ข่าว

"ชวลิต" กังขา "พล.อ.ประยุทธ์" โหนแพทย์ กรณีไวรัสโควิด - 19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชวลิต" กังขา "พล.อ.ประยุทธ์" โหนแพทย์ กรณีไวรัสโควิด - 19 แต่กรณีแบนสารพิษกลับเทความเห็น"แพทยสภา" "สภาเภสัชกร" และ "สภาผู้แทนราษฎร"

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นต่อการตอบคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในประเด็นการแปรวิกฤตเป็นโอกาสจากวิกฤตไวรัสโควิด ด้วยยุทธศาสตร์ยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศผลิตอาหารปลอดภัยป้อนชาวโลก 

พล.อ.ประยุทธ์ ฯ ได้ตอบคำถามผมที่ถามว่า เหตุใดรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมติสำคัญ 2 มติ คือ มติสภาผู้แทนราษฎรที่ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้แบน 3 สารพิษ คือ 
พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต และมติของแพทยสภา และสภาเภสัชกร ที่ให้รัฐบาลแบน 3 สารพิษเช่นกัน แล้วรัฐบาลจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศผลิตอาหารปลอดภัยป้อนชาวโลกได้อย่างไร

โครงการนี้น่าจะแท้งตั้งแต่แรกหากหัวหน้ารัฐบาลไม่ปรับหลักคิดให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ใส่ใจสุขภาพอนามัยมากขึ้น ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ ได้ตอบคำถามของผม 2 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
1.เป็นเรื่องของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อมีมติอย่างไร รัฐบาลก็ปฏิบัติไปตามนั้น และหากยกเลิกการใช้ทั้งหมด ต้องหาวัสดุมาทดแทนให้เกษตรกร
2. มาตรฐานการนำเข้าสินค้าเกษตร ถ้าเขียนว่า 0% ขอถามว่า ที่ค้าขายกันทุกวันนี้ มาตรฐานสินค้า Codex จะเอาอย่างไร
ในคำตอบทั้ง 2 ประการดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ฯ ได้ฝากให้ผมไปทำความเข้าใจกับประชาชน (เกษตรกร) และผู้นำเข้าสินค้าเกษตรในมาตรฐานสินค้า Codex


ดังนั้น ผมจึงจำเป็นต้องตอบสังคม  รวมทั้งมีความเห็นแย้งต่อคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ ใน 2 ประเด็น ดังนี้
            1.คณะกรรมการวัตถุอันตราย ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และทั้งหมดแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร คือ รัฐมนตรี ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสามารถกำหนดเป็นนโยบายในการแบน 3 สารพิษได้ หากให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยประชาชนและชาวโลกเป็นสำคัญดังกล่าว สำหรับข้ออ้างที่ว่าหากยกเลิกการใช้สารเคมีร้ายแรง ให้หาวัสดุมาทดแทนให้เกษตรกร นั้น ความจริงประเด็นนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องหาวิธีการทดแทน เพราะกำกับ ดูแล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

            อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผมคงจะให้ข้อมูลท่านได้ในระดับหนึ่ง ขอแนะนำให้ผู้เกี่ยวข้องไปดูรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบเมื่อ 21 พ.ย.62 และประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งรายงานดังกล่าวไปยังรัฐบาลและส่วนราชการทึ่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว โดยในการจัดทำรายงานดังกล่าว คณะกรรมาธิการ ฯได้เชิญผู้บริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายมหาวิทยาลัย ปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งศึกษาองค์ความรู้ในโครงการพระราชดำริด้านการเกษตรของในหลวงรัชกาลทึ่ 9 ไปศึกษา จะได้ร่วมกันกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการส่งเสริม สนับสนุน ยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศผลิตอาหารปลอดภัยป้อนชาวโลก
            เฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้รัฐบาลต่อยอดสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการผลิตสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช, สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร  และต่อยอดสนับสนุนการทำงานของอาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นทางเลือกสำคัญในการเลิกใช้สารเคมีร้ายแรงทางการเกษตร


         2. สำหรับมาตรฐานการนำเข้าสินค้าเกษตร Codex นั้น เป็นข้ออ้างในการแบนสารเคมีร้ายแรงที่ใช้ทางการเกษตรจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น
ถั่วเหลือง และข้าวสาลี ขอเรียนว่า จากข้อมูลที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ ศึกษา พบว่า ประเทศในสหภาพยุโรป จีน เวียตนาม ได้แบนสารเคมีร้ายแรงทางการเกษตรดังกล่าวมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ไม่เห็นมีประเทศใดยกมาตรฐานสินค้า Codex มาเป็นเหตุผลล้มการแบนเลย ทั้ง ๆ ทึ่ประเทศเหล่านั้นนำเข้าสินค้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี ในปริมาณมหาศาลจากทวีปอเมริกา เขาก็สามารถบริหารจัดการได้
           ประการสำคัญ ขอให้รัฐบาลได้คำนึงว่า เหตุใดประเทศเวียตนามซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน และเป็นประเทศผลิตอาหารส่งออกเช่นเดียวกับไทยถึงแบนสารเคมีร้ายแรงทางการเกษตรได้ แล้วประเทศไทยจะเอาอะไรไปแข่งขันทางการค้าในระดับโลก
          ดังนั้น เพื่อแปรวิกฤตเป็นโอกาสในการยกระดับประเทศไทยด้วยยุทธศาสตร์ผลิตอาหารปลอดภัยป้อนชาวโลก ประการสำคัญ ลบขัอกังขาว่ารัฐบาลโหน แพทย์ พยาบาล ในการแก้ปัญหาไวรัสโควิด - 19 และเท "แพทยสภา" กับ "สภาเภสัชกรรม" รัฐบาลควรแบนสารพิษอีก 1 ชนิด คือ ไกลโฟเซต หลังจากที่ขยายระยะเวลาการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไป 6เดือน เพื่อช่วยล้างสต๊อกสินค้าคงค้าง จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ถึงให้มีผลในการแบนพาราควอต และ
คลอร์ไพริฟอส
         ส่วนที่เหลืออีก 1 ชนิด คือไกลโฟเซต ควรแบน ตามมติสภาผู้แทนราษฎร และความเห็นของแพทยสภา และสภาเภสัชกร โดยไม่ควรมีเงื่อนไขใด ๆ อีกต่อไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ