ข่าว

(ละเอียด) จ่อขยายเวลา "เคอร์ฟิว" ตั้งแต่หัวค่ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศบค." เผยติดเชื้อทั่วโลก ทะลุล้าน "ไทย" เฉียด 2 พัน ดับเพิ่ม4 "คนไทยจาก "อินโดฯ-มาเลย์" จ่อกลับ เข้มต้องกักตัว วอนลูกหลาน ไม่ควรรดน้ำขอพร ผู้สูงอายุ เหตุเสี่ยงติดสูง แนะใช้แอลกอฮอล์เจล ดีกว่า "วิษณุ" แย้ม จ่อ ขยายเวลา "เคอร์ฟิว" ตั้งแต่หัวค่ำ

 

          เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 63 - ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก เป็นวันแรกที่ทะลุ 1 ล้านคน โดยมีผู้ติดเชื้อ 1,014,296 ราย เสียชีวิต 52,298 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย หายป่วย 581 ราย ซึ่งมีคำถามว่าตัวเลขผู้หายป่วยเป็นตัวเลขจริงหรือไม่เมื่อเทียบกับผู้ป่วยสะสม 1,978 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เรากำลังจัดระบบกันอยู่ คาดว่าในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการรักษาน่าจะมีตัวเลขผู้หายป่วยมากกว่านี้ สำหรับวันนี้ (3 เม.ย.) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 103 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 19 ราย

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

"บิ๊กแดง"ตั้งวอร์รูมส่งชุดตรวจจับผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว

นายกฯลั่นถ้าติดเชื้อพุ่ง จะเคอร์ฟิว 24 ชม.

ชาวโซเชียลแห่ส่งกำลังใจ 15 จังหวัดยังปลอดเชื้อโควิด

 

          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 16 เป็นชายอายุ 59 ปี เป็นพนักงานการรถไฟ ป่วยวันที่ 16 มี.ค. ด้วยอาการไข้ วันที่ 21 มี.ค.เข้ารับการรักษา และกลับไปทำงานปกติ การรักษาตอนนั้นดูเหมือนอาการน้อยมาก แต่ปรากฏว่าในวันที่ 31 มี.ค.มีอาการหนัก เหนื่อยหอบมากขึ้น จึงเข้ารักษาในโรงพยาบาลอีกครั้ง และเสียชีวิตวันที่ 2 เม.ย. รายที่ 17 เป็นชายไทย 72 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งเป็นลูกชายของผู้ป่วยที่ไปดูมวย โดยมีโรคประจำตัว โรคไต เริ่มป่วยวันที่ 16 มี.ค. และเสียชีวิตวันที่ 1 เม.ย. รายที่ 18 เป็นชายไทยอายุ 84 ปี ทำงานอยู่ที่สนามมวยราชดำเนิน มีโรคประจำตัว ไต ความดันโลหิตสูง โรคเก๊า และโรคประจำตัวหลายโรค เข้ารับการรักษาวันที่ 26 มี.ค. และเสียชีวิตวันที่ 2 เม.ย. รายที่ 19 เป็นชายไทยอายุ 84 ปี มีประวัติไปสนามมวยราชดำเนิน มีอาการป่วยวันที่ 14 มี.ค. เข้ารับการรักษาวันที่ 21 มี.ค. มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ รักษาที่โรงพยาบาลใน กทม. และเสียชีวิตในวันที่ 2 เม.ย. ทั้งนี้ 3 ใน 4 รายของผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น และมีโรคประจำตัว ดังนั้น ในช่วงสงกรานต์นี้ ลูกหลานถ้าเป็นลูกกตัญญู ไม่ควรเข้าใกล้พ่อแม่ ตายาย ผู้สูงอายุ เพราะเขามีความเสี่ยงสูงมาก ไม่ควรรดน้ำขอพร ถ้าจะมีควรใช้แอลกอฮอล์เจลขอพรท่านน่าจะดี
 

          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการชะลอการเข้าประเทศนั้น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้รายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการอนุญาตให้คนไทยจากอินโดนีเซีย 100 คน มาเลเซีย 83 คน และนักเรียนเอเอฟเอสจากสหรัฐอเมริกา กลับเข้ามาในประเทศ โดยทางการไทยจะเตรียมพื้นที่รองรับ และต้องอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อใน กทม.และต่างจังหวัดยังไม่น่าไว้วางใจ แม้จะลดน้อยลง แต่ตัวเลขยังแตะหลักร้อย ต้องจัดการโดยเร็ว นายกฯก็ยังไม่พอใจ ต้องทำให้ต่ำกว่านี้ให้ดี ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะนี้ลดลงเหลือ 14 จังหวัด และมี 15 จังหวัดไม่พบผู้ป่วยเลย ส่วนอัตราการเสียชีวิตถือว่าเราทำได้ดี มีอัตราเสียชีวิตเพียง 0.96 %

 

         ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมี 3 มาตรการใหญ่ในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 คือ มาตรการทางการแพทย์, มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และมาตรการด้านเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการที่ 1 จะทำดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศใช้ไม่สามารถดำเนินการตรงนี้ได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมาเกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่อาจรับมือได้ เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งกฎหมายอื่นไม่ได้ให้อำนาจไว้ และเพิ่งใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 2 บังคับใช้ให้มีผลวันนี้ รวมถึงอาจจะมีฉบับที่ 3,4,5 ตามมาอีก ในส่วนมาตรการฟื้นฟูนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก็ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะใช้กฎหมายอื่นและมติ ครม.ในการดำเนินการ 


          นายวิษณุ กล่าวว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 2 เน้นเรื่องของเคอร์ฟิว แต่จนถึงนาทีนี้ยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ได้ปิดประเทศ เพราะสนามบินยังไม่ได้ปิด แต่มีการเคร่งครัดและเข้มงวดมากขึ้น และคนไทยที่อยู่ต่างประเทศยังสามารถกลับมาได้ เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย อีกทั้งการขนส่งสินค้าเข้า – ออก ยังทำได้ปกติ สำหรับคนต่างประเทศที่เข้ามาเราจะเข้มงวดเป็นสองเท่า ทั้งเรื่องการตรวจใบขออนุญาต ใบรับรอง จึงขอร้องว่าให้ชะลอการเข้ามาในประเทศไทยไปก่อนอย่างน้อยจนถึงวันที่ 15 เม.ย. แล้วค่อยว่ากันใหม่ แม้แต่คนไทยก็ต้องกักตัว 14 วันด้วยเช่นกัน
 

          นายวิษณุ กล่าวว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ที่ห้ามบุคคลทุกคนทั่วราชอาณาจักรออกจากเคหะสถานในเวลา 22.00-04.00 น. หรือรวมเวลา 6 ชั่วโมงนั้น ถ้ามาตรการนี้ยังไม่ได้ผลหรือยังมีผู้ฝ่าฝืน หรือดีและป้องกันได้ดีก็จะประเมินเหตุการณ์วันต่อวัน อาจจะขยับเป็น 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมงต่อไปก็ได้ ช่วงเวลา 6 ชั่วโมงนี้ไม่ควรมีผู้ใดออกมาเดินเหินตามถนน หรืออยู่ตามร้านต่างๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะนี่คือการห้ามออกจากเคหสถาน โดยจะมีตำรวจ ทหาร คอยตรวจตรา ถ้าพบว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการยกเว้น จะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 โทษรุนแรงมาก คุก 2 ปี ปรับสี่หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

          อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตระหนักดีว่าการประกาศเคอร์ฟิวจะเข้มงวดโดยไม่มีข้อยกเว้นเลยไม่ได้ เพราะเป็นความจำเป็นของคนบางประเภทจึงมีข้อยกเว้นให้กับบุคคลสองประเภท ประเภทที่ 1 ได้แก่ บุคคลทั่วไปที่มีภารกิจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้มีอาชีพขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ยาเวชภัณฑ์ หนังสือพิมพ์ ที่ต้องมีใบรับรองจากต้นสังกัด ประเภทที่ 2 ได้แก่ พวกที่มีความจำเป็น แต่ยังไม่ได้มีการกำหนด ซึ่งกำลังรวบรวมอยู่และจะออกประกาศตามมาเพิ่มเติม เช่น ชาวประมง คนกรีดยาง พนักงานซ่อมสายโทรศัพท์ ระหว่างนี้หากจำเป็นต้องออกนอกเคหสถานก็ให้ขออนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะขยายความไปถึงตำรวจ ทหาร กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ไปพลางก่อน ถ้านึกไม่ออกให้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ที่ด่าน โดยจะพิจารณาถึงความจำเป็น แต่จะไม่อนุญาตให้เดินกอดขวดเหล้า เดินเตร็ดเตร่ หรือคิดถึงญาติ

 

          นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ ถ้ามีการประเมินแล้วต้องขยายเวลาเคอร์ฟิวจาก 6 ชั่วโมง เป็น 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นก็จะได้ทยอยประกาศ โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าต่อไป ส่วนข้อกำหนดฉบับที่ 2 ที่มีการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลา 22.00 -04.00 น.นั้น ซึ่งในบางจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำหนดการห้ามออกจากบ้านแตกต่างจากข้อกำหนดของรัฐบาล ก็ให้ยึดมาตรการที่เข้มงวดกว่า และต่อไปเราจะพยายามปรับให้ทุกจังหวัดในเกณฑ์เดียวกัน สำหรับข้อ 3 ในข้อกำหนดฉบับที่ 2 หมายถึงแรงงานต่างด้าวที่จะกลับประเทศแต่ด่านพรมแดนปิด ไม่สามารถไปประเทศปลายทางได้ และจะไปในที่ต่างๆ ก็ไม่ได้ เราจึงกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดจัดสถานที่เอกเทศ ซึ่งเป็นสถานที่ใดสถานที่หนึ่งไว้กักตัวคนเหล่านี้ 14 วัน เพื่อตรวจโรค หากด่านพรมแดนเปิดก่อนก็สามารถเดินทางข้ามไปได้ หรือเมื่อครบกำหนดก็จะปล่อยกลับ 
 

          ผู้สื่อข่าวถามว่า สื่อมวลชนสามารถออกไปทำข่าวในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้เด็ดขาด เพราะช่วง 6 ชั่วโมงไม่น่าจะมีข่าวอะไรให้ทำ ส่วนที่จะไปถ่ายบรรยากาศด่านต่างๆ นั้น ก็ขออนุญาตเป็นการเฉพาะราย แต่เราคงไม่เขียนยกเลิกให้เป็นกลุ่ม ส่วนการขนส่งอาหาร เช่น แกร็ป ไลน์แมน ถือว่าอยู่ในข้อยกเว้นการขนส่งอยู่แล้ว แต่ขอให้มีหนังสือรับรองไว้แสดงกับเจ้าหน้าที่

 

          เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเคอร์ฟิวแค่ 6 ชั่วโมง จะนำมาซึ่งการลดจำนวนได้อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า มันเป็นเชื้อโรค ไวรัส กลางคืนไม่หยุดพัก มันไป 24 ชั่วโมง แต่เราพิจารณาความจำเป็นของประชาชนที่กลางวันไม่สามารถปิดได้ หรือปิดก็คงไม่ฟัง จนกว่าจะรู้สึกสำนึก ตระหนัก รับผิดชอบ และสมัครใจได้มากกว่านี้ ซึ่งก่อนจะเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักร มีการทดลองมาแล้ว 5 จังหวัด คิดว่าเป็นการส่งสัญญาณได้ระดับหนึ่งจึงประกาศทั่วราชอาณาจักร หวังว่าจะลดคนที่ออกมาตามท้องถนนได้พอสมควร และจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวทำความสะอาดบ้านเมืองด้วย ที่สำคัญ พบการว่าการแพร่ระบาดเกิดจากการรวมตัวกันในเวลากลางคืนที่คนพักผ่อน ทำกิจกรรมร่วมกัน ต่างจากกลางวันที่ทำงานกันส่วนใหญ่ เมื่อคนคุ้นเคยและชินกับมาตรการนี้อาจจะขยายต่อไปได้ เชื่อว่าจะลดเปอร์เซ็นต์การแพร่ระบาดลงได้ ส่วนที่มีคนท้วงว่าทำไมไม่ประกาศช่วงหัวค่ำไปเลยนั้น อีกหน่อยก็ถึงหัวค่ำ

 

          พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะทำงานเป็นจุดตรวจและมีสายตรวจแทรกซึมไปทุกจุดในช่วงเวลาเคอร์ฟิว จะออกมาเดินข้างนอกบ้านหรือในหมู่บ้านไม่ได้ ส่วนการคมนาคมนั้น ได้มีการปรับเวลาเดินรถให้สอดคล้องแล้ว ขอให้ประชาชนเผื่อเวลาเดินทางด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้ายังพบว่ามีการลักลอบเปิดสถานบริการอยู่สามารถแจ้ง 191 ได้ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง จะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งจะผิดมากกว่ากรรมเดียว ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยที่ผ่านมาตำรวจและอัยการได้สั่งฟ้องทุกกรณี และศาลได้ลงโทษโดยไม่รอลงอาญา.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ