ข่าว

"ศรีสุวรรณ" จี้ "เลขา กกต." ทบทวนตัดตอน31พรรคการเมืองกู้เงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศรีสุวรรณ" จี้ "เลขา กกต." ทบทวนตัดตอน 31 พรรคการเมืองกู้เงินสงสัยเพื่อไทย-ภูมิใจไทยหลุดได้อย่างไร

23 ก.ย.63  เวลา 10.00 น.ที่สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการฯ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อเลขาธิการ กกต. สืบเนื่องจากเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แถลงว่าได้ยุติเรื่องการตรวจสอบว่าพรรคการเมืองจำนวน 31 พรรคการเมือง มีการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมือง เป็นการกระทำหรือนิติกรรมที่ขัดหรือยังต่อมาตรา 62 ประกอบมาตรา 72 ของ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เช่นเดียวกับที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างว่า ทุกพรรคมีสิทธิกู้ยืนเงินหรือยืมเงินทดรองจ่ายจากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคฯ ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อคน ต่อพรรค ต่อปี ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จึงถือว่าการกู้ยืมเงินของทั้ง 31 พรรค ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายนั้น

การอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 5/2563 ลงวันที่ 21 ก.พ.63 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่า “การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องอาศัยรายได้ของพรรคการเมืองซึ่งกฎหมายกำหนดแหล่งที่มาไว้ตามพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ม.62 ดังนั้น เงินส่วนใดที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่าย ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมิได้มีแหล่งที่มาและวิธีการได้มาตามที่กฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่า เป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติ ม.62 ถึงแม้ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มิได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมสำหรับพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน และเงินกู้ยืมแม้มิได้เป็นรายได้แต่ก็เป็นรายรับและ เป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงกระทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น”
         

ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ชี้ชัดถึงขนาดนี้แล้ว แต่เหตุใดนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงรีบตัดตอน ไม่นำความดังกล่าวรายงานให้ กกต.เพื่อมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นกระบวนความตามครรลองของกฎหมาย เหตุใดจึงกล้าที่จะวินิจฉัยเอาเสียเอง เช่นนี้จะถือว่าชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร

ที่สำคัญตามข้อมูลการรายงานค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่ กกต.รายงานพบว่ามี 3 พรรคการเมืองที่มีการยืมเงินทดรองจ่ายจากกรรมการ คือ พรรคภูมิใจไทยกว่า 30 ล้าน พรรคเพื่อไทยกว่า 13 ล้าน และพรรคประชากรไทยกว่า 12 ล้าน เหตุใดจึงไม่เข้าข่ายตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำเหตุผลดังกล่าวมายื่นให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทบทวนความเห็นและให้ 7 กกต.มีมติส่งกรณีเงินกู้ของ 31 พรรคการเมืองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติได้ นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ