ข่าว

"สว.สมชาย" ยก 5 ข้อ สวนกลับ "105 อาจารย์" หนุน"ม็อบเยาวชนปลดแอก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สว.สมชาย" ยก5ข้อ สวนกลับ "105 อาจารย์" หนุน"ม็อบเยาวชนปลดแอก" ชี้ การมีสถาบันยึดเหนี่ยวดีกว่านักการเมือง ลั่น หลังจากนี้ต้อง "รับผิดชอบ" สิ่งที่จะตามมา

13 ส.ค. 63 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ถึง กรณีข้อเสนอ 10 ประการของกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาชุมนุม และ ข้อสนับสนุนของ105 อาจารย์ โดยระบุว่า 

ข้อเสนอ 10 ประการของเด็ก กับ ข้อสนับสนุนของ 105 อาจารย์
/ ศาสตราจารย์ ดร. ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ รศ. ดร. สุวินัย ภรณวลัย
อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานะปัจจุบันคือข้าราชการบำนาญ
/////

ในฐานะที่เราสองคนเคยประกอบอาชีพเช่นเดียวกับพวกคุณจึงขอใช้สิทธิเสรีภาพบ้าง

(1) ประเด็นเรื่องการแสดงออกของเด็กที่ธรรมศาสตร์รังสิต เป็นเสรีภาพที่ปราศจากหน้าที่ความรับผิดชอบ แล้วพวกคุณที่อาบน้ำร้อนมาก่อนจะไปให้ท้ายเด็กว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องไปได้อย่างไร?

ประเทศไทยถ้าจะว่าไปแล้วมั่นคงมาโดยตลอดก็ด้วยปัจจัยหลายประการแต่ที่สำคัญลำดับต้นก็คงไม่พ้นเรื่อง "สถาบัน" เพราะมันก่อให้เกิด ทุนทางสังคม (Social Capital) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

การมี "สถาบัน"อยู่ในสังคมมันเป็นของดี เพราะหมายถึง การมีขอบเขต (Limit) ที่สังคมยอมรับให้กระทำได้ ดังนั้นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในประเทศไทยจึงไม่สามารถเป็น "สถาบัน" ให้ประชาชนยึดเหนี่ยวเอาไว้ได้เพราะการกระทำของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ผ่านมาเป็นไปในลักษณะของการไร้ซึ่งขอบเขต หรือพูดได้ว่าทำตามอำเภอใจ

ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วจะไปล้มล้าง "สถาบัน" ที่เป็นของดีอยู่คู่บ้านเมืองมานานไปด้วยเหตุอันใด มีสถาบันย่อมดีกว่าไม่มีแน่นอน มีเหตุผลใดที่ต้องไปถกเถียงจำกัดขอบเขตสิ่งดีเล่า?

(2) ข้อเสนอ 10 ประการของเด็ก (ที่ผู้ใหญ่เป่าหูมาโดยตลอด) จึงเป็นการบ่อนทำลายสถาบันนี้โดยตรง

เสรีภาพในการแสดงออกจึงมิใช่เช่นที่ผ่านมา มันขาดความรับผิดชอบ ไม่ได้เสนอทางออกอันใดที่ดีกว่าเอาไว้ให้เลยแม้แต่น้อย มองไม่ต่างจากนักการเมืองที่ชอบ "ทุบ ทำลาย และสร้างใหม่" (วัฒนธรรมคอนกรีต) เพราะรื้อสร้างใหม่มันดูดีมีผลงาน ต่างจากการอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้ที่คนมักไม่สนใจ

(3) สำหรับ 105 อาจารย์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทำไมพวกคุณจึงใจร้ายไปให้ท้ายเด็กในทางที่ผิดเช่นนี้เล่า?

พวกคุณทำตัวราวกับเป็นหุ่นยนตร์หรือเครื่องจักรที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า "สามัญสำนึก"

จะมาถกเถียงในเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพรักไปทำไม มันต่างจากการให้ใครก็ไม่รู้มาด่าว่าบุพการีของคนอื่นที่ตรงไหน?

พวกคุณทำตัวเป็นเกลือที่ไม่รู้จักความเค็มโดยแท้

เท่าที่ดูจากรายชื่อส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ/พนักงานของมหาวิทยาลัย พวกคุณไม่รู้เลยหรือว่าเงื่อนไขการจ้างข้อสำคัญคือ

"เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"

ขณะที่รัฐธรรมนูญก็เป็นกติกาที่ทุกคนต้องยอมรับ ถ้าจะไม่รับไม่ปฏิบัติตามโดยอ้างว่าไม่พอใจในเงื่อนไขบางอย่างที่คนส่วนใหญ่เขายอมรับ ประพฤติตัวเยี่ยงนี้ถือว่าเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่?

หรือว่าประชาธิปไตยต้องเป็นแบบที่พวกคุณเห็นชอบด้วยเท่านั้นหรือ?

(4) คิดเฉพาะ​จำนวนอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ... อาจารย์ 105​ คนจาก​ 39,430​ คน คืออยู่ที่​ 0.26% เท่านั้น

อาจารย์​ 0.26% จากอาจารย์ทั้งหมด​ กำลังอ้าง​"สถานะพิเศษ" ของตนเอง​เพื่อสนับสนุนข้อเสนอที่บอกว่าไม่ควรมีใครมีสถานะพิเศษในสังคมไทย

ถ้านี่เป็นข้อสอบวิชาการใช้เหตุผล​ อักษรศาสตร์​ จุฬาฯ​ ปี​ 1​ ควรจะเฉลยคำตอบว่าอะไร?

พวกคุณประกาศตัวเรียกร้อง "ประชาธิปไตย" แสดงตัวสนับสนุนม็อบเยาวชนปลดแอกที่ท้าชนสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ... ถ้าพวกคุณร้อนวิชาอยากเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทั้งๆที่ตัวเองเป็นแค่เสียงส่วนน้อยถึงน้อยมาก​ ก็ควรหัดเกรงใจคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้บ้าง

(5) ถ้าพวกคุณจะซื่อสัตย์กับตัวเองก็ควรลาออกไปเพราะพวกคุณไม่ได้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่ประการใด

ไปเป็นเสรีชนเถิดจะดีกว่าไหม?

เพราะการลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ของพวกคุณมีนัยยะทางการเมืองที่ต่างจากการร่วมลงชื่อในแถลงการณ์อื่นๆที่พวกคุณเคยลงชื่อมาทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง

หมึกหยดเดียวที่เซ็นชื่อลงไปในสัญญาย่อมมีผลตามกฏหมายทันทีฉันใด การเข้าร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ของพวกคุณก็ย่อมมีผลเยี่ยงนั้น

... หลังจากนี้พวกคุณก็ต้อง "รับผิดชอบ" สิ่งที่จะตามมาด้วยเช่นกันเหมือนม็อบเยาวชนปลดแอก

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ