ข่าว

ประชุมรัฐสภาแก้ไข รธน.วันแรก เดือด ส.ว. ปะทะ ส.ส.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประชุมรัฐสภาแก้ไข รธน.วันแรก เดือด ส.ว. ปะทะ ส.ส. -  "กิตติศักดิ์" เดือดกล่าวหาบางพรรคล้มเจ้า-หลบใต้กระโปรงเด็ก 

วันที่ 23 กันยายน 63- การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. มีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม รวม 6ฉบับ นำเสนอโดยรัฐบาล 1 ฉบับ และฝ่ายค้าน 5 ฉบับ ซึ่งถือเป็น "เรื่องด่วน" สุดท้ายที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 24 ก.ย.

ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ใช้วิธีพิจารณารวมในคราวเดียวกัน โดยสมาชิกรัฐสภาสามารถอภิปรายได้ทุกญัตติ แต่ในการลงมติ จะแยกเป็นรายฉบับ ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภา หรือ 84 เสียงขึ้นไป

ทั้งนี้การอภิปรายจะใช้เวลา 2 วัน คือ วันที่ 23 -24  กันยายน 

จากนั้นก็จะลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดยวิธีขานชื่อสมาชิกเรียงลำดับตามตัวอักษร แล้วให้ลงมติด้วยวาจาว่า "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทีละฉบับจนครบ 6 ฉบับ

หากรัฐสภามีมติ "รับหลักการ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 45 คน มาจากจากสัดส่วนวุฒิสภา 15 คน พรรคการเมืองขนาดใหญ่ 8 คน และลดหลั่นกันไปตามยอด ส.ส. ในสภาของแต่ละพรรค เพื่อพิจารณาเนื้อหาก่อนกลับมาเสนอรัฐสภาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  อภิปรายว่า หวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีหลักการชัดเจนให้แก้มาตรา 256 ให้มี สสร. ขึ้นมายกร่างใหม่เพื่อความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 จะได้รับการสนับสนุนทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก เพื่อให้ประเทศไทยของเราเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้ในอนาคต เพื่อรัฐสภาได้เป็นที่พึ่งของประชาชนและเพื่อให้รัฐสภาได้เป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง

" สำหรับผมและพรรคประชาธิปัตย์มีมติชัดเจน รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลรวมไปถึงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีหลักการใกล้เคียงกัน"

 นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ  เลขาธิการพรรคเพื่อไทยและ ส.ส. เพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี สสร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

ด้าน ส.ว.มณเฑียร บุญตัน  ระบุพร้อมสนับสนุนเพื่อประเทศเดินหน้า แม้เห็นว่าควรแก้ไขเพียงบางประเด็น

"ก้าวไกล" ซัด ส.ว. เอาข่าวปลอมมาอภิปราย- ด้าน ส.ว. "กิตติศักดิ์" เดือดกล่าวหาบางพรรคล้มเจ้า-หลบใต้กระโปรงเด็ก 

 นายชาญวิทย์ ผลชีวิน  สมาชิกวุฒิสภาอภิปรายโดยยกตัวอย่างวุฒิสมาชิก Elizabeth Warren ที่เคยปราศรัยว่า "ประเทศไม่ได้อยู่ได้เพราะชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ได้เพราะกฎหมาย แต่ประเทศจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนได้ด้วยกำลังของพลเมืองดีที่ไม่ดูดายและยอมแพ้ต่อคนชั่วคนทุจริตที่กัดกร่อนทำลายประเทศชาติ พลเมืองดีจึงต้องยืนหยัดรักษาบ้านเมืองไว้ให้มั่นคงเพื่อลูกหลานรุ่นต่อไป" เป็นคำกล่าวที่ตนชอบมาก ตนเป็นนักกีฬา ตอนนี้เราเล่นในนามทีมชาติ ถ้าจะแก้กติกาต้องถามคนอื่นว่าจะเอาด้วยหรือไม่

ตนรับไม่ได้ส.ส.อย่ามาดูถูกว่ามาจากเผด็จการเพราะ ส.ว.มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ตนยอมรับประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานความเห็นต่าง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ก.ข.ต.(เกลียดชัง ขัดแย้ง แตกแยก) ขอร้องว่าประชาธิปไตยที่เห็นต่างต้องสง่างาม เพราะฉะนั้นจะร่างรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ ถ้าแก้ทุกอย่างแต่ไม่แก้ตัวเอง ไม่เคยแพ้เลยจะชนะอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้

ขณะที่ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ชี้แจงกรณี นายชาญวิทย์ ผลชีวิน อภิปรายโดยยกตัวอย่างคำพูดของวุฒิสมาชิก Elizabeth Warren ซึ่งความจริงกล่าวว่า "ประชาชนไม่ควรนิ่งดูดาย ปล่อยให้โครงสร้างรัฐธรรมนูญสถาบันต่างๆ ทำงานไปเอง เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพราะประชาธิปไตยดูแลตัวเองไม่ได้ นิติรัฐดูแลตัวเองไม่ได้ ประชาชนต้องเป็นคนดูแล เพราะคนที่มีเงินและมีอำนาจตลอดมาที่คิดว่าไม่ใช้กฎเกณฑ์เดียวกับคนทั่วไป"แต่ภาพที่ขึ้นจอในสภาคือเฟคนิวส์ที่ฝ่ายขวาเอามาใช้เพื่อผลทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ตนได้อ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลแล้วตนนับถือความเสมอต้นเสมอปลาย เพราะถ้าย้อนกลับไปในวันที่บอกว่าจะไม่ทำรัฐประหาร นายกรัฐมนตรียังคงคาแรกเตอร์"พินอคคิโอ" คงความเจ้าเล่ห์ เก็บซ่อนความต้องการที่แท้จริงภายใต้หน้ากากคนดี ประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย เตือนไม่ให้ใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม นายจิรัฏฐ์ อภิปรายต่อว่าตอนนี้สังคมไทยตาสว่างแล้ว การแสดงปาหี่ไม่สามารถซ่อนคำโกหกได้อีก หนังสือทุกฉบับที่ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เซ็นภายใต้หน้าปกสวยแต่ข้างในซ่อนเจตนาที่หลอกลวงประชาชน นายชวนเตือนว่าหากพูดเช่นนี้จะมีการประท้วง 
 นายจิรัฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า จะเชิญชวนให้ประชาชนมาพิสูจน์ว่าที่ตนพูดจริงหรือไม่ เริ่มจากหลักการและเหตุผล ว่าที่ต้องแก้ไขเพราะหลายมาตรายังไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยและสังคม โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพ การกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การถ่วงดุลอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยจัดตั้งส.ส.ร. แต่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ทำให้ท่านอยู่ในอำนาจต่อ และตราบใดที่ยังมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ก็ยังประกันการอยู่ในอำนาจ แต่อย่าอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้ปราบคอร์รัปชั่น หรือปฏิรูปประเทศ เพราะมันไม่ใช่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำไม่ได้ มีภารกิจเดียวคือการสืบทอดอำนาจ คสช.

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงว่าผู้อภิปรายเสียดสีพาดพิง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และพูดนอกประเด็น และย้ำว่าพรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง รวมเสียงในสภาได้มากกว่าไม่อย่างนั้น พรรคตนก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ด้านนายชวน กล่าวว่า นี่เป็นร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลเป็นคนเสนอ หรือนายกรัฐมนตรีเสนอ

นายจิรัฏฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า มาตรา 256 ของร่างรัฐธรรมนูญพรรคร่วมรัฐบาล แทบไม่มีการแก้ไข แต่แก้ไขการลงคะแนนเห็นชอบจากกึ่งหนึ่งเป็น 3 ใน 5 ตนเห็นว่าถ้าให้อำนาจ ส.ว.มาโหวต ส.ว. 25 คนสามารถยับยั้งการแก้กฎหมายของประชาชน 50,000 คนได้ แต่ร่างนี้ก็ยังยืนยันอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ต่างอะไรจากเอาคนพิการมือด้วนมากดโหวตเพราะคนที่โหวตจริงๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์

ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ  สมาชิกวุฒิสภา ประท้วงผู้อภิปรายว่า ส.ว. มาตามรัฐธรรมนูญ แต่นักการเมืองบางพรรค บางคน แอบไปอยู่ใต้กระโปรงเด็ก วันๆ คิดแต่จะล้มเจ้า

นายชวน ปิดไมค์ และเตือนไม่ให้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ด้าน ส.ส. พรรคก้าวไกล นายธีรัจชัย พันธุมาศ ประท้วงผู้ประท้วงว่าปัญญาชนไม่ควรพูดคำเช่นนี้ นายกิตติศักดิ์ ยอมถอนคำพูดว่าใต้กระโปรงเด็กและล้มเจ้า

นายจิรัฎฐ์ อภิปรายต่อว่า ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน เพราะเราไม่ต้องการให้มีการเเต่งตั้งจนเกิดการเเทรกเเซง การที่ร่างแก้ไขของรัฐบาลไปห้ามไม่ให้แก้หมวด 1-2 ไม่เข้าใจว่าคืออะไร ทำไมแก้ไม่ได้ ตนถามหน่อยว่ารัฐสภาแห่งนี้ ยังยืนยันหรือไม่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ถ้ายังยืนยันหลักการนี้ทำไม ส.ส.ร.ซึ่งเป็นตัวเเทนประชาชนจะแก้กฎหมายของประชาชนไม่ได้ การที่ประชาชนมีอำนาจแก้ได้ ไม่ได้เเปลว่าพวกเขาจะแก้ไขทุกข้อ

 ถ้าบอกว่าหมวด 1-2 ห้ามแก้ไขมันจะกระทบกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างนั้น ในหมวด 3 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนนี้แก้ได้ใช่หรือไม่ ถ้าประชาชนถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกละเมิดในร่างกาย กักขัง หน่วงเหนี่ยว ทรมาน ถูกลงโทษอย่างทารุณ อันนี้ไม่กระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช่ไหม มีเหตุผลใดที่ไม่อนุญาติให้ประชาชนแก้กฎหมายได้ทุกข้อ "ไม่ใช่สิ ผมต้องถามว่า ท่านเป็นใครถึงมีอำนาจไปจำกัด ลิดรอน สิทธิ ห้ามประชาชนแก้กฎหมายที่ใช้กับประชาชน หลังยึดอำนาจ ปี2490 มีการแก้ระบอบการปกครองโดยเพิ่มคำว่าอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ในหมวด1 ซึ่งหลังจากนั้นมีการแก้หมวด 2 อีกหลายครั้ง และทุกครั้งที่แก้เกิดขึ้นหลังจากการทำรัฐประหาร สรุป
ประชาชนต้องถือปืนออกไปใช่ไหม ถึงจะแก้กฎหมายได้ จะเอาอย่างนั้น จะอยู่อย่างนั้นหรือ หลักการที่ประชาชนสามารถแก้กฎหมายได้ทุกข้อเป็นเครื่องยืนยันระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในราชอาณาจักรไทย มันเเสดงถึงสิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทย และประกาศออกไปว่าผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเเห่งราชอาณาจักรไทยนี้ คือประชาชน นั่นหมายความว่า ผู้ใดยับยั้ง จำกัด ลิดรอนสิทธิตรงนี้ของประชาชน เท่ากับเขาผู้นั้นกำลังทำลายระบอบการปกครองของราชอาณาจักรไทย ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

‘เสรี’ ตัดพ้อ ส.ว.ถูกกล่าวหาไม่ยึดโยงประชาชน- พาดพิง "ก้าวไกล"  ประธานฯสั่งถอนคำพูด

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน การกล่าวหาวุฒิสภาแต่งตั้งจากเผด็จการ ไม่เชื่อมโยงประชาชน วุฒิสภาถูกพูดถึงในทางเสียหาย แต่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าที่เข้ามาทำหน้าที่ไม่ได้มาจากอำนาจเผด็จการ แต่เข้ามาโดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติ พร้อมระบุถึงการเข้ามาสู่อำนาจของ คสช. ว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้เข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะบ้านเมืองวิกฤต การกล่าวหาเป็นการเมืองเก่า ไม่ได้ทำให้เจริญก้าวหน้า

นายเสรี ยังกล่าวในฐานะที่เคยเป็น ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า ขณะนั้นประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น แต่ขณะนั้นนักการเมืองส่วนใหญ่เองก็ไม่ชอบรัฐธรรมนูญปี 2540 เช่นกัน และการให้ ส.ส.ร.มาจากประชาชน พูดแล้วสวยหรู แต่ต้องคิดถึงกระบวนการ ต้องตัดสินใจด้วยเหตุผลและข้อมูล บนพื้นฐานประโยชน์คนทั้งประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 เอง เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ห้ามให้ ส.ส.ร.เป็น ส.ว. ซึ่งตนเองก็สมัครเป็น ส.ว. และได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งประธานรัฐสภาเองก็ทราบปัญหา ส.ว.หากมาจากการเลือกตั้ง ก็มีฐานที่มาจาก ส.ส. ถูกเรียกว่าสภาผัวเมีย สภาหมอนข้าง สุดท้ายยึดโยงพรรคการเมือง แยกจากกันกับ ส.ส. ไม่ออก สุดท้าย ส.ว.ก็ถูกแทรกแซง รับเงินจาก ส.ส. จนขาดความอิสระ เวลาเลือกองค์กรอิสระก็ถูกแทรกแซง จนสุดท้ายเป็นวิกฤตประเทศ

นายเสรี กล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุด ที่คิดว่ามาจากประชาชน บางครั้งมีข้อจำกัด ต้องแก้ปัญหา จนมารัฐธรรมนูญปี 2550 ให้มี ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และจากการสรรหาครึ่งหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาปลา 2 น้ำขึ้นมาอีก มีการเขียนคุณสมบัติไม่ให้เป็นเครือญาติกันกับ ส.ส. เพราะฉะนั้นรูปแบบ ส.ว.ก็ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาแต่ละช่วงเวลา โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงให้ ส.ว.มาจากการเลือกโดย คสช. ซึ่งการทำหน้าที่ของ ส.ว.ก็อยู่บนพื้นฐานรักษาประโยชน์ประชาชนทั่วประเทศ ยอมรับว่าเป็นพวกเดียวกันแต่งตั้งมาเพราะเป็นคนที่ คสช. ไว้ใจ เป็นเรื่องปกติ

นายเสรี กล่าวว่า การเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างสมเหตุสมผล ไม่อยากชี้นำว่าจะสรุปอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามการเสนอให้มี ส.ส.ร. และบรรยากาศปัจจุบัน ที่มีการเรียกร้องทางการเมืองสูง ให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ถ้านึกภาพแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมาจากพรรคการเมืองเพราะมีฐานเสียง มีหัวคะแนน มีวิธีการเลือกตั้งชนะ และอาจเห็นการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่ซื้อเสียงมากที่สุด แต่ก็ไม่ค่อยกังวลใจ เพราะสุดท้ายคือการอ้างอิงประชาชน แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือความแตกแยก การดูหมิ่นใส่ร้านสถาบัน มีข้อเสนอที่คิดไปไกล พูดกันไกลมา ก้าวไกลจริงๆ

จนทำให้นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่าเป็นการอภิปรายพาดพิงมาถึงพรรคก้าวไกล ดูหมิ่นสถาบัน จึงขอให้ถอนคำพูดกล่าวหาพรรคก้าวไกลในเชิงดูหมิ่นสถาบัน ขณะที่นายเสรียืนยันว่าไม่ได้พูดว่าพรรคก้าวไกลซื้อเสียง ดูหมิ่นสถาบัน เพียงแต่ใช้ภาษาไทยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันก้าวไกล ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บอกว่าถ้าไม่ถอน จะถอนหงอก ถ้าไม่พูดภาษาไทย ก็ขอให้พูดภาษาคน แต่นายเสรียังยืนยันไม่ถอนคำพูดเพราะเป็นภาษาไทย ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค หากพูดว่าภูมิใจความเป็นไทยก็จะไปเป็นชื่อพรรคภูมิใจไทยอีก และมองว่าพรรคก้าวไกลร้อนตัว ถ้าไม่ได้ทำก็คงไม่รู้สึกอยู่แล้ว ขณะที่ประธานรัฐสภายืนยันให้ถอนคำว่าก้าวไกล จนสุดท้ายนายเสรียอมถอนคำพูด

จากนั้นนายเสรี อภิปรายต่อว่า การจะมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง มีผลกระทบกับหลายส่วน กังวลใจเมื่อการเลือกตั้งของ ส.ส.ร. เกิดขึ้น ก็จะมาจากฐานเสียง ส.ส. อยู่ดี รัฐธรรมนูญจึงเขียนให้ ส.ส.มีสิทธิ์ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างดี ซึ่ง ส.ว.จะเห็นด้วยเพราะมีเหตุผล เช่นการแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง การแก้ไขเรื่องที่ไม่สามารถใช้ได้จริง แต่ตอนนี้ ส.ส.ลืมว่าตัวเองมาจากประชาชนหรือไม่ จึงเสนอให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งซ้ำ ทำให้นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ประท้วงกรณีที่นายเสรีพาดพิงว่า ส.ว.ในอดีตไม่เป็นอิสระ รับเงินจาก ส.ส. โดยขอให้เอ่ยชื่อ ส.ว.ในอดีตที่ถูกครอบงำ

จากนั้นนายเสรี อภิปรายต่อว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ถูกมองว่าทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก แต่เข้าใจคนร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาดี หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องใด สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขหลายฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน สมัครสมานสามัคคีกันจึงจะแก้ไข หากใส่ร้ายเสียดสี ไม่เกิดความสามัคคี ก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ขณะที่นายขจิตร ประท้วงประเด็นที่กล่าวหา ส.ส.ใช้เทคนิคประท้วงเบรคการอภิปราย และกรณีกล่าวหา ส.ส.ในอดีต จ่ายเงินให้ ส.ว.โดยประธานรัฐสภาชี้แจงว่า การพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตเป็นสิทธิ์ของสมาชิก และการประท้วงก็เป็นสิทธิ์เช่นกัน จะมองว่าเป็นวิธีการขัดขวางการอภิปรายไม่ได้

นายเสรี สรุปตอนท้ายว่า การพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรพิจารณาให้สมประโยชน์ประชาชนทั้งประเทศ แต่ทั้ง 6 ญัตติ ทำให้เกิดคำถามเยอะ และสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ได้รับการปรึกษาหรือให้การพิจารณาก่อน จึงมีคำถามเยอะ หากมีโอกาสดูรายละเอียดมากกว่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์การพิจารณา แต่หากพูดเสียดสีกัน กล่าวหา ส.ว.ในทางเสียหาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีทางสำเร็จ

"จเด็จ" ฉุน กล่าวหา ส.ว.เป็นกากเดนทรราช ไม่พูดถึงความขัดแย้งในสภาที่เป็นต้นเหตุรัฐประหาร 

นายจเด็จ อินสว่าง  สมาชิกวุฒิสภา ถามประธานรัฐสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้าง ประชาชนจะกินดีอยู่ดี หรือประเทศจะมีความมั่นคงมั่งคั่งอย่างไรบ้าง ก่อนจะอภิปรายต่อไปว่า ปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน บ้านเมืองกำลังเดินไปด้วยดี บริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขดีเด่นในโลกต่อการควบคุมการระบาดโควิด ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราสามารถทำให้การลงทุนประคองตัวอยู่ได้ การค้าขายประคองตัวอยู่ได้ รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยเงินสงเคราะห์และมาตรการทางด้านเศรษฐกิจ อยู่ๆ ก็มีเหตุการณ์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่มีสาเหตุ แก้มาตรา 256 กระทบไปถึงอำนาจของ ส.ว. ไม่ได้พูดถึงเลยว่าแก้แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร บาปเคราะห์ทั้งหมดก็มาลงที่ ส.ว. หมดเลย ต้องปิดสวิตซ์ ส.ว. จนเพื่อนตนทนไม่ได้ถามว่าถ้าปิดสวิตซ์ ส.ส. บ้างจะเป็นยังไง

ประการต่อมาคือความเชื่อมโยง ส.ส. หลายคนพูดว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ตั้ง ส.ส.ร. จะเกิดรัฐประหาร ตนอายุเข้า 74 เห็นการรัฐประหารมาหลายครั้ง ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ทหารก็รักประชาธิปไตยเหมือนกัน แล้วก็พูดกันถึงปลายน้ำทุกที ไม่พูดถึงต้นน้ำและกลางทางว่าเพราะอะไรถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็เกิดในห้องนี้ทั้งนั้นที่ทำให้เกิดความร้าวฉาน โดยลึกๆแล้วเขาไม่อยากทำหรอก ตนรู้ดี ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ การปฏิวัติรัฐประหาร

ประการที่สาม การแก้รัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับวันที่ 19-20 ที่ผ่านมา แต่ความจริงทำให้เห็นว่าไม่ได้เรียกร้องประชาธิปไตยอะไรเลย นอกจากโจมตีสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นที่รักของคนทั้งชาติ สมาชิกบางพรรคก็เห็นดีเห็นงามไปด้วย เหมือนชื่นใจที่ได้คุกคามดูหมิ่นสถาบันที่คนทั้งชาตินับถือ ไม่ทราบว่าเพื่อนสมาชิกอีกหลายคนยอมได้ยังไง ตนพูดเพื่อความเชื่อมโยง เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่ามันเกี่ยวข้องกัน ตนบอกทุกคนว่าการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้แก้เพื่อประโยชน์ประชาชนแท้จริง แต่แก้เพื่อผลประโยชน์ของบางคน บางกลุ่มบางพรรค

ตนเห็นว่าที่ผ่านมายังไม่มีใครพูดว่าแก้รัฐธรรมนูญมาตราไหนแล้วจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างไร ประเทศชาติจะได้ประโยชน์มากมายแค่ไหน หรือถ้าไม่แก้จะทุกข์เข็ญเดือดร้อนอย่างไร ต้องบอก ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่เขากำหนดให้แก้ยาก เพราะมันใช่กฎหมายทั่วไป ถ้าแก้ง่ายเดี๋ยว 3-5 ปีก็แก้กันอีก นักการเมืองหลายคนพูดถึง ส.ว. ว่ามาจากการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เป็นกากเดนทรราช เขาพูดปลายน้ำ ไม่พูดเลยว่า ส.ว. ชุดนี้มาจากรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงประชามติ 15.2 ล้านคนให้ความเห็นชอบ ใครบอกว่ายังมีคนไม่ออกเสียงอีกกว่า 20 ล้านคน จะกล้าบอกไหมว่าไม่ออกเสียงทั้งหมดคือไม่เห็นด้วย ตรรกวิทยาไม่ช่วยอะไรเลย การตั้ง สสร. ตั้งทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง ใช้งบประมาณ1.7-2 หมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้ก็มาจากภาษีอากรของประชาชนเช่นเดียวกัน สุดท้ายตนของย้อนคำถามว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญอุณหภูมิทางการเมืองจะสูงปรี๊ด ความขัดแย้งทางการเมืองจะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่แก้ไม่ใช่เหตุผลนี้ แต่ถ้าแก้แล้วทำให้โควิดดีขึ้น การทำมาหากินดีขึ้น ประเทศชาติมีความมั่นคงมั่งคั่งขึ้น มีการลงทุนสูงขึ้น แก้ไปเถอะ

แต่เราต้องอยู่กันด้วยเหตุผลอย่าเอาแต่ใจตัวเอง และขอให้ประธานสภาอย่าให้แค่คนนั้นคนนี้พูดแต่ต้องบอกว่าประเทศกำลังมีปัญหาหลายด้าน ต้องร่วมกัน 750 คนทำอะไรเพื่อชาติบ้านเมืองดีกว่าจะเสียเวลาไปกับเรื่องเหล่านี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ