน่วยงานรัฐและกระบวนการผลิตมีการควบคุมคุณภาพโดย ระบบ มาตรฐานคุณภาพระหว่างประเทศ ISO 9001 แล้ว ก็ควรรับจดทะเบียนตามคู่มือทดสอบที่ออกโดยหน่วยงานด้วยกันเอง เพื่อให้ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่คิดโดยคนไทย สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีคู่มือทดสอบอ้างอิงเป็นรายงานทดสอบในการขออนุมัตินำเข้าประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของ WTO เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 โดยเป็นสมาชิกลำดับที่ 59 ทำให้ประเทศไทยมีทั้งสิทธิ (Rights) และพันธกรณี (Obligations) ที่จะต้องปฏิบัติตามความตกลงต่างๆ ซึ่งรวมถึงตามความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barriers to Trade: TBT) ซึ่งเป็นความตกลงที่จะมิให้ประเทศสมาชิกใช้กฎระเบียบทางวิชาการ (technical regulations) มาตรฐาน (standards) หรือกระบวนการตรวจสอบรับรอง (conformity assessment procedures) มาเป็นอุปสรรคต่อการค้าและอุตสาหกรรม หน่วยงานของรัฐ ควรจะทราบดีกว่า การสร้างนวัตกรรมใหม่ คือ การแก้ปัญหาสินค้าเก่าๆ ที่ใช้งานแล้วมีปัญหา และใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่นวัตกรรมใหม่ ประหยัดงบประมาณและไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงสิ้นเปลืองงบประมาณ และไม่ส่งเสริมความสามารถของคนในชาติ ขัดต่อพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ” นายภณวัชร์นันท์ กล่าว

 

          นายภณวัชร์นันท์ กล่าวด้วยว่า ในเมื่อประเทศไทยต้องการนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ชาติ ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ด้วยใช้ความคิดและจิตนาการของคนในชาติไทย ที่มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม มาสร้างผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ เพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เป็นการสร้างรายได้ของประเทศ ให้ขับเคลื่อนธุรกิจภายในประเทศ และส่งเสริมสินค้านวัตกรรมใหม่ในการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพื่อต้องการให้ประเทศไทยก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ด้วยการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมีรายได้เพิ่มขึ้น ตนขอร้องว่า อย่าได้นำมาตรฐานต่างชาติมากดความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย เพราะคนในชาติไทยเก่งไม่เคยแพ้ใครในโลก. 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ