ข่าว

4 นักวิจัยตบเท้าเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลแก่ผู้เสียสละด้านการแพทย์-สาธารณสุข

         เวลา 17.30 น. วันที่ 31 มกราคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในปีนี้มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัล จำนวน 4 ราย จากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 49 ราย จาก 25 ประเทศ 

4 นักวิจัยตบเท้าเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

         สำหรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ มี 2 ท่าน คือ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ ศาสตราจารย์อายุรศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งในท์ มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งโอเรกอนสหรัฐอเมริกา ผู้มีผลงานสำคัญในการศึกษาค้นคว้า และวิจัยจนเป็นผู้นำในการพัฒนาหนึ่งในยาต้นแบบของการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า คือ อิมาทินิบ สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล และ ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง ศาสตราจารย์เวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงมีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมปีละกว่าสองล้านคน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึงสองแสนคนในแต่ละปี
         ส่วนผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข มี 2 ท่าน คือ ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยโรคท้องร่วงนานาชาติ ประเทศบังคลาเทศ ศาสตราจารย์วุฒิคุณระบาดวิทยามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริก และ ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ศาสตราจารย์จุลชีววิทยาการแพทย์ และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน

         ทั้งนี้ ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า 30 ปี ในการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน ผลงานการศึกษาตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างภูมิต้านทานป้องกันอหิวาตกโรคไปสู่การผลิตวัคซีนชนิดกินที่ได้รับการทดสอบทางคลินิกจนเป็นที่ยอมรับโดยองค์การอนามัยโลกของ ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากวัคซีนชนิดฉีดเป็นการแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดกินแทนและสนับสนุนคลังวัคซีนสำหรับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปัญหา หรือมีความเสี่ยงต่อการระบาดของอหิวาตกโรค ทำให้ช่วยป้องกันโรคได้ในวงกว้าง ลดการเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคได้ในประชากรหลายล้านคนทั่วโลก

         โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัส ใจความตอนหนึ่งว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าว กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ ต้องใช้เวลา ความอุตสาหะ เสียสละอย่างสูง แต่ผลสำเร็จที่ได้รับก็เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอย่างไม่อาจประมาณได้ ดั่งเช่นผลงานของ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ ในการพัฒนายาต้นแบบสำหรับรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า เพื่อรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล ผลงานของ ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง ในการค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม และผลงานของ ศ.นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ในการพัฒนาวัคซีนชนิดกิน ป้องกันอหิวาตกโรค พร้อมทั้งเสนอแนวทางการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความชื่นชมด้วยอย่างยิ่งกับท่านทั้ง 4 ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่ และได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปีนี้ 
         ชีวิตตามปกติ มีลูกมีหลาน ทำให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ในการทำงานต้องทำงานอย่างมีความสุข มีความอยากรู้อยากเห็น สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล เราควรจะต้องมีการตรวจเรื่องพันธุกรรม เพราะมีส่วนสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งช่วงแรกหรือระยะร้ายแรง วิธีการตรวจพันธุกรรมสามารถช่วยคนไข้ได้ ปัจจุบันมีหลายประเทศมีศักยภาพในการตรวจพันธุกรรมนี้มากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยที่มีการตั้งสถาบันพันธุกรรม ในอนาคตการตรวจพันธุกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาโรคมะเร็ง 
         "ปัจจุบันการรักษาเป็นการรักษาด้วยเคมีบำบัดยังมีปัญหาแทรกซ้อนและผลข้างเคียง แต่ยาตัวที่ค้นพบสามารถช่วยที่จะให้คนไข้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอลจะมีผลกระทบค่อนข้างน้อย ทำให้คนไข้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช่ยาปกติจะมีชีวิตได้ไม่เกิน 3-5 ปี แต่เมื่อได้รับยาอิมาทินิบคนไข้ร้อยละ 95 มีอายุยืนยาวกว่า  5 ปี ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่ย่ิงใหญ่และอนาคตจะขยายไปยังมะเร็งชนิดอื่นๆ"  ศ.นพ.ไบรอัน กล่าว

4 นักวิจัยตบเท้าเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์-ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง

         ด้าน ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง กล่าวว่า การเห็นคนไข้มะเร็งเต้านมหายจากโรคคือแรงบันดาลใจในการทำงาน ซึ่ง แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนร่วม และส่วนตัวที่สองคือความอยากรู้อยากเห็น อยากทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับคนไข้ของตัวเอง ซึ่งการทำงานขอให้เรารักและใส่ใจในส่ิงที่เราทำ แล้วเราจะมีแรงตื่นมาตอนเช้าที่จะทำงาน โรคมะเร็งเต้านมสามารถส่งผ่านทางพันธุกรรม จึงแนะนำอยากให้ผู้หญิงที่มีความเสี่ยง คือมีมารดาหรือคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านมควรจะตรวจเช็คร่างกาย หากพบว่าเป็นติดตามผลอย่างใกล้ชิดและรักษาอย่างทันท่วงที 

4 นักวิจัยตบเท้าเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์

         ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน กล่าวโดยสรุปว่า เลือกเรียนแพทย์เพราะสามารถที่จะช่วยคนได้ในการทำวิจัยครั้งนี้เห็นว่าโรคอหิวาตกโรค เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับคนยากจนเป็นส่วนใหญ่และไม่มีทางเลือกที่จะป้องกันได้ มีความภูมิใจและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจนให้หายจากโรคนี้ได้ และได้เห็นการใช้ทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติอย่างได้ผล ในชุมชมหากได้รับการรักษาร้อยละ 60 สามารถจะรักษาครอบคลุมอีกร้อยละ 40 ไม่ให้ป่วยเป็นโรคได้ เช่น หมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศบังคลาเทศ แม้ทุกวันนี้ทั้งคู่จะอายุมากแล้วแต่ยังทำงานวิจัยเป็นงานอดิเรกด้วย พวกเราเล็งเห็นผลว่าในปี 2030 จะไม่มีอหิวาตกโรคในโลกนี้ 

4 นักวิจัยตบเท้าเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน

         ช่วงค่ำวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 พร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร มีบุคคลในแวดวงสังคมเข้าร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคับคั่ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ