ข่าว

 พิจารณาร่าง พ.ร.บ. โอนงบฯ เริ่มแล้ว นายกฯยัน เป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาผู้แทนราษฎร เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายแล้ว ขณะที่นายกฯแจง ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงแก้ไขภัยพิบัติธรรมชาติ ภัยแล้ง และอุทกภัย ยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง 

วันที่ ( 4 มิ.ย. )ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เวลา 09.30น. โดยมีระเบียบวาระการประชุมที่ต้องติดตามคือ ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ... ซึ่งเป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ของหน่วยงานรับงบประมาณเป็นบางรายการ ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นจำนวน 88,452,597,900 บาท 

 โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงผลการหารือร่วมกันของฝ่ายค้านและรัฐบาลว่า มีการตกลงกันว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 1 วัน ฝ่ายค้านใช้เวลา 6 ชม. ส่วนรัฐบาล 4 ชม. จากนั้นจะเป็นการตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 49 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงมติในวาระที่ 1 ได้ในเวลาประมาณ 19.00-20.00น.

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการวิปฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้น กล่าวว่า เข้าใจดีว่ารัฐบาลต้องการเร่งรัด จะพยายามอยู่ในกรอบเวลาให้จบวันนี้ในวาระที่ 1 แต่ต้องไม่เสียรายละเอียดสาระของ พ.ร.บ. ยืนยันจะใช้เวลาทุกนาทีให้มีประโยชน์ 7 ชั่วโมง อาจจะเกิน 20.00 น.ไปบ้าง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ว่า ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจาก"โควิด-19" รวมถึงการแก้ไขภัยพิบัติธรรมชาติ ภัยแล้ง และอุทกภัย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้จ่ายงบกลางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้งบกลางที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นที่ต้องโอนงบประมาณจากหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรร 

 นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การตราร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฉบับนี้ มีความสอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และยังได้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 โดยงบประมาณที่ดำเนินการโอนนั้น จะเป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ ซึ่งได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ในการโอนงบประมาณ อาทิ รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่มีการเบิกจ่าย สัมมนา ฝึกอบรม การเดินทางไปต่างประเทศ และรายจ่ายลงทุน

โดยกระทรวงที่มีการโอนงบประมาณสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 
1.กระทรวงกลาโหม 17,700,891,000 บาท 
2.กระทรวงศึกษาธิการ 4,746,652,900 บาท 
3.กระทรวงคมนาคม 3,427,484,400 บาท 
4.กระทรวงมหาดไทย 2,057,929,300 บาท 
5.กระทรวงสาธารณสุข 1,356,144,300 บาท

 พิจารณาร่าง พ.ร.บ. โอนงบฯ เริ่มแล้ว นายกฯยัน เป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ