ข่าว

"ก้าวไกล" เปรียบ รพ.ขนาดใหญ่สร้างไว้ให้คนที่ไม่ได้ป่วย! ชี้ พ.ร.ก. อุ้มตราสารหนี้ลำเอียง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ก้าวไกล" เปรียบ รพ.ขนาดใหญ่สร้างไว้ให้คนที่ไม่ได้ป่วย"ณธีภัสร์" ชี้ พ.ร.ก. อุ้มตราสารหนี้ลำเอียง - ช่วยทุนใหญ่มากกว่า SMEs เทียบเป็นรายต่างกว่า 1 หมื่นเท่า - อุ้ม 125 บริษัทซึ่งเกือบครึ่งอยู่ในเครือทุนใหญ่

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2563 นางสาว ณธีภัสร์ กุลเศรษฐ์สิทธิ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปราย พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. อุ้มตราสารหนี้ฯ โดยระบุว่า  พ.ร.ก. ฉบับนี้จะส่งผลให้เกิดการจัดตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF(Bond Stabilization Fund) ซึ่งกองทุนนี้จะไปลงทุนให้กับบริษัทที่ออกตราสารหนี้ต่างๆ เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยตราสารหนี้ที่จะได้รับการช่วยเหลือจะต้องเข้าเกณฑ์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด รวมทั้งต้องถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม investment grade หรือ BBB ขึ้นไป ซึ่งข้อเท็จจริงคือบริษัทที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับนี้เป็นบริษัทใหญ่ๆ ทั้งสิ้น

"ความลำเอียงของเรื่องนี้ คือ เป็นการช่วยเหลือที่บิดเบี้ยว เพราะสัดส่วนเงินที่ช่วยเหลือทุนใหญ่กับ SMEsต่างกันมาก โดยถ้าดูจากขนาดตลาด สินเชื่อธนาคารทั้งหมด 15.3 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อ SMEs 5.1 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลใช้เม็ดเงินเข้าไปอัดฉีดจำนวน 5 แสนล้านบาท คิดเป็นเพียง 10 % ของตลาดสินเชื่อ SMEs เท่านั้นเอง แต่เมื่อดูตลาดตราสารหนี้เอกชนทั้งหมดในประเทศไทยมีประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท และเข้าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ คือ 8.9 แสนล้านบาท แล้วรัฐบาลให้เม็ดเงินช่วยเหลืออยู่ที่ 4 แสนล้านบาท  คิดเป็น 45 % ของตราสารหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ นั่นหมายความว่า รัฐบาลให้เงินพยุงตลาดฝั่งทุนใหญ่มากกว่า SMEs ถึงเกือบ 5 เท่า"

นางสาว ณธีภัสร์ กล่าวอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.ก. ฉบับนี้กำหนดว่าตราสารหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีการระดมทุนจากแหล่งอื่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ถ้ามูลค่าตราสารหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ มีทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท แปลว่าอย่างมากตราสารหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ก็จะไม่เกิน 445,000 ล้านบาท แล้ววงเงินที่รัฐอัดฉีดเข้าไปคือ 4 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าครอบคลุมถึง 90 % และไม่ใช่ทุกบริษัทจะขอรับ เช่น โตโยต้าออกมาประกาศว่าจะไม่ขอใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ หมายความว่ารัฐบาลสามารถอุ้มคนรวยได้เกือบทั้งหมด แต่วงเงินที่รัฐตั้งให้ SMEs สามารถช่วย SMEs เพียง 10% เท่านั้น ที่น่าตกใจคือเมื่อตนไปค้นข้อมูลดู บริษัทที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือมีเพียง 125 บริษัทเท่านั้น ซึ่งเมื่อตั้งหารแล้ว จะหมายความว่าทุนใหญ่จะได้รับความช่วยเหลือรายละประมาณ 3,200 ล้านบาท ในทางกลับกัน SMEs จะได้รับจัดสรรเฉลี่ยประมาณรายละ 263,158 บาทเท่านั้น ซึ่งจะต่างกันเกือบ 12,167 เท่าเลยทีเดีย ทั้งนี้ ถ้าหากมองว่าทุนใหญ่ล้มจะกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง แล้วถ้า SMEs ล้มเศรษฐกิจไม่ได้เสียหายเหมือนกันหรือ แรงงานไม่ได้ถูกเลิกจ้างเหมือนกันหรือ

"ความยากในการหาแหล่งเงินทุนและเงินกู้ของทุนใหญ่และSMEs ต่างกันเยอะและ มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่างกันด้วย เนื่องจากมีสายป่านที่ยาวไม่เท่ากัน นอกจากนี้เมื่อไปดูในรายละเอียดบริษัทที่ได้ประโยชน์จำนวนเพียง 125 จาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ แต่เกือบครึ่งเป็นบริษัทในเครือทุนใหญ่ของประเทศไทย คือ CP, ThaiBev, SCG, และ ช.การช่าง ซึ่งเครือ CP มีตราสารหนี้ทั้งหมด 68 ตัวจาก 5 บริษัท รวมมูลค่า 185,386 ล้านบาท คิดเป็น 21% หรือ 1 ใน 5 ของขนาดหุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์, เครือ ThaiBev มีตราสารหนี้ทั้งหมด 21 ตัวจาก 3 บริษัทรวมมูลค่า 97,214 ล้านบาท คิดเป็น 11% ของขนาดหุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์, เครือ SCG มี 3 ตัวมูลค่า 75,000 ล้านบาท คิดเป็น 8 % ของขนาดหุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์, เครือ ช.การช่าง มี 8 หุ้นกู้ จาก 2 บริษัท มูลค่ารวม 15,185 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2 % ของขนาดหุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้รับประโยชน์ ถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องไปช่วยมหาเศรษฐีซึ่งเป็นทุนใหญ่เหล่านี้ ซึ่งก็มีข้อสังเกตว่า กลุ่มทุนเหล่านี้มีส่วนร่วมในเครือข่ายประชารัฐ ใกล้ชิดกับรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างแน่นแฟ้น ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ทุนใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้ ประกาศไม่รับความช่วยเหลือและไม่ใช่ผลประโยชน์จาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับไปคิดใหม่โดยนำเงินไปช่วย SMEs เพิ่มขึ้น"

ทั้งนี้ นางสาว ณธีภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่กังวลคือ อำนาจล้นฟ้าของคณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ อีกทั้งเมื่อเข้าไปดูรายชื่อและตำแหน่งของคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้น เป็นคนของ ธปท. และกระทรวงการคลังทั้งนั้น ถึงแม้จะมีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ผู้เสนอชื่อก็เป็นกระทรวงการคลัง ซึ่งก็อาจจะถูกครอบงำหรือสั่งการได้ จึงเกิดคำถามด้วยว่า เลือกกันเอง ทำงานกันเอง ประเมินผลกันเอง ชงกันเองและกินกันเองใช่หรือไม่ อีกหนึ่งเรื่องในอีกหลายเรื่องที่น่ากังวลคือ คณะกรรมการลงทุนจะมีตัวแทนจาก กบข. หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ด้วย ซึ่ง กบข.มีการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน รวมกันกว่า 1.1 แสนล้านบาท จึงถือเป็นผู้เล่นที่ใหญ่รายหนึ่งในตลาด ทำให้เกิดข้อกังวลคือในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ แต่เข้าไปมีอำนาจในฐานะคณะกรรมการการลงทุน ที่เป็นผู้เลือกว่าจะช่วยหรือไม่ช่วยตราสารหนี้ตัวไหน และรู้ข้อมูลล่วงหน้าว่าจะมีการอุ้มบริษัทใด เหล่านี้จะทำให้ กองทุน กบข. ได้ประโยชน์และได้เปรียบกองทุนอื่นๆหรือไม่ หากอ้างว่าเป็นกองทุนของรัฐจึงต้องเข้าไปมีบทบาท แล้วกองทุนประกันสังคม ที่มีจำนวนตราสารหนี้มากกว่า เหตุใดจึงไม่มีบทบาทในคณะกรรมการนี้ หรือกองทุนของข้าราชการสำคัญกว่ากองทุนของผู้ใช้แรงงานอย่างนั้นหรือ
 
"เหล่านี้คือการขัดกันแห่งผลประโยชน์และผิดหลักธรรมาภิบาลสากลอย่างชัดเจน ที่ห้ามไม่ให้ผู้เล่น และผู้กำหนดนโยบาย เป็นคนหรือกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้มาตรา 19 ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ที่เปิดช่องให้ ธปท. และ รมว.กระทรวงการคลัง สามารถเข้าซื้อขายตราสารหนี้ที่มิใช่ตราสารหนี้เอกชนที่ออกใหม่ หรือซื้อหุ้นกู้ในตลาดรองได้ ซึ่งมาตรานี้ ไม่มีการกำหนดขอบเขตและขนาดจำนวนเงินที่จะเข้าไปอุ้มอย่างชัดเจน หมายความว่าคือการตีเช็คเปล่าให้ รมว.กระทรวงการคลังคนเดียวมีอำนาจสั่งซื้อหุ้นกู้ตัวใดก็ได้ จำนวนเงินเท่าใดก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นตราสารหนี้ในตลาดรองมีความเสี่ยงสูงกว่า อีกทั้งมาตรา 19 นี้อาจจะขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรค 3 ด้วย"

นอกจากนี้ นางสาวณธีภัสร์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้ากฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อกู้วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด19 ยังมีหน้าตาเช่นนี้ สังคมไทยหลังโควิดจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีมากอยู่แล้ว ให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ อาจได้เห็นคนที่ไม่ได้ตายเพราะพิษโควิด แต่จะตายเพราะไม่มีเงินซื้อข้าวกิน นอกจากนี้กองทุน BSF เปรียบเสมือนโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่มาก แต่ทำไว้ให้กับคนที่ไม่ได้ป่วยไข้ แต่ในทางกลับกัน โรงพยาบาลสนามที่ทำไว้ให้คนป่วยจริงอย่างธุรกิจ SMEs และประชาชนกลับมีเตียงไม่พอ คนกลุ่มนี้ต้องยืนรออยู่หน้าโรงพยาบาล และนอนตายเกลื่อนกลาดอยู่หน้าโรงพยาบาลเพราะมีเตียงไม่พอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ตนจึงไม่สามารถยอมรับ พ.ร.ก. ที่ลำเอียง ฉบับนี้ได้

"ก้าวไกล" เปรียบ รพ.ขนาดใหญ่สร้างไว้ให้คนที่ไม่ได้ป่วย! ชี้ พ.ร.ก. อุ้มตราสารหนี้ลำเอียง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ