ข่าว

"จตุพร" วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและการปรับครม. เชื่อ ยากทุกขั้นตอน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"จตุพร" วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและการปรับครม. เชื่อ ยากทุกขั้นตอน ชี้ ยิ่งยื้อไปถึงกลางเดือนสิงหาคมยิ่งยากกว่านี้ พร้อมระบุ ยุบสภาก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้น เพราะกติกายังคงเดิม เตือน ทุกฝ่าย อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ ว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องยากทั้งสิ้น ไม่ว่าเรื่องที่ดูเหมือนจะง่ายดายแต่ทั้งหมดกลายเป็นเรื่องยากกับภายใต้สภาวการณ์ของประเทศไทยที่ชั่วชีวิตหนึ่งเราอาจจะพึ่งเคยเห็นกันครั้งแรก  อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์วิกฤตขณะนี้ตนเห็นว่าทุกเรื่องไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามอยู่ในสถานการณ์ที่ยากทั้งสิ้น ซึ่งการปรับ ครม. ตอนแรกใครก็คิดว่าง่าย สี่กุมารยังไงก็พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ แต่ลืมคิดไปว่ากลุ่มสี่กุมารนั้น บวกหนึ่งสมคิดก็มีประสบการณ์และบทเรียนมากมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นั้นเคยอยู่กับพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ปี 2544 และก่อนหน้านั้นก็มีความสนิทมักคุ้นกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ดังนั้นเส้นทางทางการเมืองที่ยาวนานจะเห็นได้ชัดเจนว่าคณะรัฐประหารต้อง 2 ชุดไม่ว่าจะเป็นชุด 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 นายสมคิดจะมีบทบาททั้งสิ้น  
 

และสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีห้วงระยะเวลาหนึ่ง นายสมคิดก็เข้าไปทำเนียบรัฐบาลจะไปบัญชาการเรื่องเศรษฐกิจแต่ถูกกลุ่มคนที่สนับสนุนให้มีการยึดอำนาจในขณะนั้นไม่พอใจก็ต้องออกมาจากทำเนียบรัฐบาล แต่การจัดความสัมพันธ์ก็ยังมีอยู่ และก่อนหน้านั้นที่ช่วงขณะพรรคไทยรักไทยบริหารประเทศเมื่อย้อนกลับไปดูนั้นก็เห็นว่าการดำรงอยู่ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์นั้นไม่ธรรมดา ชนิดที่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตรก็ตกใจว่าสถานการณ์ในขณะตอนปลายก่อนที่จะมีการล้มกระดานกันนั้นนายสมคิดอยู่ในบทบาทไหน แต่ตนไม่ต้องการอธิบายความให้เกิดปัญหากัน แต่บอกว่าไม่ธรรมดาจริงๆ และนึกไม่ถึงว่านายสมคิดจะวางแผนได้แยบยลและ ไปไกลถึงขนาดนั้น  
 
และหลังจาก พล.อ.สุรยุทธ์ ไปก็ปรากฏว่ามีการตั้งพรรคการเมืองลงเข้าแข่งขันชื่อพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นพรรคที่มีความพร้อมมากที่สุดแต่บังเอิญว่าประชาชนไม่พร้อมจะเลือก ต่อมาเกิดการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ถามว่าทำไมพรรคพลังประชารัฐต้องใช้บริการของทีมนายสมคิด และ 4 กุมารเป็นผู้เริ่มต้นเข้า ไปจัดการโครงสร้างพรรคเเทบเบ็ดเสร็จ และที่สำคัญหลักจากมีอำนาจในรอบนี้ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา มีการจัดความสัมพันธ์กับสื่อสารมวลชนอย่างเป็นระบบ หลายคนคิดว่า บรรดาแทคโนเเครต เหล่านี้ไม่มีความเท่าทันทางการเมือง แต่มารอบนี้ตนบอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา และทันทีที่ยกชื่อโฆษกรัฐบาลมาเป็นหัวหน้าทีมบริหารเศรษฐกิจนั้นจะโดยตั้งใจหรือไม่นั้นเท่ากับเป็นการยกระดับนายสมคิด และ 4 กุมารให้ขึ้นมาเหนือกว่า ภายใต้สถานการณ์นั้น 

ดังนั้นการปรับ ครม.จะไม่ง่ายในสถานการณ์นี้เพราะเมื่อใช้ในระบบโควตา ในซีกของพรรคพลังประชารัฐจะต้องไปหารกับบรรดาคณะผู้มีอำนาจตัวจริงคือ 3 ป. และปอใหญ่ที่สุดคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ภายใต้เศรษฐกิจแบบนี้ จะหาคนใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามานั้นยากที่สุด เพราะคนที่รู้ว่า นรก หรือ สวรรค์ ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามา 
 
และเมื่อสถานการณ์การปรับ ครม.ยืดยาวออกไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคมก็จะยากกว่านี้ โดยเฉพาะตัวเลขโควตาตามสัดส่วนเมื่อแบ่งกันแล้วจัดอย่างไรก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นหลักคิดในการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจนั้นต้องคิดต้องเปลี่ยนตั้งแต่ก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2564 ดังนั้นตนประเมินว่าการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องยาก 
 
ทั้งนี้ นายจตุพร กล่าวด้วยว่า สำหรับทางออกที่บอกว่ายุบสภานั้นคำตอบคือยากเช่นเดียวกันเพราะภายใต้เศรษฐกิจแบบนี้ อย่าไปยึดถือตอนเลือกตั้งซ่อม เพราะยังไงรัฐบาลก็ได้เปรียบทุกกรณี แต่หากเลือกตั้งใหญ่ทั้งประเทศผลลัพธ์จะไม่เป็นอย่างนั้นเพราะจะต้องไปกระจายหาเสียงกันและสถานการณ์ก็ไม่ง่าย และที่สำคัญที่สุดคือกติกาไม่เปลี่ยนแต่ตนเชื่อว่าเมื่อเดินไปถึงจุดหนึ่งบางครั้งก็ไม่มีทางเลือก การเมืองบนบางกระดานดูเหมือนว่ามีทางเลือกแต่เมื่อถึงจุดหนึ่งซึ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมนี้จะหนักที่สุดและจะหนักขึ้นเรื่อยๆ และที่น่ากลัวที่สุดคือประชาชนพอใจหรือไม่ หากประชาชนไม่พอใจด้วยแล้ว และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ท่ามกลางความอดอยากหิวโหยนั้นจะเป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วง เช่นการยุบสภาภายใต้กติกาเดิมนั้นไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหา แต่อยู่ไปก็ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ตั้งคำถามต่อไปว่าหากอยู่ไปรัฐธรรมนูญจะได้แก้ไขหรือไม่ ก็แก้ไม่ได้ ไม่ว่าจะไปทางซ้ายหรือขวาก็ยากทั้งสิ้น ดังนั้น การยุบสภาก็อย่าประมาทและ เมื่อยุบสภาไปแล้วอย่าคิดว่าจะมีการเลือกตั้งเพราะตนไม่เชื่อว่าการยุบสภารอบนี้จะมีการเลือกตั้งเพราะด้วยสถานการณ์และปัจจัยต่างๆไม่มีทางจะดีขึ้น เพียงแต่ทรงๆไว้ในช่วง 2 ปีนี้ ดังนั้นปัญหาภายในของรัฐบาล และฝ่ายค้านก็ไม่แข็งแรง ประชาชนมีความยากลำบาก เหล่านี้เชื่อว่าประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่สำคัญ 
 
และตนยังเชื่ออีกว่า หากประเทศไทยยังไม่คิดอ่านที่จะระดมคนมีศักยภาพมาช่วยแก้ไขปัญหาก็ยาก และวิธีคิดการจัดงบประมาณรายจ่ายก็เป็นตัวอธิบายว่ายังไม่รู้ร้อนยังไม่รู้หนาวว่าสถานการณ์ของประเทศไทยไปถึงอย่างไร แต่เชื่อว่าคนไทยจะได้มองเห็นในอีกไม่นาน ดังนั้นตนยังมองมุมมองของตนในฐานะคนวิเคราะห์ทางการเมืองว่าสถานการณ์จะเป็นตัวกำหนด แต่จะไม่ใช่คนเป็นตัวกำหนดเพราะในสถานการณ์ปกติคนจะกำหนดได้ แต่เมื่อสถานการณ์เลยเถิดไปแล้วคนจะกำหนดอะไรไม่ได้ซึ่งตนก็เห็นมาหลายรัฐบาล  
 
ดังนั้นการจะอยู่หรือไปของรัฐบาลไม่ใช่จำนวนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลในอดีต ก็ไปด้วยเสียงข้างมากกันทั้งนั้น และตนเชื่อว่าเดือนหน้าอาจจะมีการคิดในการตรึงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้อีก เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินยังเป็นสิ่งจำเป็นกับรัฐบาลโดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรีในการบริหารสั่งการ ดังนั้นตนยังมองว่า ยากทุกขั้นตอน 
 
ต่อมาเมื่อถึงจุดยากขนาดนี้และเชื่อว่าหลายคนก็มีความรู้สึกเพียงแต่ว่าการรับฟัง ด้วยสมาธิสั้น และมีความอดทนต่ำ ดังนั้นสภาพการหลายๆเรื่องนั้นตนพยายามบอกว่า เวลานี้แต่ละฝ่ายต้องไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว และต้องระดมคนที่มีความเท่าทันในทุกๆด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ว่ามุมมองสถานการณ์ของประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนี้ควรที่จะหลอมรวมจิตใจของคนภายในชาติ หากใครมีศักยภาพเรื่องอะไรก็ระดมมาช่วยกัน แต่หากยังมองเขาเป็นเขา มองเราเป็นเรา ก็จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเลยเถิดกว่า การมานั่ง มองเขาเป็นเขา มองเราเป็นเรา  
 
นอกจากนี้ นายจตุพรยังเชิญชวนประชาชนรวมกันเขียนจดหมาย ส่งให้กำลังใจแกนนำ นปช.ทุกเรือนจำ เหมือนอย่างที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช.ได้ทำมานั้นอย่างน้อยที่สุด เป็นการต่อลมหายใจให้กับพี่น้อง แกนนำ นปช.ที่อยู่ในเรือนจำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ