วันนี้ (24 พ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยังมีความเห็นต่างระหว่างการใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ หรือแยกเบอร์รายเขต ว่าสภาคงต้องคุยกัน แต่ตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) ยกร่างมา เป็นการใช้เบอร์เดียวทั่วประเทศตามที่มีการเรียกร้องมา แต่อาจเข้าทางบางพรรค และไม่เข้าทางบางพรรค ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ สามารถพูดคุยกันได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ใช่เรื่องได้เปรียบเสียเปรียบใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า มองไม่ออก แต่คนที่เขามองออกเห็นว่าทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ความจริงแล้วมันคือความสะดวกในการจดจำ ส่วนคนที่ชำนาญการเลือกตั้งอาจมองอย่างอื่น กลายเป็นเรื่องพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคเก่า พรรคใหม่ คงต้องไปคุยกันเอง เพราะเป็นเรื่องชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ไม่ใช่แง่มุมทางกฎหมาย สามารถแก้ไขได้ในสภา แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือ เรื่องตารางเวลา ขณะนี้ กกต.อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ คิดว่าไม่เกินวันที่ 10 ธ.ค.คงเสร็จ จากนั้นจะเอาความเห็นมาปรับปรุงร่างกฎหมายสักพักก่อนเสนอมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา ซึ่งตอนหารือกับวิปรัฐบาลได้เคยรับปากว่าจะให้มีการพูดคุยกับ กกต.ก่อน รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ กับ กกต.ให้ จะทำให้เวลาการพิจารณาในสภากระชับขึ้น ซึ่งการเสนอเข้าไปอย่างไรก็เป็นคนละฉบับ แต่ให้เป็นการเคลียร์กันก่อนเข้าสู่การพิจารณา ส่วนจะคุยกันเมื่อไหร่นั้น คงต้องรอให้ กกต.ปรับแก้กฎหมายขั้นสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว และเมื่อกฎหมายมาถึงรัฐบาลแล้ว รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องคงสามารถปรับได้ โดยความเห็นชอบของ กกต. แต่ถ้า กกต.ไม่เห็นชอบคงต้องไปพูดในสภา โดยขอยืมให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นคนพูด เพราะสุดท้ายต้องใช้วิธีการโหวต แต่ทั้งนี้ รัฐบาลมีความสัมพันธ์พอที่จะอธิบายด้วยเหตุด้วยผลกับ กกต.ได้
เมื่อถามถึงกรณีนักวิชาการมองว่าเมื่อกฎหมายลูกเสร็จแล้ว เป็นเวลาที่เหมาะสมในการยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าจะแก้กฎหมายลูกเสร็จเมื่อไร อีกทั้งกฎหมายลูกไม่เหมือนกฎหมายอื่น ๆ ที่สภาพิจารณาเสร็จคือเสร็จ แต่กฎหมายลูกพอสภาพิจารณาเสร็จ ต้องส่งไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง กรณีนี้คือ กกต. มีกรอบเวลากำหนด หาก กกต.เห็นว่าควรต้องแก้อะไรบางอย่าง ใครที่ไปแก้ของ กกต.จะเจอตรงนี้ เพราะถ้า กกต.ยืนยันกลับมา ก็ต้องแก้ตาม กกต. ซึ่งตรงนี้รัฐบาลพร้อมออกพระราชกฤษฎีกาขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญให้ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็นำความทูลเกล้าฯ ถวาย
“เคยคิดไทม์ไลน์ว่ากฎหมายลูกจะมีการประกาศใช้ช่วง ก.ค. 2565 เพราะคิดว่าเปิดสภาสมัยวิสามัญช่วง เม.ย.2565 จากนั้นก็ทูลเกล้าฯ ถวาย กรอบเวลา 90 วันจะอยู่ที่ประมาณ ก.ค. 2565 นี่คือการคิดเวลายาวที่สุดไว้ก่อน แต่ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน กรอบเวลาก็จะเร็วขึ้น เคยบอกในคณะรัฐมนตรีว่าถ้ากฎหมายลูกประกาศใช้ ก็จะมีการกดดันให้ยุบสภา รัฐบาลก็ต้องเตรียมรับมือทางการเมืองเอง” รองนายกฯ ย้ำ
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม แสดงความเป็นห่วงองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ล่มบ่อยว่า นายกฯ ได้บอกว่าวันพุธ-พฤหัสบดี รัฐมนตรีคนไหนว่างก็แวะที่ไปสภาบ้าง ไม่ว่ารัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.หรือไม่เป็น ส.ส.ก็ตาม เพราะการที่รัฐมนตรีไปฟังการประชุมสภา แม้ว่าไม่มีเรื่องของตัวเองแต่จะเป็นโอกาสได้พบปะใครต่อใคร มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ นายกฯ พูดไว้นานแล้ว แต่ทั้งนี้ นายกฯ ไม่ได้ห่วงกฎหมายฉบับใดเป็นพิเศษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง