ข่าว

ไทยพบยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่-ลุง 63 ติดจากโรงพยาบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรคพบคนไทยติดเชื้อเอ็มซีอาร์-1ยีนดื้อยาพันธุ์ใหม่ ลุงวัย 63 อาจติดจาก รพ. เตือนยีนดื้อยาถ่ายทอดให้คนฟาร์มหมู คนไทยตายจากเชื้อดื้อยาปีละ 4.5 หมื่นราย

     หลังจาก “คม ชัด ลึก” สำรวจพบการซื้อขายและใช้ยาเถื่อน “โคลิสติน” (colistin) ในฟาร์มหมู ซึ่งแพทย์กลัวว่าจะกลายเป็นตัวแพร่กระจายของยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ “เอ็มซีอาร์-วัน” ระบาดสู่มนุษย์โดยเฉพาะในประเทศไทย เนื่องจากทีมวิจัยสัตวแพทย์จุฬาฯ สุ่มตรวจข้อมูล 3 ปี 2013-2014 พบเชื้อและยีนดื้อยาโคลิสตินในฟาร์มหมู นครปฐม ราชบุรี ชลบุรี นั้น

     ล่าสุดทีมข่าว “คม ชัด ลึก” พบงานวิจัยตีพิมพ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เกี่ยวกับการแพร่กระจายของยีนดื้อยาเอ็มซีอาร์- วัน (MCR-1) พ.ศ.2559 เป็นภาษาอังกฤษชื่อหัวเรื่อง “Dissemination of the mcr-1 colistin resistance gene” Vol 16 February 2016 จากเว็บไซต์ www.thelancet.com/infection งานวิจัยชิ้นนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้นพบการกระจายตัวของเชื้อดื้อยาโคลิสตินสาเหตุทำให้เกิดยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ มีการระบุถึงประเทศที่พบเชื้อเอ็มซีอาร์-วันในมนุษย์ หมู และไก่ โดยช่วงปี 2010–2015 มีจำนวนทั้งสิ้น 16 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส เบลเยียม แอลจีเรีย สำหรับประเทศฝั่งเอเชียได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และประเทศไทย สำหรับไทยนั้นเป็นรายงานการพบยีนเอ็มซีอาร์–วันในมนุษย์ (Human) จำนวน 2 รายเมื่อปี 2012

     สอดคล้องกับเอกสารรายงาน “สถานการณ์การเกิดโรคประจำสัปดาห์ที่ 24 ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2559” ทีมตระหนักรู้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีการตรวจพบยีนดื้อยาดังกล่าวในตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วยชายที่เพชรบูรณ์ โดยมีรายละเอียดของเนื้อหาว่า "4.พบผู้ป่วยติดเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติได้ตรวจพบเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 จากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไทย เพศชาย อายุ 63 ปี อาศัยอยู่ ต.ท่าโรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ผู้ป่วยถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ มาที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งแรกระหว่างวันที่ 23 มกราคม-25 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยอาการ Intracerebral hemorrhage แพทย์ได้ผ่าตัด และผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2559 ด้วยโรคหลอดลมอักเสบ

     จากการสอบสวนเพิ่มเติมพบว่าผลพบเชื้อดื้อยาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 (ดื้อต่อยา ertapenem/Imipenem/ meropenem) ซึ่งอยู่ในช่วงที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จึงคาดว่าผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาจากโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้ผลการติดเชื้อดื้อยาถูกแจ้งกลับมายังโรงพยาบาลเพชรบูรณ์เมื่อเดือนเมษายน 2559 แต่เนื่องจากผู้ป่วยถูกส่งตัวกลับไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวิเชียรบุรี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์จึงได้รีบประสานโรงพยาบาลวิเชียรบุรีให้แยกรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าว 5. การประเมินความเสี่ยงของโรคและภัยสุขภาพ สถานการณ์เชื้อดื้อยาในประเทศไทย

     สำหรับประเทศไทยปัญหาการดื้อยาที่สำคัญ คือ การดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ Acinetobacter spp., Eschericha coli, Klebsiellaspp. และ Pseudomonas spp. ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล นอกจากนี้เชื้อ E.coli, Klebsiella spp. และ Neisseria gonorrhoeae ที่ดื้อยาปฏิชีวนะก็เป็นปัญหาสำคัญของการติดเชื้อในชุมชน และเชื้อ E.coli, Campylobacter spp. และ Salmonella spp. ที่ดื้อยาปฏิชีวนะก็เป็นปัญหาในการเลี้ยงสัตว์ ในห่วงโซ่อาหาร และมีการปนเปื้อนในอาหาร และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียแกรมลบเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากทางเลือกในการรักษามีจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่ม Carbapenem และ Colistin ซึ่งเป็นยาด่านสุดท้ายในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

     ผลกระทบจากการดื้อยาต้านจุลชีพ คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาคาดว่าในอีก 35 ปีข้างหน้าการเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน ประเทศในแถบเอเชียจะมีคนเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท (100 trillion USD) สำหรับประเทศไทยการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ราย โดยเสียชีวิตประมาณปีละ 38,000-45,000 รายคิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท….

    รายงานข้างต้นยังระบุถึงปัญหาเชื้อดื้อยาในฟาร์มหมูที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแหล่งน้ำว่า นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะในวงกว้างและการกำจัดยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกวิธีอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยเช่นกัน การสำรวจแหล่งน้ำนิ่งของฟาร์มหมูพบเชื้อดื้อยาสูงกว่าตัวอย่างน้ำจากลำคลองและน้ำจากบ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงปลา

    การเดินทางระหว่างประเทศ การเปิดประเทศทางการค้าเสรี การพัฒนาประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ การเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นปัจจัยเร่งให้เชื้อดื้อยาแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเช่นกัน เช่น กรณีของเชื้อแบคทีเรีย E. coli ที่มียีนดื้อยา New Delhi metallo-beta-lactamase-1 (NDM-1) และการพบเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่มีกลไกการดื้อยาแบบใหม่ที่สามารถส่งต่อยีนดื้อยาข้ามสายพันธุ์ได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น (Plasmid-Mediated Colistin Resistance: MCR-1) ปัจจุบันพบ MRC-1 ในหลายประเทศ และในประเทศไทย

    ระบบการเฝ้าระวังที่ยังไม่เชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาลรวมทั้งระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ทำให้การจัดการปัญหาไม่ครอบคลุม ระบบการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมทั้งสภาพของโรงพยาบาลที่แออัด และการจัดการและลดอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลจำนวนมากมีการพบการติดเชื้อดื้อยาในอัตราที่สูง และส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์การรักษาโรคต่างๆ เป็นอย่างมาก”

รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล และประธานมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ของไทย เช่น ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ เนื่องจากมีการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก ทำให้ยิ่งมีโอกาสแพร่กระจายการถ่ายทอดยีนดื้อยาจากสัตว์มาสู่คนได้มากเช่นกัน

     ดร.จันทร์เพ็ญ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาไทยยังไม่ค่อยทำวิจัยอย่างจริงจังว่ามีการปนเปื้อนเชื้อโรคดื้อยาและยีนดื้อยาในเนื้อสัตว์ที่วางขายให้ผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน ควรมีการสุ่มตรวจเปรียบเทียบตามแผงขายเนื้อสัตว์ดิบและร้านขายเนื้อสัตว์ปรุงสุกแล้วว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ โดยเฉพาะยีนเอ็มซีอาร์-วันที่เกิดจากการดื้อยาโคลิสตินสามารถถ่ายทอดผ่านคนในฟาร์มหมูด้วย หากมนุษย์รับยีนตัวนี้เข้ามาในร่างกาย ยีนตัวนี้จะพัฒนาและสามารถแพร่กระจายหรือถ่ายทอดไปยังยีนตัวอื่นในร่างกายมนุษย์ได้อย่างไรบ้าง

“     การใช้ยาในสัตว์อย่างไม่ถูกต้องและใช้อย่างไม่จำเป็น กำลังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเชื้อดื้อยามีความสามารถในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนยีนดื้อยากับเชื้อโรคอื่นๆ ส่งผลให้ดื้อยาหลายชนิดได้ด้วย ควรมีการจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ ใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมเท่านั้น ควรชักชวนกันสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการปนเปื้อนของยาหรือเชื้อดื้อยาในอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และในสิ่งแวดล้อมด้วย ตอนนี้วงการแพทย์ทั่วโลกเป็นกังวลมาก เพราะยาโคลิสตินเป็นยากลุ่มสุดท้ายที่สำคัญในการรักษาเชื้อดื้อยากรณีที่ยากลุ่มอื่นใช้ไม่ได้ผล หากมีการแพร่หลายของเชื้อดื้อยาโคลิสติน จะทำให้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ทั้งในคนและในการเกษตร” ตัวแทนเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคข้างต้นกล่าว

    สาเหตุที่ทั่วโลกเฝ้าระวังยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่จากฟาร์มหมู สืบเนื่องจากปี 2558 ทีมวิจัยชาวจีนค้นพบ “ยีนเอ็มซีอาร์-วัน” ในพลาสมิด หรือสารพันธุกรรมของแบคทีเรียดื้อ “ยาโคลิสติน” ที่สามารถถ่ายโอนยีนไปแบคทีเรียต่างชนิดด้วย งานวิจัยนี้เก็บตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียหมูจากโรงฆ่าสัตว์และเนื้อหมู เนื้อไก่ ช่วงปี 2554-2557 และยังพบเชื้อเอ็มซีอาร์-วันจากผู้ป่วยในโรงพยาบาล 2 แห่งในพื้นที่เดียวกันด้วย จึงเรียกร้องให้จำกัดการใช้ยาโคลิสตินในฟาร์มหมูของจีน ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2559 สหรัฐอเมริพบคนไข้มียีน “เอ็มซีอาร์-วัน” ซึ่งไม่เคยมีรายงานมาก่อนในวงการแพทย์ของอเมริกาเช่นกัน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ