ข่าว

พร้อมดูแล รมว.พม.เร่งช่วยชุมชนคนหูหนวกใต้สะพานพระราม 9

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รมว.พม. ลงพื้นที่เร่งช่วยชุมชนคนหูหนวกใต้สะพาน ย่านพระราม 9 ขาดงาน ขาดรายได้ จากผลกระทบโควิด-19 พร้อมเสนอ 2 ทางเลือกย้ายที่อยู่อาศัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

                 วันนี้ (9 พ.ค. 2563) เวลา 09.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ชุมชนคนหูหนวก (บริเวณริมถนนพระราม 9) เขตห้วยขวาง กทม. เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมที่เป็นกลุ่มคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

                 อ่านข่าว คืนเดียวจับฝ่าเคอร์ฟิวทั่วปท. 634 ราย "ปทุมฯ-ราชบุรี-ภูเก็ต" สูงสุด

 

 

 

                 จากนั้นเดินทางไปลงพื้นที่ชุมชน ส.พัทยา (ฝั่งเต็นท์) หลังบริเวณย่าน RCA เขตห้วยขวาง กทม. เพื่อช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง

                 โดย นายจุติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่มีความเสี่ยงสูงและจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็วที่สุด

                 ซึ่งวันนี้ ตนและคณะผู้บริหาร พร้อมศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร 1300 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และดร.ปนัดดา วงค์จันตา ผู้อำนวยการโรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์ ร่วมกันลงพื้นที่ชุมชนคนหูหนวก เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและพูดคุยถึงสถานการณ์ปัจจุบันของชุมชนว่ามีปัญหาและความต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง และสิ่งใดที่ต้องเร่ง
ให้ความช่วยเหลือก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและหาแนวทางแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด

                 โดยพบว่า ชุมชนแห่งนี้อยู่ใต้สะพาน มีทั้งหมด 59 ครอบครัว 112 คน โดยมีคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 43 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นคนทำความสะอาด คนสวน คนเก็บขยะ และขายแก้วเทียน เป็นต้น

                 แต่ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะต้องหยุดงาน ขาดรายได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้องใช้ชีวิตประจำวันด้วยเงินสงเคราะห์ของภาครัฐ และสิ่งของบริจาคจากวัดและภาคเอกชน อีกทั้งมีปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยใต้สะพาน และขาดแคลนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้าน อุปกรณ์ทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ถุงดำสำหรับทิ้งขยะ) และน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร

                 ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้มอบถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภค โดยมีล่ามภาษามือช่วยสื่อสาร อีกทั้งมีการจัดทำข้อมูลคนพิการในชุมชนเพื่อให้ได้รับสิทธิสวัสดิการจากภาครัฐถ้วนหน้า ซึ่งคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการจะได้รับเงินเยียวยา 1,000 บาท

                 นายจุติ กล่าวต่อว่า วันนี้เราได้เห็นความยากลำบากของชุมชน เพราะสร้างบ้านอยู่ใต้สะพาน ตนจึงได้เสนอที่พักอาศัยของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ออกเป็น 2 ทางเลือก คือ

                 1. ห้องเช่าเดือนละ 999 บาท โดย 3 เดือนแรก จะไม่คิดค่าเช่า และให้เช่าอยู่ระยะยาว และ 2. การพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะการสร้างในที่ของรัฐบาล เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยขอให้ชุมชนร่วมกันตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ใหม่ด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน อีกทั้งจะดูแลเรื่องการมีงานทำและมีอาชีพเลี้ยงตนเองได้ นอกจากนี้กระทรวง พม. จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลในเรื่องของเด็กที่ขาดแคลน รวมถึงเรื่องการศึกษา 

 

 

 

 

                 นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก และยังมีชุมชนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน และตกสำรวจอีกจำนวนมากเช่นกัน จึงขอความร่วมมือจากเอ็นจีโอและภาคประชาชน ช่วยกันชี้เป้า เฝ้าระวังอีกทางหนึ่ง ซึ่งกระทรวง พม. จะเร่งเข้าไปช่วยเหลือต่อไป เพราะเราทำงานทุกวันๆ ละ 24 ชั่วโมง เพื่อการดูแลกลุ่มเป้าหมายของเราอย่างเต็มที่

                 นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ตนได้ลงพื้นที่ชุมชน ส.พัทยา (ฝั่งเต็นท์) หลังบริเวณย่าน RCA เขตห้วยขวาง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยพบว่า ชุมชนดังกล่าว มี ทั้งหมด 130 ครัวเรือน 300 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการขอคืนพื้นที่ ทำให้ชาวชุมชนประสบปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย เพราะต้องย้ายออก ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้เสนอที่พักอาศัยของ กคช. ออกเป็น 2 ทางเลือก คือ

                 1. ห้องเช่าเดือนละ 999 บาท โดย 3 เดือนแรก จะไม่คิดค่าเช่า และให้เช่าอยู่ระยะยาว

                 และ 2. การพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะการสร้างในที่ของรัฐบาล พร้อมทั้งการฝึกอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวชุมชน เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยขอให้ชุมชนร่วมกันตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ใหม่ด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน

                 นอกจากนี้ ตนได้มอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมทั้งสำรวจปัญหา และความต้องการต่างๆ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อไป

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ