ข่าว

"ทีดีอาร์ไอ"ค้าน พ.ร.บ.ข้าว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กฤษฏา-ทีดีอาร์ไอ-สมาคมชาวนา"ค้าน พ.ร.บ.ข้าว แนะส.น.ช.ยืดเวลาพิจารณาร่าง เปิดช่องนายทุกผูกขาดเมล็ดพันธุ์หวั่นชาวนาเก็บเมล็ดพันธุ์หรือข้าวปลูกไว้ใช้เองไม่ได้

 

                 11 กุมภาพันธ์ 2562 รองศาสตราจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดสัมมนาเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. … : ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง”  

 

                 โดยเชิญ นายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวเข้าร่วมให้ความเห็น

 

                 ในการเสวนาระบุว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. นั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญเตรียมสรุปเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ในเร็ วๆ นี้ เห็นว่า ร่างแก้ไขดังกล่าวยังมีประเด็นน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและการค้าเมล็ดพันธุ์ ตามมาตรา 27 กฎหมายให้อำนาจเฉพาะการค้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้ชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์หรือข้าวปลูกใช้เองแบบในอดีตจะไม่สามารถทำได้ รวมถึงศูนย์ข้าวชุมชนซึ่งชาวนารวมกลุ่มกันพัฒนาสายพันธุ์และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์จะดำเนินการไม่ได้ต่อไปเนื่องจากมีบทบัญญัติอัตราโทษสูงถึงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 100,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

"ทีดีอาร์ไอ"ค้าน พ.ร.บ.ข้าว

 

                 รองศาสตราจารย์นิพนธ์ระบุว่า ตั้งแต่อดีตชาวนาเก็บพันธุ์ข้าวใช้เอง ซึ่งจะคัดเลือกที่มีคุณภาพซึ่งเป็นการพัฒนาสายพันธุ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนทำให้เกิดพันธุ์ดีๆ เช่น ข้าวเสาไห้ หข้าวสังข์หยด ต่างจากการพัฒนาโดยบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีเทคโนโลยีต่างๆ ดังนั้นหากกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนรับรอง จะส่งผลให้การพัฒนาสายพันธุ์โดยชาวนาไม่สามารถทำได้ต่อไป แล้วต้องซื้อจากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์เท่านั้น

 

                 ในวงเสวนายังห่วงใยมาตรา 34 ภายใต้บทเฉพาะกาลที่โอนอำนาจการรับรองพันธุ์ใหม่ให้กรมการข้าว เป็นประเด็นที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะกรมการข้าวเป็นผู้คุมเงินงบประมาณ เป็นผู้วิจัย และเป็นผู้รับรองตัวเอง รวมถึงการกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงสี ต้องออกใบรับรองข้าวเปลือก หากพบว่าออกใบรับรองเป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงสีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นของกรมการค้าภายใน และการให้อำนาจนี้เสี่ยงต่อประเด็นการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งอัตราโทษนั้นเสมือนเป็นการก่ออาชญากรรม 

 

"ทีดีอาร์ไอ"ค้าน พ.ร.บ.ข้าว

 

                 สำหรับองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการด้านการผลิตและคณะอนุกรรมการด้านการตลาดนั้นเห็นว่า มีแต่ข้าราชการโดยตำแหน่ง ขาดในส่วนของผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรงสี/ผู้ส่งออก อีกทั้งในกระบวนการทำงานยังขาดการบูรณาการด้านงบประมาณ และไม่ได้กำหนดรูปแบบการตรวจสอบติดตามการทำงานเลย

 

                 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ระบุว่า ข้าวเป็นพืชสำคัญของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง แต่ปัจจุบันการทำนากำลังประสบปัญหาทั้งระบบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน ปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ประสิทธิภาพ และคุณภาพผลผลิตมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ชาวนามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

 

"ทีดีอาร์ไอ"ค้าน พ.ร.บ.ข้าว

 

                 จึงสมควรปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้กระบวนการผลิตข้าวตลอดจนห่วงโซ่การผลิตมีความมั่นคง ยั่งยืนอย่างบูรณาการ และเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ ตลอดจนสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งตามยุทธศาสตร์ชาติ มีกลไกควบคุมการผลิต และการจำหน่ายข้าวอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรมระหว่างชาวนาและผู้รับซื้อ มีคณะกรรมการข้าวที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศเพื่อให้มีการนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีระบบที่ให้ความคุ้มครองชาวนาให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และรักษาความเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก

 

                 นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมถึง ข้อกำหนดในร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ให้ผู้จำหน่ายพันธุ์ข้าวได้ต้องจดทะเบียนนั้น เป็นการจำกัดสิทธิในการขยายพันธุ์ข้าวของชาวนา ซึ่งตามวิถีการทำนามาตั้งแต่ในอดีต ชาวนาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทั้งใช้เองและจำหน่าย นอกจากนี้จะเป็นข้อจำกัดการแข่งขันตลาดข้าวในต่างประเทศ เนื่องจากหากมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้หลากหลาย โอกาสที่จะได้ข้าวสายพันธุ์ดีเกิดขึ้นใหม่จะมีอย่างต่อเนื่อง จึงควรปล่อยเป็นธรรมชาติ แต่ถ้ามีการหลอกลวงขายเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือปลอมปนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปัจจุบันมีทั้งพ.ร.บ. พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ที่กำกับโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้ง พ.ร.บ. ค้าข้าว พ.ศ. 2489 ที่กำกับโดยกระทรวงพาณิชย์ควบคุมดูแลอยู่แล้ว

 

"ทีดีอาร์ไอ"ค้าน พ.ร.บ.ข้าว

 

                 สำหรับร่างพ.ร.บ. ข้าวฉบับนี้เสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลุ่มหนึ่งซึ่งมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์รักษาการและให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ นอกจากนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าว (คกข.) ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตข้าว มีหน้าที่จัดทำแผนนโยบายยุทธศาสตร์ข้าว ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ กำหนดมาตรการ และรูปแบบที่ส่วนราชการ ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาในรูปแบบเครือข่ายชาวนา ส่งเสริมให้ชาวนาจัดซื้ออุปกรณ์และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และราคาที่เป็นธรรม

 

                 นอกจากนี้กำหนดมาตรการที่ให้กรมการข้าวส่งเสริมให้ชาวนามีความรู้ เข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างเหมาะสม กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ จะทำให้แผนนโยบายบริหารจัดการผลิตข้าวของประเทศ มีความต่อเนื่อง และนำสู่การปฏิบัติจริง เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน
อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องจัดให้มีการทำเขตศักยภาพการผลิตข้าว (Zoning) ของประเทศโดยมีเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ โดยการวิเคราะห์พื้นที่แหล่งผลิตข้าวทั่วประเทศ

 

"ทีดีอาร์ไอ"ค้าน พ.ร.บ.ข้าว

 

                 ทั้งพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าวและพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสม ทั้งด้านกายภาพและด้านการตลาด เพื่อประโยชน์ในการกำหนดให้มีการผลิตข้าวตามพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวให้สามารถลดต้นทุน มีผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ โดยมีบทเฉพาะการให้ดำเนินแล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้การกำหนดเขตศักยภาพการผลิตข้าว (Zoning) มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

 

                 ทั้งนี้ที่ประชุมสนช.ลงมติวาระที่ 1 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. ... พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณารายมาตราเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะส่งเข้าการพิจารณาของ สนช. เพื่อพิจารณาวาระ 2 ในอีก 1- 2 สัปดาห์ ทางนักวิชาการ TDRI และผู้แทนสมาคมต่างๆ ขอให้สนช. ยืดเวลาออกไปก่อนเพื่อเปิดกระบวนการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย แก้ไขมาตราสำคัญที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อวางการข้าว ทั้งนี้หากพิจารณาไม่ทัน สมควรให้รัฐบาลใหม่มาดำเนินการ


 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ