4 ม.ค.60 - พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก โดยมี แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการบังคับสำหรับผู้ขับขี่ที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง ให้ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจรมีหน้าที่ออกหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งมาชำระค่าปรับภายใน 15 วัน หากยังไม่ชำระค่าปรับ สามารถยึดหรือพักใช้ใบขับขี่ได้ รวมทั้งให้ชะลอการรับชำระภาษีประจำปีไว้ก่อน
นอกจากนี้ยังให้เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี จะต้องเพิ่มค่าปรับอีก 2เท่า ขณะเดียวกันมีการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษความผิดฐานแข่งรถโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการจัดให้มีการมั่วสุมที่มีลักษณะนำไปสู่การแข่งรถ มีการเพิ่มเติมอัตราโทษในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา หรือเมาของอย่างอื่น
สำหรับร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป มีสาระสำคัญดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมน้ำหนักของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจาก 1,600 กก. เป็น 2,200 กก. ที่ไม่ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทางแล้วแต่กรณีให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2557
2. กำหนดให้ผู้ขับขี่มีหน้าที่ต้องจัดให้คนโดยสารซึ่งนั่งในรถทุกคนต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์
3. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการบังคับสำหรับผู้ขับขี่ที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งโดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร) มีหน้าที่ออกหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งมาชำระค่าปรับภายใน 15 วัน โดยหากบุคคลดังกล่าวยังไม่ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งเตือนข้างต้น ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งไปยังนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกให้ชะลอการรับชำระภาษีประจำปีไว้ก่อน พร้อมทั้งให้นายทะเบียนดังกล่าวมีอำนาจสั่งยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของบุคคลนั้นด้วย
4. กำหนดให้เจ้าหน้าที่พนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ด้วยวิธีการตรวจทดสอบลมหายใจ ปัสสาวะ เลือด หรือวิธีการอื่นอย่างชัดแจ้ง
5. กำหนดให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจทดสอบว่าผู้ขับขี่เมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่สั่งจ่ายจากงบประมาณที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
6. แก้ไขอัตราโทษสำหรับความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขอัตราโทษสำหรับความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญาแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558
ข่าวที่เกี่ยวข้อง