ข่าว

"พิชัย" โอเคขยายเยียวยา 5 พันเป็น 6 เดือน ชี้ อาจจะต้องนานกว่านั้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เห็นด้วยกับการอัดฉีด 1.9 ล้านล้านสู้วิกฤติ โควิด-19 แต่ต้องใช้ถูกทาง "พิชัย" ชี้ แบงก์ชาติควรช่วยผ่านแบงก์พาณิชย์และทำบาทอ่อนลง แนะทุกคนคิดในกรอบใหม่

 

               8 เมษายน 2563  นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โดยหลักการแล้วเห็นด้วยกับรัฐบาลในการออกมาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ชุดที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

อ่านข่าว - "ธนกร" คาดเยียวยา 5 พันวันแรก 2.5 แสนคน ตามลำดับคัดกรองไม่มีโควตา

 

 

 

               เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจจะรุนแรงมากทั้งระหว่างวิกฤตการณ์และภายหลังวิกฤตการณ์ และหากจำเป็นก็อาจจะต้องใช้เงินมากกว่านี้ ซึ่งในประเทศต่างๆ ก็ได้เริ่มดำเนินการกันแล้ว โดยมีการใช้เงินประมาณ 10 - 15% ของจีดีพี ทั้งนี้ ยังต้องดูรายละเอียดว่าจะมีการช่วยเหลือในลักษณะใดบ้าง และจะได้ผลหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลังที่จะมีการกู้เงินมาใช้ถึง 1 ล้านล้านบาท โดยอยากเห็นการใช้เงินจำนวนมหาศาลดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกทาง ไม่ใช้อย่างสะเปะสะปะเหมือนในอดีต และต้องเกิดประโยชน์ในระยะยาวตามที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พูดไว้เอง และอยากให้ช่วยผู้มีรายได้น้อยที่ลำบากที่สุดก่อนแล้วไล่ขึ้นมา อีกทั้งอาจจะต้องเผื่อเงินไว้หากสถานการณ์ยาวนานกว่านั้น โดยการขยายการช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท จาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน ถือว่าถูกต้องแล้ว และอาจจะต้องนานกว่านั้นด้วย

 

 

 

               อย่างไรก็ดี ตามที่รัฐบาลคาดว่าจะมีผู้มาขอรับการช่วยเหลือ 3 ล้านคน แต่กลับมีประชาชนขอรับการช่วยเหลือสมัครเข้ามาถึง 24 ล้านคน ทำให้รัฐบาลต้องขยายเป็น 9 ล้านคน แถมยังข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับผู้กรอกข้อมูลไม่ตรง เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ เพราะในภาวะเช่นนี้ประชาชนเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก ย่อมอยากได้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่ความผิด และในเมื่อรัฐจะใช้เงินจำนวนมหาศาลก็อยากให้พิจารณาว่าประชาชนที่เดือดร้อนมากก็ควรได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด ไม่ว่าจำนวนจะเท่าไหร่ก็ตาม หากเข้าเกณฑ์ที่จะต้องช่วยเหลือโดยอย่ากำหนดที่จำนวน แต่กำหนดตามเกณฑ์ที่เหมาะสมที่ควรได้รับ ทั้งนี้ ในอดีตรัฐบาลยังแจกเงินให้คนไปเที่ยว และให้คนไปช้อปปิ้งแบบสะเปะสะปะได้เลย

 

 

 

               ในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น การออกซอฟท์โลน 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยธุรกิจ SMEs เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นไปตามที่ตนได้เคยเสนอไว้แล้วแต่แรก โดยอยากให้มีการต่อรองในการรักษาระดับการจ้างงานเพื่อไม่ให้คนตกงานเหมือนในหลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว และรัฐบาลอาจจะสนับสนุนเพิ่มในส่วนนี้ด้วย อีกทั้งอยากให้ ธปท. ได้ส่งเสริมให้ทุกธนาคารทำตามแบบอย่างของ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารออมสิน ที่มีการหยุดดอกเบี้ยและหยุดเงินต้นเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภาวะวิกฤติในช่วงนี้

               อย่างไรก็ดี ในส่วนของ ธปท. ที่จะจัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ ธปท. สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่มีเครดิตเรทติ้งไม่น้อยกว่า investment grade ขึ้นไปนั้น อยากให้ ธปท. ฟังความเห็นของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯ อดีต รมว.คลัง และ อดีตประธาน ธปท. ที่ให้ความเห็นว่า ธปท. ควรดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์จะเหมาะสมกว่า

 

 

 

               ทั้งนี้ เพราะการดำเนินการดังกล่าวอาจจะผิดกฎข้อบังคับของ ธปท. เองได้ อีกทั้ง ธปท. ไม่ควรเข้าไปทำหน้าที่แทนธนาคารพาณิชย์ จะมาอ้างเหมือนกับธนาคารกลางของสหรัฐฯ ดำเนินการก็อาจจะไม่ถูกนัก เพราะสถานะของประเทศต่างกัน นอกจากนี้ ยังอยากให้ ธปท. รักษาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับต่ำ ถ้าเป็นไปได้ควรอยู่ต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนธุรกิจส่งออกของไทยให้ฟื้นกลับมาได้บ้าง

               ในปัจจุบัน กิจกรรมทางธุรกิจดูเหมือนจะหยุดชะงักทั้งหมด ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคตอันใกล้ได้ ทั้งนี้ ห่วงว่าอีกไม่นานนักประชาชนจำนวนมากจะกังวลว่าจะอดตายมากกว่าจะติดโวรัสโรคโควิด-19 ตาย เพราะหากวงจรธุรกิจหยุดชะงักแล้ว การจะฟื้นเศรษฐกิจจะทำได้ยากมาก ประชาชนจำนวนมากจะไม่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว โดยคาดกันว่าอาจจะมีคนตกงานกันถึงกว่า 5 ล้านตน ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาสนับสนุนให้สามารถทำกิจกรรมทางธุรกิจได้อย่างน้อย 40 - 50% โดยหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของไวรัสโรคโควิด-19 ไปในตัวด้วย โดยไม่ปิดกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมด โดยจะต้องมีการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม แต่ธุรกิจยังคงสามารถดำเนินไปได้บ้างในบางสาขาธุรกิจ โดยอยากให้มีการพัฒนาระบบออนไลน์ของราชการให้สมบูรณ์เต็มที่ เพื่อที่สามารถทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้โดยไม่ต้องไปเองที่หน่วยราชการ ถือเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาระบบราชการในภาวะวิกฤตินี้ไปด้วย นอกจากนี้ การพัฒนาธุรกิจ delivery ตามที่ได้แนะนำแต่แรก ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ แม้กระทั่ง นักศึกษาจบใหม่ น่าจะหันมาทำเรื่องนี้ในช่วงเวลานี้ เพราะหากสถานการณ์ลากออกไป ยังสามารถหารายได้ประคองชีวิตได้ เป็นต้น

 

 

 

               "ในภาวะวิกฤตินี้ ต้องยินดีที่รัฐบาลได้เริ่มการใช้นโยบายการเงินของ ธปท. ร่วมกับนโยบายการคลังของกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาแก้ปัญหาพร้อมกัน เหมือนที่ตนได้แนะนำแต่แรก แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดการช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง โดยหวังว่าจะมีการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลน่าจะถือโอกาสนี้ปรับปรุงระบบราชการให้ทันสมัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไปในตัว ทั้งนี้ รวมถึงประชาชนเองก็จะต้องคิดในกรอบใหม่เพื่อเอาตัวรอดในวิกฤตการณ์นี้ให้ได้ โดยเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ และหลังจากวิกฤตการณ์แล้วประเทศไทยจะพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก"

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ