ข่าว

"มาร์ค"ชี้ไม่มียาวิเศษทำให้ปรองดอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายก"อภิสิทธิ์" ชี้ไม่มียาวิเศษทำให้เกิดปรองดอง ด้าน"วิทยา" ยัน"พท." หนุนแนวคิด"ปลอดประสพ" แต่อ้างพรรคจำเป็นต้องคุยในรายละเอียด แนะรบ.อย่าตั้งแง่ และต้องมีความชัดเจน

(8ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปีระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (High performance and potential system : HiPPS ) ซึ่งใช้หัวข้อการสัมมนา “ หนึ่งองศาขยับ ปรับเปลี่ยนประเทศไทย ” ที่หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ สำนักงานกพ. จังหวัดนนทบุรี

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะขึ้นบรรยายพิเศษเรื่อง “ปรับเปลี่ยนประเทศไทย : มุมมองนายกรัฐมนตรี” ปรากฏว่าตัวแทนข้าราชการฮิปส์ได้ขึ้นสรุปปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบันโดยระบุเป็นโรค 3 โรคว่า อาการความดัน(ทุรัง)สูง คือมีความขัดแย้งสูง , ป่วยทางจิต คือจิตยังผูก(แบงค์)พัน สำนึกตกต่ำให้ความสำคัญกับคนรวยมากกว่าคนดี ซึ่งเป็นความไม่รู้จักพอเพียง,และโรคขาดสารอาหาร ในการเข้าถึงบริการสาธารณะพื้นฐานของประชาชนยังไม่เท่าเทียมกัน

 จากนั้น นายกรัฐมนตรีฯ บรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า ถือเป็นเรื่องดีที่มีการจัดสภาพปัญหาของสังคมปัจจุบันในภาพรวม ที่บอกว่าเป็นโรคหรือความเจ็บป่วยในสังคมถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่เพียงแต่รัฐบาลหรือระบบราชการ แต่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องคิดแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามมระดมกำลังต่างๆในสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่ โดยในเรื่องปัญหาความขัดแย้งทางความคิด เป็นเรื่องที่สำคัญและอยู่ในใจของประชาชนมากที่สุด แต่การเดินหน้าที่จะนำไปสู่ความปรองดอง สมานฉันท์มันไม่มีนโยบายมาตรการ หรือโครงการที่จะเป็นยาวิเศษที่จะแก้เรื่องนี้หรอก แต่มันอยู่ในเรื่องของวัฒนธรรมในการทำงานและการที่จะต้องแก้ไขปมปัญหา ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งในทุกๆด้านไปพร้อมๆกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ารัฐบาลเองมีความชัดเจนว่าในส่วนของรัฐบาลก็ต้องเดินหน้า แต่ก็ต้องไประดมภาคส่วนต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการปฏิรูปด้านหนึ่งด้านใด หรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องได้รับการจูงใจและส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน

 “ ผมชอบใจที่กลุ่มข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงนำเสนอว่าปัจจัยนำตัวหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของวัฒนธรรม เพราะนี่คือหัวใจว่าถ้าเราอยากจะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งโดยกระบวนการกฎหมายและกระบวนการประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น เพราะกระบวนการทั้งสองเป็นมาตรฐานของสังคมที่เจริญแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่จะมารองรับทั้งเรื่องของการเคารพกฎหมาย พร้อมไปกับการมีจิตวิญญาณของความมีประชาธิปไตย ถ้าสามารถทำให้การทำงานเกิดวัฒนธรรมดังกล่าวปรากฏเป็นรูปธรรมได้ นั่นคือกุญแจสำคัญในการคลี่คลายปัญหานี้”นายกฯ กล่าว

 นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องของความไม่พอเพียงเพราะสังคมตกอยู่ในภาวะที่ถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยมที่เป็นปัญหาสำคัญของการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งรัฐบาลจะไปทำงานเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ซึ่งเราถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกันที่สมคบกันจนเกิดการทุจริต ซึ่งเอกชนก็ยอมรับว่าไม่ใช่เกิดจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ภายในสิ้นปีนี้ตนคาดหวังว่าจะต้องมีมาตรการหลายอย่างที่เป็นรูปธรรมของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการแก้ไขปัญหานี้

 นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขาดแคลนในการบริการสาธารณพื้นฐานภาพรวมของประชาชนว่า รัฐบาลกำลังเร่งรัดในหลายด้าน ที่ต้องมีข้อมูลแม่นยำครบถ้วน ซึ่งเราหวังว่าการทำสำมะโนในช่วงเดือนกันยายนจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราเข้าไปแก้ไขปัญหาความขาดแคลนด้านต่างๆของประชาชนได้

 โดยในตอนท้ายนายกฯได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการฮิปส์ได้ตั้งคำถามและนายกฯจะเป็นผู้ตอบคำถามด้วยตัวเอง ปรากฏว่าข้าราชการฮิปส์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)รายหนึ่งได้ตั้งคำถาม และนายกฯได้ตอบคำถามพร้อมกับทวงถามนโยบายที่มอบหมายให้อย.ดำเนินการ ซึ่งนายกฯฝากอย.เร่งในเรื่องของเกลือไอโอดีนด้วยว่า “ผมให้ออกระเบียบเรื่องของการใส่ไอโอดีนในเกลือทั้งประเทศ ยกเว้นเฉพาะที่ส่งออกและไม่ได้บริโภค ผมรอมา 2 เดือนแล้วครับ”

 ด้านนายวิทยา บูรณศิริ ประธานคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสียงแตก จากกรณีที่นายปลอดประสพ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอแผนปรองดองต่อรัฐบาล ว่า  ความจริงเรื่องนี้ ในเชิงหลักการพรรคต้องเห็นด้วยอยู่แล้วแต่ ก็ต้องมาคุยในเชิงรายละเอียด  และต้องไปดูว่า เจตนาของผู้พูดเป็นอย่างไร ซึ่งนายปลอดประสพไม่มีเจตนาเลวร้ายอะไร แต่ต้องไปดูว่า การเสนอมาช่วงเวลานี้ และครอบคลุมถึงอะไรบ้าง  และเรื่องนี้ต้องถามว่า เป็นเรื่องระหว่างนายปลอดประสพจะไปปรองดองกับใครอย่างเดียวใช่หรือไม่ เพราะความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องระหว่างพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล แต่เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับประชาชน รัฐบาลควรจะต้องเป็นฝ่ายแสดงเจตนาก่อน ไม่ใช่มาตั้งเงื่อนไข  ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะรัฐบาลควรจะต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาเป็นหลักอยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องนายปลอดประสพ เสนอมาเป็นเรื่องของความคิดเห็น แต่ในส่วนของพรรคเอง ก็ต้องคุยกันในเชิงรายละเอียดต่อไปเพื่อให้เกิดความชัดเจน ขณะที่รัฐบาลควรจะแสดงความชัดเจน และให้เวลานัดหมายมาก่อน

 "ที่ผ่านมานายกฯ ยังไม่ได้เริ่มต้นที่จะทำตามนโยบายแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่กลับไปใช้คนนั้น คนนี้ เช่น นายอานันท์ นพ.ประเวศ และไม่ใช่การทำตัวแบบไร้ทิศทางไม่รู้ว่าจะปรองดองกันจริงหรือไม่ รัฐบาลจะต้องเปิดฟอร์ก่อนไม่ใช่มาตั้งเงื่อนไข เพราะตราบใดที่รัฐบาลยังไร้ทิศทางก็จะไม่สามารถทำให้คนอื่นๆ ฝ่ายอื่นๆ มาร่วมปรองดองได้ " นายวิทยา กล่าวว่า


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ