ข่าว

งบสูง 1.2 หมื่นล้าน-ส่อขัดแย้ง แก้ รธน. อาจไปไม่ถึงฝัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ส.ส.ร." แก้รธน. อาจไปไม่ถึงฝัน "รองปธ.กมธ.แก้รธน." ชี้ปัญหาใช้งบสูง 1.2 หมื่นล้าน-ส่อขัดแย้ง

 

               "ส.ส.ร." แก้ รธน. อาจไปไม่ถึงฝัน "รอง ปธ.กมธ.แก้ รธน." ชี้ปัญหาใช้งบสูง 1.2 หมื่นล้าน - ส่อขัดแย้ง เหตุทำประชามติ 4 ครั้ง ส.ส.เลือกตั้งมีสิทธิ์เท่า ส.ส.ร. แก้รธน. เหตุเป็นตัวแทนปชช. 500 คน หนุน "รัฐสภาฯ" เป็นกลไกแก้ รธน.รายมาตรา ที่เห็นร่วมกัน

 

อ่านข่าว 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' แก้รัฐธรรมนูญ แตะวุฒิสภาทุกอย่างจบ

 

               รัฐสภา - 14 มีนาคม 2563 -  นายไพบูลย์​ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คนที่หนึ่ง กล่าวต่อกรณีความเห็นของกลุ่มคณะกรรมการรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และเครือข่าย People Go รวมถึงกลุ่มที่เข้าให้ความเห็นต่อกมธ.ฯ ถึงแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ว่า เป็นความเห็นที่อนุกมธ.ฯ ที่เกี่ยวข้องจะรับไปพิจารณาเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอของกมธ.ฯ ที่รายงานต่อที่ประชุมสภาฯ 

 

               อย่างไรก็ตามความเห็นต่อประเด็นตั้งส.ส.ร.นั้น เป็นความเห็นที่เหมือนกับ กมธ.ฯ เคยเสนอและหารือกันไว้ต่อที่ประชุมกมธ.ฯ แต่ไม่มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากการพิจารณาเห็นว่ามีปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามมา เพราะการเปิดทางรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้มีส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมดได้ ต้องแก้ไขมาตรา 255 และมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่นับประเด็นการเชื่อมโยงอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากสมาชิกรัฐสภา แล้วยังพบว่ามีปัญหาเรื่องงบประมาณ ที่ต้องใช้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

 

               "การแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้มีส.ส.ร. ต้องใช้งบประมาณทำประชามติ ถึง 4 ครั้งๆ ละ ประมาณ 3,000 ล้านบาท  รวมประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทโดย ครั้งแรก คือ ต้องถามประชานต่อการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยเงื่อนไขนี้เป็นไปตามศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เมื่อปี 2556

 

               ครั้งที่สอง หลังจากผ่านประชามติครั้งแรกต้องทำตามขั้นตอนที่มาตรา 255 และมาตรา 256 กำหนดในรัฐสภา จากนั้นต้องทำประชามติอีก , ครั้งที่สาม คือ กระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.จากประชาชนทั่วประเทศ เป็นการใช้เงินเพื่อเลือกตั้งส.ส.ร. และครั้งที่สี่ คือ เมื่อส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จต้องนำไปทำประชามติอีกครั้ง" นายไพบูลย์ กล่าว  

 

               นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาต่อไปคือความขัดแย้งจากสมาชิกรัฐสภา คือ กลุ่ม ส.ส. และ ส.ว.  โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส. ที่มองว่าตนเองคือตัวแทนจากประชาชน และมีความชอบธรรมต่อการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้ง ส.ส.​ 500 คนสามารถทำได้เพราะมาจากความหลากหลายมากกว่า ส.ส.ร.เลือกตั้ง 100 คน ขณะเดียวกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. และ ส.ว.​ ดังนั้นเชื่อว่าการหาความเห็นร่วมเพื่อให้มี ส.ส.ร.​ นั้นอาจเกิดปัญหาได้ แต่วิธีดังกล่าวอาจทำได้ หลังจากที่ ส.ว.ที่มาตามบทเฉพาะกาลนั้นหมดอายุลง

 

               "แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ.ฯ ต้องไม่ทำตามความพอใจของใคร หรือทำตามคำพูดใคร เพราะหากรับฟังหรือคิดว่าต้องทำตามความพอใจของคนเสนอความเห็น นั้นไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตยที่ต้องรับฟังความเห็น พร้อมยอมรับความเห็นต่างๆ ผมเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้คือ ให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการแก้ไขรายมาตราที่เห็นร่วมกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ เพราะ ส.ส. และ ส.ว. ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนอยู่แล้ว" นายไพบูลย์ กล่าว

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ