ปมวาระ"นายกฯ" ครบ 8 ปี "วิษณุ" แนะมัดรวมยื่นกกต.พิจารณาที่เดียว
"วิษณุ"แนะ ใครสงสัย วาระ"นายกฯ" ครบ 8 ปี ให้ยื่นกกต.พิจารณา ขณะที่ประชุมสภาล่ม ไม่ทราบ กม. ประกอบ รธน.เสร็จทันหรือไม่ หากไม่ทันก็ใช้ต้นฉบับที่รัฐบาลเสนอ และรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง แค่ถูกประชาชนตำหนิ
ประเด็นที่ถกเถียงกัน ถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะครบ 8 ปี เมื่อไรกันแน่ โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่านค้านเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาทันที เพราะมองว่า ครบกำหนดครบวันที่ 23 ส.ค. 65 นับตั้งแต่รับตำแหน่งครั้งแรกในยุครัฐบาล คสช. เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557
แต่ในขณะที่อีกหลายฝ่ายยังมีแนวคิดอีก 2 แนวทาง คือ ครบ วันที่ 8 มิ.ย.2570 เพราะมีการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 9 มิ.ย.2562 และ ครบ วันที่ 5 เม.ย.2568 เพราะเริ่มนับวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560
วันนี้ 4 ส.ค.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทุกคน สามารถยื่นต่อ กกต. ได้ ส่วนจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต. ยังเป็นปัญหาอยู่ วิธีที่ดีที่สุดคือ ไปยื่นที่ กกต. เพราะมาตรา 170 วรรคท้ายระบุว่า กกต. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้ โดย สส. และ ส.ว. สามารถเข้าชื่อส่งประธานสภาฯ ให้ยื่น ต่อ กกต. เช่นเดียวกับที่ฝ่ายค้านที่เตรียมจะยื่นก็ควรจะยื่นกับ กกต.
สำหรับเหตุการณ์ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. … จำนวน 12 มาตรา สุดท้ายล่มอีกแล้ว ทำให้หลายฝ่ายมองว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อาจเสร็จไม่ทันกรอบเวลา 180 วัน หรือภายใน 15 ส.ค. 65 นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ โดยหลักต้องให้ทัน ซึ่งในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็มีการเผื่อเวลาไว้ เช่น การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ถ้าไม่เสร็จก็ต้องใช้ตามร่างต้นฉบับที่รัฐบาลเสนอ เช่นเดียวกับร่างประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เฉพาะกฎหมายเลือกต้ัง ขึ้นชื่อว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งผู้ร่างก็มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าอาจจะไม่เสร็จ เพราะสภาฯ ชินกับการพิจารณากฎหมายปกติ ที่ไม่มีกรอบเวลา ดังนั้นกฎหมายสำคัญจึงต้องมีการล็อกเวลาไว้ ซึ่งร่างประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว แม้จะเป็นร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แต่เป็นร่างที่เสนอมาให้รัฐบาลและผ่านการแก้ไขจากกฤษฎีกาแล้ว จึงเรียกว่า ร่างของรัฐบาล ซึ่งหากร่างดังกล่าวไม่ผ่าน รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เหมือนร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่อาจถูกประชาชนตำหนิ ว่าให้รับผิดชอบด้านการเงิน ที่มีการพูดเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ
ส่วนถ้าใช้ร่างรัฐบาล จะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมาหรือไม่ เพราะไม่สามารถแก้ไขได้ นายวิษณุ กล่าวว่า บางเรื่องเป็นเรื่องความชอบ ไม่ชอบ สามารถแย้งโดยยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าได้ แต่ต้องแย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญรับแล้ว และเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จะให้ตัดหรือแก้ไขส่วนนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นสาระสำคัญ ก็จะถูกตีตกไปทั้งฉบับ และยกร่างใหม่ ส่วนตัวยังไม่ทราบว่าจะมีการยื่นหรือไม่ แต่ก่อนหน้านี้ได้ยินว่าจะมีการยื่น ทั้งหาร 100 หรือ 500 ซึ่งอาจยื่นร้องในประเด็นขั้นตอน กระบวนการก็ได้ ซึ่งการยื่นตีความจะไม่มีผลกระทบเงื่อนปมเวลา ทั้งอายุรัฐบาล หรือการเลือกตั้ง รัฐบาลเดินหน้าทำงานต่อไปได้
นอกจากนี้นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กทม.พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี และปรับ 2 เเสนบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี กรณีเสียบบัตรเเทนกัน ว่า น.ส.ธนิกานต์ ยังไม่พ้นจากการเป็น ส.ส. เพราะอยู่ระหว่างหยุดปฎิบัติหน้าที่และสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีได้ ซึ่งทุกอย่างว่าไปตามกฎหมาย
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่
(https://awards.komchadluek.net/#)