ข่าว

ครม.ผ่อนปรนชั่วคราวแรงงาน ลาว เมียนมา กัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรและทำงาน 1-31 พ.ค.63

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.ผ่อนปรนชั่วคราวแรงงาน ลาว เมียนมา กัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรและทำงาน 1-31 พ.ค.63

             ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ การผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้แก่คนต่างด้าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่กำหนด ดังนี้

 

 

 

1. กระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศ ดังนี้
      

 1.1 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายระยะเวลาการยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานกรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตาม MoU ที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 

 1.2 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายระยะเวลาการยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยใช้บัตรผ่านแดน ที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 

 2. กระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุด สามารถทำงานไปพลางก่อนได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 
   

3. หลังสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 

 สาระสำคัญ กระทรวงแรงงาน  เสนอว่า 
1. เนื่องจากการผ่อนผันให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงาน ที่ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  31 มีนาคม พ.ศ. 2563 อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานไปพลางก่อนได้สิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 แต่มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องตามที่ได้มีประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 โดยขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2563 ให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ได้ประกาศหรือสั่งการไว้ก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทำการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่งตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะมีข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้มาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงาน การควบคุมการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด รวมถึงการระงับการเข้าออกราชอาณาจักรยังมีผลบังคับใช้ต่อไป ส่งผลให้คนต่างด้าวดังกล่าวไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ต่อไปอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหากไม่ขยายระยะเวลาการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับคนต่างด้าวดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีก จะทำให้คนต่างด้าวไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลกระทบต่อนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้คนต่างด้าวในการทำงาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อคนต่างด้าวซึ่งยังต้องอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่มีรายได้เพื่อการดำรงชีพ

 

 

 

2. การผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี มีดังนี้

2.1 กลุ่มเป้าหมาย : เป็นคนต่างด้าว 2 กลุ่ม คือ

 1) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานหรือบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่วาระการจ้างงานครบสี่ปีและระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง แต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

 2) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งถือบัตรผ่านแดนตามมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด และไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19
        2.2 ลักษณะการดำเนินการ : เป็นการขยายระยะเวลาการผ่อนปรนให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคีอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานได้ต่อไป
        2.3 ระยะเวลา : อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563
       2.4 หลังสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางออกจากราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง
   

  ผลกระทบ

1. การขยายระยะเวลาการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศ
คู่ภาคี เป็นการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 สอดคล้องกับประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019หรือโควิด 19 ที่ยังคงระบาดรุนแรงอยู่ในหลายประเทศ ตลอดจนเป็นการป้องกันการไปมาหาสู่ข้ามจังหวัดโดยไม่นำพาต่อมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อกลับมา
รุนแรงขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศโดยรวม

2. การขยายระยะเวลาการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศ
คู่ภาคี เป็นการลดความสุ่มเสี่ยงที่แรงงานบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากวาระการจ้างงานครบกำหนดแต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ เป็นการลดสภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการนายจ้าง ที่ยังคงมีความต้องการและมีความประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวเหล่านั้นต่อไป แต่ไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการปกติได้ในสถานการณ์ที่มีภัยคุกคาม 

3. การขยายระยะเวลาการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศ
คู่ภาคี เป็นมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน เป็นการลดความวิตกกังวลและความตื่นตระหนกในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รวมถึงยังเป็นไปตามพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นการดำเนินการชั่วคราวตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ