ข่าว

"ยธ."ขับเคลื่อนบิ๊กดาต้าใช้เทคโนโลยีลดผู้กระทำผิดซ้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ประจิน"เปิดอบรมหลักสูตร Big Data มั่นใจปี 63 เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้จริง ปลัดยธ.ตั้งเป้าใช้ AI ลดจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำให้เหลือ 12% ภายใน 3 ปี  

 

          สำนักงานกิจการยุติธรรม 22 กันยายน 2661 "ประจิน"เปิดอบรมหลักสูตร Big Data มั่นใจปี 63 เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้จริง ปลัดยธ.ตั้งเป้าใช้ AI ลดจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำให้เหลือ 12% ภายใน 3 ปี 

 

 

          พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ  "การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยี Big Data มาประยุกต์ใช้กับกระทรวงยุติธรรม" หลักสูตรเทคโนโลยี Big Data สำหรับผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม  โดยมีปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดีและรองอธิบดีของกรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมรับฟังการอบรมจาก ดร.ธีรณี อจลากุล พร้อมทีมงานจากศูนย์ Big Data Experience มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Big Data สำหรับการนำไปใช้ในการบริหารจัดการ และประยุกต์ใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น การสืบสวน การฟ้องร้อง การพิจารณาคดี และการลงโทษ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า การจัดทำ Data Center หรือศูนย์ข้อมูลข่าวสารให้มีมาตรฐานเดียวกัน จะต้องมีความพร้อมทางด้านซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ และด้านความปลอดภัย แม้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ จะมีเนื้องานเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน แต่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานกลาง เชื่อมโยงการทำงานกันให้ได้อย่างรอบด้านและครอบคลุม ปัจจุบันเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว จึงเชื่อมั่นว่าภายในปี 2563 จะสามารถผลักดันให้ทุกหน่วยงานเป็น E-Government หรือรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริหารจัดการภาครัฐโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายได้จริง มีระบบฐานข้อมูลเป็นเครื่องมือในการกลั่นกรองและบูรณาการข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนงานในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ

 

"ยธ."ขับเคลื่อนบิ๊กดาต้าใช้เทคโนโลยีลดผู้กระทำผิดซ้ำ

 

          นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การดำเนินงานด้วยเทคโนโลยี Big Data ในหน่วยงานกระทรวงยุติธรรมนั้น ได้เร่งผลักดันในงานด้านกลุ่มภารกิจพัฒนาพฤตินิสัย โดยนำฐานข้อมูลที่กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมคุมประพฤติ เก็บรวบรวมไว้มาวิเคราะห์ เพื่อทำนายโอกาสหรือความเสี่ยงในการกลับมากระทำความผิดซ้ำของบุคคล  รวมถึงการจัดทำโปรแกรมแก้ไขบำบัดผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคล ซึ่งเทียบเคียงได้กับโปรแกรมการประเมินความเสี่ยงเพื่ออนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน

              

          โดยคาดว่าหากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Big Data อย่างเต็มศักยภาพ จะสามารถลดอัตราผู้กระทำความผิดซ้ำได้มากขึ้น นอกจากนี้ในมิติของการวางแผนแก้ปัญหาอาชญากรรม หากฐานข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เชื่อมต่อเข้ากับฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะสามารถทำนายถึงบริเวณหรือจุดที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมในแต่ละประเภทได้ Big Data ยังสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ เช่น การใช้งานในด้านการซื้อขายที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ของกรมบังคับคดี เมื่อนำเทคโนโลยี Big Data มาใช้โดยเชื่อมโยงกับข้อมูลของกรมธนารักษ์ก็จะสามารถทำนายระบุวันที่ควรขายอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นให้ได้ผลดีมากขึ้นอีกด้วย

                 

"ยธ."ขับเคลื่อนบิ๊กดาต้าใช้เทคโนโลยีลดผู้กระทำผิดซ้ำ

 

          "ในแต่ละปีจะมีผู้ต้องโทษถูกส่งเข้ามาเฉลี่ย 200,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมากที่คนไม่สามารถประมวลผลถึงสภาพปัญหาและปัจจัยกระตุ้นให้กระทำความผิด รวมถึงจัดโปรแกรมแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นรายบุคคล แต่เทคโนโลยี AI สามารถประมวลผลได้ค่อนข้างแม่นยำ จากข้อมูลการกระทำความผิดซ้ำของกรมราชทัณฑ์พบว่า ในรอบ 3 ปี มีตัวเลขผู้กระทำผิดซ้ำ 33% ขณะที่เยาวชนที่กระทำผิดซ้ำถูกนำตัวกลับมายังศูนย์ฝึกฯ หรือส่งตัวเข้าเรือนจำสูงถึง 40%  ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้ใหญ่ หากมีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลและติดตามผู้พ้นโทษอย่างใกล้ชิด ภายใน 3 ปี จะสามารถลดจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำให้เหลือเพียงแค่ 12% " ปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ  

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ