ข่าว

"อดิศักดิ์" ค้านฉีกรธน.ทั้งฉบับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อดิศักดิ์" อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เรียกร้องไม่ให้รีบแก้ รธน. 60 ทั้งฉบับ ชี้ ยังมีเรื่องสำคัญต้องช่วยกัน

22 ก.ย.63 นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงกรณี ที่เรียกร้องไม่ให้รีบเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ ด้วยการเลือกตั้ง สสร. มายกร่างแล้วเอาไปให้ประชาชนลงมติว่าจะรับหรือไม่  ทั้งๆที่มีเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันทำอย่างน้อยสองเรื่อง คือ 
1) การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังหดตัวอย่างต่อเนื่อง
2) การป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะต้องใช้เวลาอีกประมาณหนึ่งปี

ในเรื่องเศรษฐกิจ เราควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการระดมผลิตสินค้าอาหารส่งไปขายต่างประเทศ เรามีศักยภาพมากที่จะผลิตและส่งสินค้าทั้งที่เป็นวัตถุดิบ อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปที่สะดวกแก่การบริโภค เอาแค่ประเทศจีนที่นอกจากเรื่องโควิด-19 แล้วยังประสบกับภัยธรรมชาติอย่างรุนแรงในหลายมณฑล ต้องการนำเข้าอาหารเป็นจำนวนมาก เป็นต้น 

ในเรื่องโควิด-19 รัฐบาลก็ได้ทุ่มเทการป้องกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดการระบาดรอบสองขึ้นเมื่อใด เราก็ต้องลงทุนทั้งในการเฝ้าระวัง การดูแลรักษา และย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจที่ยังหดตัวอยู่ก่อนแล้ว

ทำไมท่านสส.ทั้งหลายจึงเอาใจจดจ่ออยู่กับการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ ทั้งๆที่เพิ่งใช้มาเพียง 3 ปี มีประชาชนกว่า 16 ล้านคนลงประชามติยอมรับให้ใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับบางเรื่องบางมาตรา แต่ยอมรับในภาพรวม เสียงของประชาชนมิใช่เสียงสวรรค์แล้วหรือ

ที่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ 2560 ทิ้งทั้งฉบับเพราะอะไรกันแน่ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ป้องกันและกำจัดนักการเมืองที่เข้ามาเพื่อโกงบ้านเมืองใช่ไหม หรือเป็นเพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจของคสช. ที่เขียนบทเฉพาะกาล (มาตรา 272) ให้ในห้าปีแรกให้สว.มีอำนาจไปร่วมกับสส.ในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี หรือเพราะเหตุใดจึงต้องฉีกทิ้งทั้งฉบับ แทนที่จะแก้ไขเฉพาะมาตราที่เห็นว่าควรแก้ไข

ลองย้อนกลับไปมองเหตุการณ์จริงที่มีการเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคพลังประชารัฐ (ได้รับคะแนนสูงสุดแต่มีสส.เป็นอันดับ 2) ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคเพื่อไทย (มีจำนวนสส.เป็นอันดับ 1 แต่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 2) แทนที่จะเสนอผู้แทนของพรรคเข้าแข่งขันกับพลเอกประยุทธ์ กลับเห็นด้วยกับการเสนอชื่อนายธนาธร จากพรรคอนาคตใหม่เข้าแข่งขันแทน ในที่สุดพลเอกประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้รับคะแนนเสียงจากสส.มากกว่าที่นายธนาธรได้รับ ในขณะที่สว.เกือบทั้งหมดเลือกพลเอกประยุทธ์ 

สมมุติว่าท่านเป็นสว.ในขณะการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น ท่านจะเลือกพลเอกประยุทธ์ หรือเลือกนายธนาธร นี่แหละคือการฝากความหวังไว้กับสว.ในการคานอำนาจของสส. ที่อาจจะใช้แทคติกทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก เหมือนกับกรณีที่คนที่ไม่มีประสบการณ์และความสามารถแต่กลับได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะจากสส.เท่านั้น ถึงผมจะไม่เอ่ยชื่อใครคนนั้น ผมเชื่อว่าท่านคงทายไม่ผิด

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังขอร่วมเรียกร้องว่าควรยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสว.ร่วมกับสส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

โดยสรุป ที่ผมไม่เห็นด้วยกับการที่สส.ส่วนใหญ่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ โดยการเลือกตั้งสสร.ขึ้นมายกร่าง ซึ่งจะต้อง
1) ทำประชามติก่อนว่าประชาชนจะให้แก้ไขทั้งฉบับไหม
2) ต้องเลือกตั้งสสร.
3) ต้องทำประชามติว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญที่สสร.ร่าง
รัฐต้องลงทุนมหาศาลยกร่าง และให้ประชาชนไปลงคะแนนถึง 3 ครั้ง ทั้งๆที่รัฐมีข้อจำกัดเรื่องการเงินที่ต้องใช้เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ผมจึงขอเรียกร้องให้สว.ทั้งหลาย โปรดใช้วิจารญญาณทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ในการคานอำนาจสส. ด้วยการพิจารณาความจำเป็นในการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเพียงใด คุ้มกับการลงทุนในภาวะวิกฤตแบบนี้หรือไม่

อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ
22 ก.ย. 63
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ