ข่าว

การเมืองเรื่องเวิสท์ เคส ซีนาริโอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเมืองเรื่องเวิสท์ เคส ซีนาริโอ : ประชาธิปไตยที่รัก โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ([email protected]

          จะให้ใช้คำทับศัพท์ก็คือ การเมืองเรื่องเวิสท์ เคส ซีนาริโอ ( worst case scenario) ซึ่งตอนนี้เป็นคำที่กำลังเป็นที่นิยมกล่าวถึงเป็นอันมาก    หมายถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ โดยในที่นี้หมายถึงกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้
   
         ประเด็นที่สำคัญที่จะต้องพูดถึงก็คือ เวลาที่พูดเรื่องสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นเป็นการสร้างความตื่นตระหนกจนเกินไปหรือเปล่า ?

         เรื่องเหล่านี้จะโทษสื่อกับนักวิชาการที่นำเสนอสถานการณ์ที่เลวร้ายไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะนักวิชาการที่นำเสนอเรื่องสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่สิ่งที่จะต้องเรียกร้องจากนักวิชาการก็คือการเปิดเผยวิธีคิดและที่มาของข้อมูล เพื่อให้เกิดความเป็นชุมชนที่มีเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ที่ว่า อย่างน้อยแม้จะพิสูจน์ยังไม่ได้ แต่หากใครใช้ข้อมูลชุดนี้และกระบวนการเช่นนี้แล้วก็จะคิดออกมาได้แบบเดียวกันนี้ เหมือนที่เราเคยเรียนกันมาในตอนเด็กๆ ในเรื่องของขั้นตอนการทดลอง หรือขั้นตอนการแก้โจทย์เลข

         ในประการต่อมา สิ่งที่รัฐจะต้องบริหารจัดการให้ได้ก็คือ รัฐจะมีวิธีการจัดการกับข้อมูลและความตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอย่างไร ?

         เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะว่าถ้ามองในแง่บวก เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งหมายความว่า อาจไม่มีใครถึงความจริงทั้งหมด เราจึงอยู่ในสถานการณ์ของการคาดคะเน

         ทีนี้ถ้าการคาดคะเนของรัฐกับของประชาชน ประชาสังคม สื่อ และนักวิชาการนั้นเกิดมาจากฐานข้อมูลชุดเดียวกัน ประเด็นคือ รัฐจะสูญเสียความชอบธรรมในการปกครองไปเลยไหม? เพราะรัฐไม่ได้เหนือกว่าคนอื่น

         หรือจะให้รัฐทำหน้าที่แค่บอกว่าพี่น้องอย่าตื่นตระหนก เพราะสถานการณ์ไม่เลวร้าย ขณะที่สื่อและนักวิชาการบอกว่านี่คือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด?

         หนึ่งในเครื่องมือที่มีในโลก แต่รัฐบาลไม่ใช้ก็คือ การวางแผนยุทธศาสตร์กับภาพฉายสถานการณ์ที่แตกต่างกัน (scenario-strategic planning) ในความหมายที่ว่า การวางแผนยุทธศาสตร์ (หรือการสร้างเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมาย) นั้นอาจจะต้องคำนึงถึงภาพฉายสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ในความหมายที่ว่า แทนที่จะมีแผนเดียว ก็ควรจะเอาการคาดคะเนสถานการณ์เป็นตัวตั้ง โดยอาจแบ่งสถานการณ์เป็นสามแบบ คือแบบดี แบบทรงตัว และแบบเลวร้าย จากนั้นจึงพิจารณาว่าในแต่ละแบบนั้นจะรับมือแตกต่างกันอย่างไร หรือดูว่ามาตรการที่เรามีไว้รับมือนั้นอาจจะเหมาะกับสถาการณ์บางแบบมากกว่าอีกหลายแบบ

         ในแง่นี้สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำจึงไม่ใช่การตอบโต้สื่อและนักวิชาการไปเรื่อยๆ หรือทำหน้าที่ปลอบประโลมไม่ให้ประชาชนวิตก แต่ควรจะเปิดเผยแผนการให้ชัดเจน และอธิบายเหตุปัจจัยให้ชัดว่าการตัดสินใจในแต่ละเรื่องนั้นตนวางอยู่บนฐานคิดอย่างไร เพื่อที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้ และวิพากษ์วิจารณ์ได้

         อาทิ การให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ย้ายศูนย์ปฏิบัติฯ ไม่ได้แปลว่ามีภาวะผู้นำหรือเข้มแข็งแต่อย่างใด แต่ควรอธิบายว่าไม่ย้ายด้วยเหตุผลใด และในเหตุผลนั้นตั้งอยู่บนเงื่อนไขใด และเมื่อเงื่อนไขนั้นเปลี่ยนก็จะทำให้มีเหตุผลที่จะต้องย้ายได้

         หรือการประกาศการอพยพและการประกาศเขตเฝ้าระวัง โดยไม่ได้มีแผนการรองรับที่ชัดเจน ในระดับที่ประชาชนสามารถปฏิบัติได้ หรือมีตัวชี้วัดที่ประชาชนสามารถร่วมเข้าใจได้ เช่นแทนที่จะต้องรอประกาศก็ให้บอกไปได้ว่า ถ้าระดับน้ำในพื้นที่สูงกว่ายี่สิบเซนติเมตรแปลว่าควรอพยพ หรือ ต้องเฝ้าระวังเพราะว่าระดับน้ำเข้าใกล้มากกว่าสามกิโลเมตร สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนสามารถร่วมตัดสินใจได้ ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าต้องเชื่อการตัดสินใจของรัฐบาลที่ไม่ได้อธิบายเงื่อนไขและเหตุผลการตัดสินใจได้

         ชั่วโมงนี้เรื่องแบบนี้สำคัญครับผม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ