ข่าว

แนะ "ผับ-ร้านอาหาร" มีมาตรการคุมโควิด-19 ขู่ทำไม่ได้สั่งปิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิษณุ" แถลงมติศูนย์ใหญ่โควิด-19 ยังไม่เข้าระยะ3 "นายกฯ" สั่งเตรียมรพ. 1 แสนเตียง ระดมหมอ 3 หมื่น รับมือ ยังไม่ประกาศประเทศเขตโรคติดต่อเพิ่ม จ่อชง ครม. เลิกหยุดสงกรานต์ 13-15 เม.ย. สั่งปิด "รร.-มหา'ลัย-สนามมวย-โรงหนัง" แนะ "ผับ-ร้านอาหาร" มีมาตรการดูแล

 

 

          เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2563 - ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศูนย์ข้อมูลโควิด -19 ภายใต้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แถลงมติที่ประชุมว่า นายกฯ แสดงความห่วงใยและกำชับให้เตรียมการทุกอย่าง เวชภัณฑ์ โรงพยาบาล มาตรการต่างๆ เพื่อรองรับในการที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หากมีความจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขยกระดับการแพร่ระบาดเป็นระยะที่ 3 จะได้มีความพร้อมในการรองรับ  

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

ไม่ปิดประเทศ ระดมหมอ 3 หมื่น เตียงเกินแสน รับมือโควิด

ไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 33 ราย

ปิดผับ-สนามมวย-โรงเรียน-มหาวิทยาลัย มีผล 18 มี.ค.นี้

 

          ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ฯ ซึ่งมีรัฐมนตรีทุกคนเข้าร่วมประชุม มีมติเอกฉันท์ว่า ยังยืนยันว่าเรายังอยู่ในระยะที่สอง ยังไม่ไปสู่ระยะที่สาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีผลปฏิบัติและวิชาการว่าการจะประกาศระยะที่สามได้ต่อเมื่อมีประชาชนไทยรับเชื้อหรือติดต่อโรคกันเองโดยสืบสาวราวเรื่องแล้วไม่ปรากฏต้นตอมาจากประเทศที่แพร่เชื้อก่อน ต้องเป็นการติดต่อในหมู่คนไทยที่ไม่พบว่าผู้แพร่เชื้อไม่ได้เดินทางมาจากต่างประเทศ ที่จะแสดงให้เห็นความรุนแรง อีกทั้งจะต้องมีการแพร่เชื้ออย่างนี้จำนวนมาก ไม่ใช่หนึ่งรายสองราย และอีกตัวชี้วัดคือ การปรากฏแพร่เชื้อหลายพื้นที่ ถ้าอย่างนั้นแปลว่าคับขันที่จะคงระยะที่สองได้แล้ว เพราะต้องเตรียมวิธีรับมืออีกอย่างหนึ่ง จึงยังไม่เข้าสู่ระยะที่สามโดยเป็นเกณฑ์ที่เราตั้งขึ้นเอง 

 

          นายวิษณุ กล่าวว่า แต่ที่ประชุมยังเห็นว่าจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือ มิเช่นนั้นจะเกิดความประมาท และหาว่ารัฐไม่ได้เตรียมการอย่างเพียงพอ แต่เราจะเตรียมการไว้ก่อน โดยในด้านที่ 1 คือ สาธารณสุข ที่ประชุมขอให้อย่าตื่นตระหนก ขณะนี้ได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว โดยนายกฯสั่งการให้เตรียมโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ สถานพยาบาลต่างๆ เพื่อเตรียมปรับสถานที่ให้มีเตียงที่จะใช้ได้เพียงพอเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะมาถึง นอกจากนี้ ให้เตรียมการเรื่องแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมจะระดมแพทย์อาชีพ แพทย์ภาครัฐ เอกชน แพทย์ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว พยาบาล จิตอาสาที่มีความรู้ด้านการแพทย์ ที่มีที่อยู่ติดต่อจะระดมมาถ้าสถานการณ์ถึงจุดจำเป็น รวมถึงเตรียมยา เวชภัณฑ์ ซึ่ง สธ.เตรียมรับมือไว้แล้ว นายกฯยังอนุมัติค่าตอบแทนพิเศษแก่แพทย์ พยาบาล เป็นกรณีพิเศษไว้แล้ว

 

          นายวิษณุ กล่าวว่า 2.ด้านเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ได้เร่งกำลังการผลิตมากขึ้นจนเกือบจะถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน และจะผลิตให้มากขึ้น พร้อมเร่งการผลิตแอลกอฮอล์ เจลล้างมือให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน พร้อมจะแก้ระเบียบบางอย่างเพื่อให้เร่งการผลิตได้ ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า ได้รับการแจ้งจากบางประเทศว่าพร้อมจะให้ความช่วยเหลือเรื่องหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ นายกฯ ยังยกเรื่องสำคัญว่า ในส่วนของการตรวจจับ การค้าขาย หรือสั่งซื้อหน้ากากอนามัยทางออนไลน์ ที่มีการยึดของกลางมาจำนวนมากนั้น ซึ่งเป็นของกลางตามกฎหมาย จำนวนนับล้านชิ้น ให้นำเพื่อจัดสรรและแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาล ส่วนเรื่องคดียังดำเนินคดีต่อไป แต่อย่าทำให้เสียรูปคดี

 

          3.ด้านข้อมูลข่าวสาร นายเทวัญ ได้รายงานว่า มีคนร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ข้อมูลโควิด -19 วันละประมาณหนึ่งพันราย ซึ่งได้ชี้แจงทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาไปแล้ว 98 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือให้แก้ปัญหาต่อไป 4.ด้านการต่างประเทศ กต.รายงานว่า มีต่างประเทศแสดงความปรารถนาดีที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ คือ ยา หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ เราพร้อมรับ แต่นายกฯ สั่งการว่า เราจะรอจากเขาอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเร่งการผลิตเอง ต้องพึ่งขาตัวเองด้วย โดย สธ.รายงานว่า จะเร่งผลิตชุดที่ต้องใช้ปฏิบัติงานให้ได้มากขึ้น ส่วนที่ไทยยกเลิกฟรีวีซ่า และวีโอเอนั้น ไม่มีประเทศใดขัดข้อง ทุกอย่างพร้อมและน้อมรับกับสิ่งที่เราดำเนินการ แต่นายกฯห่วงคนไทยต่างประเทศต่างๆ ทั้ง ข้าราชการ ที่มีประมาณ 1.5 พันคน นักเรียนไทยในต่างประเทศนับพันคน พระภิกษุประมาณ 1.5 พันรูป แรงงานไทยที่ยังไม่กลับเข้ามาอีกนับเป็นแสนคน จึงสั่งให้ กต. จัดตั้งทีมไทยแลนด์ในทุกประเทศเพื่อรับมือโควิด-19 โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศนั้นๆเป็นหัวหน้าทีม เพื่อรับร้องเรียน ร้องทุกข์ ตลอดจนให้ข้อมูลข่าวสาร เป็นทีมเฉพาะกิจ

 

          5.ด้านมาตรการป้องกันเตรียมรับมือผู้ที่ยังไม่ป่วย ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและย้ำว่าขณะนี้ยังไม่ประเทศไทยยังไม่ประกาศระยะที่ 3 แต่อยู่ในระหว่างเตรียมรับสถานการณ์ที่สำคัญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางเข้าประเทศไทยที่จะมีความเข้มงวดจากสี่ประเทศและสองเขตเศรษฐกิจที่เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งถือเป็นมาตรการสูงสุดอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศประเทศเขตโรคติดต่อแต่อย่างใด ขอประเมินสถานการณ์รายวัน แต่จะใช้ความเข้มงวดกวดขันในการเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุด 

 

          นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ เดิม ครม.เคยมีมติให้วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้หยุดยาวรวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย. แต่ที่ประชุมได้มีมติเห็นว่า การมีหยุดยาว 5 วัน อาจทำให้ประชาชนเคลื่อนย้ายและเดินทางมากผิดปกติ ซึ่งการเคลื่อนย้ายในช่วงเวลาเดียวกันอาจทำให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและการติดโรคโควิด-19 คณะแพทย์เกรงว่า จะมีคนใน กทม.ที่เป็นพาหะไปแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว หรือไปติดเชื้อจากต่างจังหวัดแล้วกลับเข้ามา กทม. เพราะมีการรวมตัวกันเกิดขึ้น เป็นโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อทั้งสิ้น จึงต้องลดโอกาสเสี่ยงที่จะให้บุตรหลานนำเชื้อไปแพร่ให้ปู่ย่าตายาย และถ้าเกิดการแพร่เชื้อในต่างจังหวัดจะยุ่งยากกว่า กทม. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์เพื่อเสนอต่อ ครม.ให้งดวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ 13-15 เม.ย.โดยไม่เป็นวันหยุดราชการ หรือเป็นวันหยุดงานของภาคเอกชน แต่รัฐจะชดเชยวันหยุดเพื่อให้คนมีโอกาสกลับไปพบญาติมิตร หรือชดเชยแรงงานตามสิทธิที่พึงได้ในโอกาสอื่นต่อไปในปีนี้ เมื่อสถานการณ์บรรเทาเบาบางลง ไม่ยุ่งยากต่อการควบคุม ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดจะประกาศให้ทราบต่อไป

 

          นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนการยกระดับการป้องกัน การปิดหรือหยุด หรือระงับการเปิดสถานที่บางแห่ง ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน หรือคนไปอยู่รวมกันจำนวนมาก ได้ออกเกณฑ์มา 2 ข้อคือ 1.สถานที่ใดซึ่งมีผู้คนไปชุมนุมกันคราวละมากๆ ชุมนุมเป็นกิจวัตร และมีโอกาสเสี่ยงสูงเพรามีกิจกรรม สัมผัส พูดจาปราศรัยกันในที่คับแคบ ขอให้มีทางเลือกหรือทางเลี่ยงที่จะชดเชยการชุมนุมได้ ให้เสนอ ครม.เพื่อให้หน่วยงานไปดำเนินการหยุดหรือปิด กิจการเหล่านั้นไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว โดยเริ่มได้ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มี.ค. เช่น มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน โรงเรียนรัฐและเอกชน โรงเรียนนานาชาติ สถานกวดวิชา สนามมวย สนามกีฬาที่มีการสัมผัสถึงกัน เช่น สนามฟุตบอล สนามบาสเก็ตบอล โรงมหรสพ ส่วนโรงภาพยนตร์ ต้องขอดูรายละเอียด หรือกำหนดเกณฑ์ผู้ชุมนุม 

 

          นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนสถานที่อื่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ไม่เข้าเกณฑ์ ยังสามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ต้องมาตรการรองรับ เช่น วัดไข้ สวมหน้ากากอนามัย จัดที่นั่งให้ห่างกัน 1 เมตรหรือ 1 เมตรเศษ มีเจลล้างมือ โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจตราเป็นระยะ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะสั่งปิดหรือดำเนินการเป็นรายๆ ต่อไป โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 35 นายกฯ ยังกำชับเรื่องมาตรการป้องกันอีกว่า ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลตัวเองให้ถูกต้อง และให้กำหนดมาตรการเลื่อนหรือเหลื่อมเวลาทำงาน เพื่อลดจำนวนคนที่จะต้องเดินทางไปทำงานพร้อมๆ กัน และเหลื่อมเวลาในการรับประทานอาหารกลางวัน เพื่อไม่ทำให้เกิดความแออัดในการรับประทานอาหาร การจัดที่นั่งให้ห่างกันหนึ่งเมตร นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งการให้ทุกกระทรวงไปพิจารณาเรื่องการให้งานไปทำที่บ้าน เพื่อเลี่ยงการชุมนุมพร้อมๆกัน และให้กระทรวงรายงานให้ ครม.ทราบทุกๆ 7 วัน ส่วนภาคเอกชนและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว อีกทั้งยังขอความร่วมมือไปยังบริษัทเอกชนที่จะมีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่มีกำหนดการประชุมประจำปีในเดือนเม.ย. ขอให้เลื่อนการประชุมออกไปหรือถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ขอให้ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟเรนซ์ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ คสช.ที่สามารถทำได้

 

          "นายกฯขอให้เรื่องโควิด -19 เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอับดับหนึ่งของประเทศ ส่วนเรื่องอื่น เศรษฐกิจ ผลกระทบการท่องเที่ยว การค้าขาย มีความสำคัญเป็นลำดับสอง เราต้องเอาชีวิตของประชาชนให้รอดไปก่อน เพราะไม่รู้ว่าไปข้างหน้าศึกนี้จะไปขนาดไหน เมื่อศึกเบาบางลง เศรษฐกิจสามารถฟื้นฟูเยียวยาได้ในเวลาต่อมา สามารถมีมาตรการอัดฉีดเร่งรัดได้ เราต้องเอาโควิด-19 มาเป็นลำดับแรกและเร่งด่วน" นายวิษณุ กล่าว 

 

          เมื่อถามว่า การจะจัดสอบใหญ่ๆ ยังสามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แต่ละแห่งเขาจะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งมีการรายงานถึงนายกฯแล้วว่า บางแห่งมีความจำเป็นต้องจัด แต่ต้องมีมาตรการดูแล เช่น แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ นั่งห่างกันสองเมตร ถ้าทำไม่ได้ให้เลื่อนไปก่อน ส่วนเรื่องเกณฑ์ทหารกระทรวงกลาโหมให้เลื่อนไปก่อน แต่ไม่ถึงขนาดเลิกเกณฑ์ทหาร อย่างไรก็ตาม การจัดศพ งานแต่ง งานวันเกิด มาตรการของรัฐยังไม่ลงไปลึกขนาดนั้น เพราะความเสี่ยงน้อย เป็นการพบปะกันไม่นาน เจ้าภาพสามารถมีมาตรการรองรับ เช่น การแจกหน้ากากอนามัย และแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันหรือการสังสรรค์จะดีที่สุด 

 

          นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยเพิ่ม 33 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ป่วยสัมผัสเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ยืนยันก่อนหน้านี้ คือกลุ่มมีอาการป่วย ที่อยู่ใกล้ชิดกับคน เช่น ในสถายบันเทิง รวมถึงสนามมวย จำนวน 7 คน 2.เป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 17 คน โดยส่วนหนึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ อีกส่วนหนึ่งทำงานใกล้ชิดคนต่างชาติ สรุปผู้ป่วยสะสม 147 ราย 

 

          ส่วนมาตรการรองรับผู้ป่วยสามารถรองรับได้มากเพียงใดนั้น นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า เราสามารถระดมแพทย์ได้ไม่น้อยกว่าสามหมื่นคน เตียงหนึ่งแสนเตียง ซึ่งแต่ละจังหวัดได้ออกแบบระบบไว้แล้ว ตอนนี้สถานการณ์ค่อนข้างดี แต่เราเตรียมการรองรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุดไว้แล้ว 

 

          นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึง 132 คนไทยที่พึ่งกลับมาจากกิจกรรมทางศาสนาจากประเทศมาเลเซีย ทางกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า 2 รายป่วยระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสุดท้ายพบว่าติดเชื้อก็ให้อยู่ในการดูแลของแพทย์ถือว่าอยู่ในระดับที่คุมได้ ซึ่งไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อไปถึงผู้อื่น

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ