ข่าว

"เชคสเปียร์ต้องตาย" ขออุทธรณ์อีกยก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปกครองกลางยกฟ้อง ชี้คำสั่ง กก.ภาพยนตร์ฯ แบนหนัง "เชคสเปียร์ต้องตาย" ชอบแล้ว พบเนื้อหาคล้ายเหตุการณ์ 6ตุลาฯ อาจสร้างความชิงชังในชาติ คณะผู้สร้างขออุทธรณ์ต่อ

 

          11 ส.ค. 60 - เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลโดย น.ส.ฉัตรชนก จินดาวงศ์ ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน และองค์คณะ มีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำ 1321/2555 ที่นายมานิต ศรีวานิชภูมิ และน.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" ยื่นฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ , คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์คณะที่ 3 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 กรณีมีคำสั่งโดยมิชอบในการห้ามฉาย จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" ในประเทศไทย จึงขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ที่ห้ามฉาย จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" ในราชอาณาจักร และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากเงินทุนที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,530,388.55 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

          โดยคำฟ้องระบุเหตุแห่งการฟ้องคดีว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" ซึ่งแปลจากบทประพันธ์โดยกวีเอกของโลก วิลเลียม เชคสเปียร์ เรื่อง "โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ" หรือ The Tragedy of Macbeth ให้เผยแพร่ในประเทศไทย โดยอ้างว่ามีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ 2552 ข้อ 7 (3) นั้น เห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อจำกัดในหลักการของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 บัญญัติไว้ และหากจะอะลุ้มอล่วยให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ข้อเท็จจริงสังคมไทยมีการเข่นฆ่าประชาชนเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน     ทั้งเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 , เหตุการณ์ 6 ต.ค.19 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และกรณีสงครามยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความรุนแรงของสังคมไทยที่มิอาจลืมเลือน หรือปกปิดไว้ได้แต่อย่างใด โดยคนไทยสมควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่อร่วมมือกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

          ดังนั้นภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" จึงมิได้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีคนในชาติตามที่อ้าง "เนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีตอนใดตอนหนี่งที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่อ้าง เพราะเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละครเรื่อง "โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ" อันเป็นบทประพันธ์ของวิลเลียม เชคสเปียร์ กวีเอกของโลก โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยเท่านั้น การที่อ้างว่าไม่ให้ภาพยนตร์นี้ฉายก็เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น คำว่า "รัฐ" ย่อมหมายถึงรัฐชาติ ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด ดังนั้น การกระหายเลือด การมักใหญ่ใฝ่สูง การงมงานในไสยศาสตร์ของตัวละครในภาพยนตร์ที่สถาปนาตนเองเป็นราชา ซึ่งเหมือนกับผู้นำประเทศต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงของสังคม ย่อมมิได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงเกียรติภูมิของประเทศแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใดมิได้หมายถึงประเทศชาติด้วย"

          ผู้ถูกฟ้องยังระบุว่าด้วย ตนเองต้องเสียค่าใช้จ่ายในค่าตอบแทนส่วนตัวในกระบวนการผลิตภาพยนตร์จนเสร็จสิ้นอีก 2,250,000 บาท รวมถึงความเสียหายต่อชื่อเสียงค่าเสียหายจากการขาดโอกาสในการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์กับบุคคลอื่น แต่การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งสองไม่ได้มีเจตจำนงในการแสวงหากำไรในการสร้างจึงไม่ติดใจที่จะเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากผู้ถูกฟ้อง

          ทั้งนี้องค์คณะฯ พิเคราะห์เเล้ว เห็นว่าการพิจารณาภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าจะเป็นสาเหตุของการเเตกความสามัคคีของคนในชาติหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาสาระสำคัญทั้งเเนวความคิด เเละเเก่นสารของเรื่องที่มุ่งเน้นของภาพยนตร์ กรณีไม่อาจนำเสนอส่วนใดส่วนหนึ่งมาพิจารณาได้จะต้องพิจารณาเนื้อหาสาระสำคัญทั้งเรื่อง

          โดยจากการพิจารณาบทคัดย่อประกอบกับรับชมผ่านซีดีข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวมีเนื้อหา เกี่ยวกับเรื่องราวตำนานแห่งการเมืองและไสยศาสตร์ที่ได้เเรงบันดาลใจ และบทเกือบทั้งหมดมาจากต้นฉบับละคร โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ และดัดเเปลงเพื่อเข้ากับบริบทวัฒนธรรมไทย เป็นเรื่องระหว่างการแสดงในโรงละครกับเหตุการณ์โลกภายนอกของประเทศสมมุติเเห่งหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาในโรงละครเป็นเรื่องของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงายไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์โดยการฆาตกรรม ซึ่งมีชื่อเรียก "ท่านผู้นำ" โดยหลังจากเรื่องภายในโรงละครจบลง ในโลกภายนอกมีกลุ่มคนที่คลั่งไคล้ท่านผู้นำ ที่มีการแสดงละครล้อเลียนท่านผู้นำได้วิ่งกรู ทำร้ายนักแสดง ผู้กำกับละคร แล้วลากไปด้านหน้าโรงละคร จับแขวนคอทุบตีด้วยเก้าอี้เหล็กพับ ท่ามกลางกลุ่มคนที่ส่งเสียงเชียร์

          เมื่อพิจารณาภาพยนตร์ดังกล่าว แม้ผู้ฟ้องจะกล่าวว่าประเทศในละครเป็นประเทศสมมุติก็ตาม แต่มีเนื้อหาหลายฉากคล้ายกับเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศไทยมิใช่ประเทศสมมุติตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 2เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคล้ายกับเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 อันเป็นฉากที่ก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีคนในชาติ เป็นฉากที่มีผู้ชายเสื้อดำโพกผ้าแดงถือท่อนไม้ทำรายคนดู จับผู้กำกับละครแขวนคอ 

          องค์คณะจึงเห็นว่า แม้จะมีภาพยนตร์หลายเรื่องนำประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตที่มีความขัดแย้งมาสร้างก็ตาม แต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วเป็นเวลานานหลายร้อยปีจนไม่อาจสืบสาวราวเรื่องว่าบุคคลดังกล่าวมีความสัมพันธ์เป็นญาติพี่น้องกันหรือไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดความเคียดแค้นชิงชัง ต่างจากภาพยนตร์ผู้ฟ้องทั้งสองที่ได้มีการนำเหตุการณ์ 6 ต.ค. ซึ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยมาเป็นส่วนหนึ่งภาพยนตร์มีความยาวฉากนี้ 2 นาทีเศษ ย่อมสร้างความไม่พอใจเกิดขึ้นแก่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตหรือผู้ร่วมเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังอันอาจเป็นชวนสร้างความแตกแยกคนในชาติได้

          ประกอบกับเมื่อมีการประชุมกับผู้ถูกฟ้องที่ 2 เมื่อวันที่ 3 เม.ย.55 ผู้ถูกฟ้องได้เเจ้งให้แก้ไขบทในฉากดังกล่าว แต่ผู้ฟ้องทั้งสองยืนยันจะใช้บทเดิม ทั้งที่สามารถดำเนินแก้ไขได้โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเนื้อหาสำคัญของเรื่อง รวมถึงเเนวคิดด้านมืดด้านสว่างของมนุษย์ บาปบุญคุณโทษผลกรรม และการต่อสู้ระหว่างอธรรมกับธรรมมะในจิตใจคน การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2ไม่อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องนำภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" ออกเผยแพร่ราชอาณาจักรจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ชอบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ให้ยกอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน

          ส่วนประเด็นความเสียหายทางละเมิดเมื่อข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องทั้งสองชอบด้วยกฎหมายการกระทำย่อมไม่เป็นการละเมิดจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายเเก่ผู้ฟ้องเเต่อย่างใด จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

          ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายมานิต ผู้ฟ้องซึ่งเป็นคณะผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" กล่าวว่า จะนำคำพิพากษาไปเพื่อพิจารณาในการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไปเพราะการที่บอกว่า เหตุการณ์ 6 ต.ค.19 เป็นประเด็น หากลองไปเปิดในยูทูปดูจะพบเรื่องราวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวนี่แสดงว่า กสทช.บกพร่องในหน้าที่

          ด้าน น.ส.สมานรัชฎ์ กล่าวว่า เป็นกรณีเลือกปฏิบัติ โดยหนังเรื่องนี้มีการไปฉายต่างประเทศและได้รับการวิจารณ์ที่ดี ซึ่งข้อเท็จจริงในเนื้อเรื่องดังกล่าวก็มีในแบบเรียน เรื่องนี้เราเคยไปร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็เคยชี้มาว่าเราถูกละเมิดสิทธิ และบอกว่าควรมีการเเก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ภาพยนตร์ใหม่.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ