ข่าว

สกว.เตรียมรับมือสังคมสูงวัย 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สกว. เดินหน้าวิจัยนวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำผู้สูงอายุไทย เตรียมรับมือสังคมสูงวัย 

 

               25 ก.พ.62-นางปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว  และมีอัตราสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่หลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยในขั้นวิกฤต ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยยังก้าวไม่ถึงจุดนั้น แต่จากข้อมูลตัวเลขคาดว่าจะเข้าสู่ระดับดังกล่าวในอีกไม่ช้านี้ จึงเป็นเรื่องที่ สกว. ได้ให้ความสำคัญ เพราะการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยจะต้องมีนโยบาย และนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน ตลอดการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับสังคม  เนื่องจากสังคมไทยยังไม่เข้าใจคำว่า “สังคมสูงวัย”  เพราะทันทีที่พูดถึงสังคมสูงวัย จะนึกถึงแต่ “กลุ่มผู้สูงอายุ” ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ สังคมในทุกบริบท  ซึ่งครอบคลุมถึงบทบาทครอบครัว  ตั้งแต่วัยเด็ก วัยแรงงาน และผู้สูงอายุที่มีความหลากหลาย โดย สกว. ได้วางแนวทางไว้ทุกแพลตฟอร์ม  เพื่อรับมือสังคมสูงวัยในทุกมิติ  ทั้งมิติเชิงรับและรุก  มีการปรับเปลี่ยนแผนและโครงสร้างประชากรของประเทศเรื่อยๆ

            สกว.เตรียมรับมือสังคมสูงวัย 

            นางปัทมาวดี กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ)  และกองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร (UNFPA) ในประเทศไทย  ได้ถอดบทเรียนจากต่างประเทศออกมา พบว่า  การพึ่งพาภาครัฐเพียงอย่างเดียวเอาไม่อยู่  ต้องมีการปรับโครงสร้างประชากร การส่งเสริมศักยภาพของประชากรตั้งแต่วัยเด็ก  วัยทำงาน  เพื่อให้มีศักยภาพดูแลกลุ่มผู้สูงวัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว เพื่อลดภาระ ลดความพึ่งพาจากภาครัฐ  ที่สำคัญเราพบว่าสิ่งที่น่ากลัวสำหรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ การซ้ำเติมด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะทราบดีว่า ผู้สูงวัยคือกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องกายภาพ ซึ่งหากมีความยากจนมาซ้ำอีก ก็จะเป็นปัญหาตามมา  ซึ่งการปรับโครงสร้างสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกลายเป็นโจทย์ที่ยากกว่าการดูแลผู้สูงวัย เพราะหากประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมาก เท่ากับว่าภาครัฐจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้สูงวัยในกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ  ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว

สกว.เตรียมรับมือสังคมสูงวัย 

          นางระพีพรรณ คำหอม หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนโดย สกว. กล่าวว่า จากการศึกษาโครงการระยะที่ 2 เรื่องการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พบว่า ความเหลื่อมล้ำในผู้สูงอายุเป็นเรื่องใหม่ ที่ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง จึงพัฒนาโครงการระยะที่ 3 เรื่องการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุประเทศไทย เพื่อจัดทำคู่มือ แบบประเมินลดความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุ ไปใช้เก็บข้อมูลซึ่งจะทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติชาติ 20 ปีในเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และนวัตกรรมมีความจำเป็นที่จะนำมาใช้ประโยชน์

           ศาสตราจารย์ระพีพรรณ กล่าวว่า นวัตกรรมจะสามารถช่วยลดความเสี่ยง ของการเสียชีวิตด้วยเหตุที่ไม่ควรได้ แต่ผู้สูงอายุจะเข้าถึงนวัตกรรมอย่างไรขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่และนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุอาจไม่ใช่นวัตกรรมไฮเทคเพราะแพงและผู้สูงอายุเข้าไม่ถึง แต่เป็นนวัตกรรมเชิงพื้นที่ นวัตกรรมในครัวเรือน เช่นระบบส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ตรวจเช็คสุขภาพของตัวเองได้ ดังนั้นอยากให้ผู้สูงอายุ คิดสร้างนวัตกรรมนั้น และเป็นสิ่งที่นำไปใช้ได้จริง

             “โครงการระยะที่ 2 ในพื้นที่สมุทรปราการ พบว่า มีการใช้สติ๊กเกอร์แทนเงินสด และให้มีส่วนลดราคาสำหรับร้านค้าในชุมชน ซึ่งถ้าให้ผู้สูงอายุพยายามหานวัตกรรมด้วยตัวเองจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขาได้ ขณะที่การต่อยอดโครงการในระยะที่ 3 จะมีการจัดทำหลักสูตรนวัตกรรมผู้สูงอายุ คัดผู้สูงอายุที่แอคทีฟมาอบรมและให้ลองไปสร้างนวัตกรรมให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน”ศาสตราจารย์ระพีพรรณ กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ