ข่าว

"ปิดทองหลังพระ"บริการทันตกรรมพระราชทาน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปิดทองหลังพระ"ร่วมมือจังหวัดปัตตานีออกหน่วยทันกรรมพระราชทาน  3 จังหวัดชายแดนใต้ลดปัญหาโรงพยาบาลพื้นที่ขาดบุคลากรไม่ทั่วถึงขณะที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก 

 

15 กรกฏาคม 2561 "ปิดทองหลังพระ"ร่วมมือจังหวัดปัตตานี สนับสนุนออกหน่วยทันกรรมพระราชทาน  3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้บริการนักเรียนและประชาชนลดปัญหาโรงพยาบาลพื้นที่ขาดบุคลากรไม่ทั่วถึงขณะที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก 

นายวีระนันท์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดปัตตานี ทุกหน่วยงานในจังหวัด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และมูลนิธิรากแก้ว ฯลฯ ถือเป็นการบริการที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ให้ความใจใส่ดูแลพี่น้องประชาชนใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา เพราะถือทุกคนเป็นคนไทย ที่ต้องดูแลคุณภาพชีวิต

 

ถือเป็นบุญใหญ่ที่สะท้อนถึงความเอื้ออาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นความดีงามที่ยังมีอยู่ในประเทศไทย การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพื้นที่อำเภอสายบุรี เนื่องจากมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สายบุรีตั้งอยู่ ที่สำคัญคือเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยหน่วยทันตกรรมพระราชทาน เป็นการสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกร ที่สืบทอดมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

 

"ปิดทองหลังพระ"บริการทันตกรรมพระราชทาน 

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ความร่วมมือของทุกฝ่ายในการดำเนินการครั้งนี้ เป็นรูปแบบที่ดีที่สามารถนำไปปฏิบัติต่อในพื้นที่อื่น ๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนว่า เราเป็นคนไทยด้วยกัน “ต้องรักและดูแลกัน” โดยวันแรกของการเปิดให้บริการด้านทันตกรรม เมื่อวันที่ 11 ก.ค.61 ณ ที่ว่าการอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีนักเรียน และประชาชนเข้ารับบริการด้านทันตกรรมกว่า 1,393คน และคาดว่ายอดรวมของการเปิดบริการ จะสามารถทำได้มากกว่า 2,000 คนตามแผนที่วางไว้ นับเป็นจำนวนที่เข้ารับบริการด้านสุขอนามัยในช่องปาก มากที่สุดเมื่อเทียบกับการบริการด้านทันตกรรมพระราชทานครั้งที่ผ่านๆ มาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 

 

“จากการสำรวจตัวเลขสถิติพบว่า เฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส สัดส่วนทันตแพทย์เทียบกับประชากรจังหวัดเป็น 1 ต่อ 12,000 คน โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี มีทันตแพทย์ 5 คนต่อประชากร 70,000 คน เทียบกับสัดส่วนของทั้งประเทศคือ 1 ต่อ 8,000 คน ขณะที่สถิติผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคฟัน สุขอนามัยในช่องปาก ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้กลับมีจำนวนสูงสุดของประเทศ”นายวีระนันท์ กล่าว

 

"ปิดทองหลังพระ"บริการทันตกรรมพระราชทาน 

 

ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหัวหน้าทีมทันตแพทย์อาสาพระราชทาน กล่าวว่า หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มีหน้าที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนบริการทันตกรรมหน่วยทันตกรรมพระราชทานเคยทำงานร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มานานในหลายพื้นที่ เมื่อทราบว่าทางปิดทองฯ มาดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมาร่วมด้วย เพราะนอกจากประชาชนใน จังหวัด ยะลา นราธิวาส ปัตตานี จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพในช่องปากมากที่สุดของประเทศแล้ว และเพื่อแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ประเทศไทยที่ทุกคนสามารถเดินทางมาได้โดยไม่มีปัญหา

 

คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อมีการเปิดรับสมัครทันตแพทย์อาสา ปรากฏว่า ทันตแพทย์จำนวนมากสมัครมาร่วมเต็มจำนวนอย่างรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะทุกคนอยากช่วยประชาชนที่ไม่เคยมีโอกาสได้รับบริการ และยังเป็นการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่ต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลาด้วย เหตุผลที่ทำให้มีการออกหน่วยขนาดใหญ่ในครั้งนี้ เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมาก และสถานที่ให้บริการมีความสะดวก ครบถ้วนสามารถให้บริการประชาชนจำนวนมากได้

 

"ปิดทองหลังพระ"บริการทันตกรรมพระราชทาน 

 

ขณะที่ ทต.ญ.ซูไฮดา สิเตะ ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี กล่าวว่า ส่วนใหญ่ประชาชนในพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพในช่องปาก และขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เนื่องจากจำนวนทันตแพทย์มีเพียง 5 คนต่อประชากร 70,000 คน ทำให้ไม่สามารถให้การดูแลได้อย่างทั่วถึงการออกหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับว่าเป็นโอกาสดีของคนในพื้นที่ เพราะนอกจากจะเป็นการให้การรักษาแล้ว ยังมีส่วนที่จะกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปากที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น

 

“โดยปกติ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรีจะให้บริการได้วันละ 6-80 คน หรือมากที่สุด ปีละ 8,000 คน การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานครั้งนี้ สามารถให้บริการได้มากกว่า 2,000 ราย ซึ่งตามปกติอาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือนจึงจะให้บริการได้ครบ ทั้งนี้ ที่อาสามาร่วมด้วย เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชน ส่งผลให้เรามีความสุขไปด้วย”

 

"ปิดทองหลังพระ"บริการทันตกรรมพระราชทาน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ