ข่าว

พับแผนแจก 2 พัน "บิ๊กตู่" จ่อคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า3พันแทน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กตู่" สั่งทบทวน แนวทางแก้ "โควิด-19" ให้ชัดขึ้น ปรับ "ผีน้อย" หลบคัดกรอง เผยเตรียม 200 จุดใช้กักตัว สั่งตรวจสอบ 5 จุด อาจกักตุน "หน้ากากฯ" ลั่นพับแผนแจกเงิน 2 พัน เอาไว้อีกระยะหนึ่ง เผย คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 3 พันแทน เข้า "ครม." เล็งลดค่าไฟ-ประปา

 

 

          เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563 - ที่อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2563 ว่า การประชุมวันนี้สิ่งแรกที่ได้มีการหารือการบริหารราชการแผ่นดิน ตนได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนราชการบูรณาการงานระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 การแก้ปัญหาภัยแล้ง และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ บางครั้งเราต้องการความเร่งด่วนในการทำงาน จึงต้องรวมกันคิดตั้งแต่ตอนแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโควิด-19 วันนี้ได้เน้นย้ำในเรื่องการให้บริการประชาชนตามที่ได้รับการร้องเรียนว่าหลายอย่างที่นายกฯ และส่วนราชการพูดออกไป แต่พอไปถึงผู้ปฏิบัติประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการบริการ เท่าที่ตรวจสอบก็มีหลายอย่าง ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทั้งเรื่องการทำงาน กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ จึงได้เน้นย้ำไปว่าผู้ปฏิบัติข้างล่างจะต้องเข้าใจ ถ้าติดขัดตรงไหนให้สอบถามมายังระดับผู้บังคับบัญชา และเน้นย้ำให้ระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีลงไปตรวจสอบ ตนจะเปิดช่องทางให้มีการร้องเรียนถึงการทำงานในระดับพื้นที่มาที่นายกฯ โดยตรง จะได้สั่งการไปตรวจสอบได้ทันที โดยเฉพาะการเรียกรับผลประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นความไว้วางใจของรัฐบาล


          นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาโควิด-19 วันนี้ตนได้สั่งให้มีการทบทวนและให้แนวทางการปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยต้องเร่งสร้างการรับรู้ โดยวันนี้ประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ 2 ยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งระยะดังกล่าวคือการแพร่กระจายของคนในประเทศ แต่วันนี้มีความกังวลในกลุ่มแรงงานจากเกาหลีใต้ หรือผีน้อย ขอยืนยันว่าตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.เป็นต้นมา รัฐบาลสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ขาออกจากเกาหลีใต้ (Exit screening) ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้แจ้งไปยังทุกสายการบินว่าจะต้องแจ้งตั้งแต่ต้นทางว่าใครจะเข้าประเทศบ้าง ในกลุ่มที่ได้เข้ามาก่อนหน้านี้ก็ได้มีการติดตาม ขอข้อมูลรายละเอียดจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กระทรวงคมนาคม สายการบินและท่าอากาศยานต่างๆ ก็กำลังเร่งติดตามอยู่สำหรับคนที่เข้ามาก่อน เพื่อนำเข้าสู่ระบบให้ได้ ยอมรับเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก เพราะประชาชนของเราบางทีก็ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนหรือแจ้ง แต่กลับไปอ้อมเขามาอีกเส้นทาง จากนั้นก็ไปทานอาหารและโพสต์ภาพถ่ายออกมา แสดงว่าความรับผิดชอบต่อตัวเองในส่วนของสังคมค่อนข้างน้อย การแก้ปัญหาต่างๆ รัฐบาลต้องอาศัยความร่วมมือกับประชาชน พื้นที่ ซึ่งในภูมิลำเนาน่าจะรู้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบย้อนกลับทั้งหมด เพื่อนำเข้าสู่ระบบการคัดกรองให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งระบบการคัดกรองเรามีกฎหมายควบคุมอยู่แล้วว่าผู้ใดที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ถ้าไม่เข้ารับการตรวจสอบก็จะถูกลงโทษ มีทั้งคดีและการปรับ

 

          ส่วนข้อเสนอให้ปรับเป็นล้านบาทนั้น ตนคิดว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ถ้ายังแก้ไม่ได้ ก็จะไปดูแก้ที่ความรุนแรงกฎหมายให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ รัฐบาลได้เตรียมพื้นที่ควบคุมไว้กว่า 200 แห่งแต่ไม่ขอลงรายละเอียด แต่ยืนยันว่าเป็นสถานที่ปิดที่ควบคุมได้ จะเข้าออกได้เฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้น คล้ายพื้นที่สัตหีบ หลายคนได้ถูกส่งไปยังพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว แต่คนที่ยังไม่แจ้งต้องติดตามตัวกันต่อไป ในส่วนของพื้นที่ วันนี้กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร ได้เข้าไปดูแลและสำรวจ ร่วมกับท้องถิ่น ว่ามีผู้ใดเล็ดลอดหลบหนีจากการกักตัว วันนี้ก็มีเข้มงวดทุกด่านสกัด จึงขอให้เข้าใจด้วยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
               

          นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดวันนี้ยังอยู่ในจำนวนที่จำกัด มีการเพิ่มไม่มากนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้ วันนี้ประเทศอยู่ในลำดับที่ 25 ของ 100 กว่าประเทศแสดงให้เห็นถึงการทำงานของประเทศไทยที่มีคุณภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเชื่อมั่นและไว้วางใจ เราต้องเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน หลายอย่างตนปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว แต่ส่วนราชการต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบไปด้วยกัน
                    

          นายกฯ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ว่า วันนี้ได้มอบหมายให้มีการตรวจสอบไปอีกขั้นหนึ่ง ตัวเลขโดยประมาณเดือนละ 38 ล้านชิ้นที่ผลิตได้จาก 11 โรงงาน เฉลี่ยวันละ 1.8 ล้านชิ้น โดยมีสัดส่วน 8-9 แสนชิ้นที่ลงไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก และการกระจายลงไปยังโรงพยาบาลต่างๆ มีสัดส่วนที่ชัดเจน รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนด้วย แต่ปัญหาคือการบริหารจัดการ แต่เท่าที่ดูตัวเลขตอนนี้ส่งไปครบถ้วน เพียงแต่จะเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่พอแล้วจะทำอย่างไร ในส่วนที่เหลือหลังแจกจ่ายไปให้บุคลากรทางการแพทย์แล้ว ก็แจกจ่ายไปตามการค้าขายตามปกติ จะมีระบบส่งจากพ่อค้าคนกลางไปสู่ร้านค้า แต่วันนี้หลายร้านค้าไม่มีของ ก็ต้องไปดูว่าหายไปไหน เช้านี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบใน 5 จุด ซึ่งอาจจะมีการกักตุน รวมทั้งในจุดที่มีการแพร่ในโซเชียลฯ ขณะนี้รอผลตรวจสอบอยู่ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ
               

          นายกฯ กล่าวว่า แต่ถ้าความต้องการมีมากก็ต้องเข้าใจว่าอาจไม่เพียงพอ เพราะสินค้ามีจำนวนจำกัด 38 ล้านชิ้นต่อเดือน แล้วถ้าไม่พอจะทำอย่างไร วันนี้จึงได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ไปหารือเพิ่มสายการผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งคาดว่าจะได้อีกประมาณ 20 ล้านชิ้น แต่อาจจะต้องใช้เวลา และจะมีการออกมาจำหน่ายในลำดับต่อไป ขณะที่มท.ก็เริ่มแจกจ่ายหน้ากากผ้าไปบ้างแล้ว ถือเป็นหน้ากากทางเลือกในขณะนี้ และขอให้แยกแยะการใช้หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง บางครั้งถ้าอยู่บ้านก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะถ้าใส่กันมาก ความต้องการก็มีมาก ประเทศไทยมีคน 70 ล้านคน แต่เราผลิตได้เพียงเดือนละ 38 ล้านชิ้น ก็จำเป็นต้องเอาหน้ากากผ้ามาเสริม     

 

          นายกฯ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่าถ้ามีการแพร่ไปสู่ระยะที่ 3 จริง เราจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะตามโรงพยาบาล ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะเดียวกันก็ต้องความสำคัญกับสถานควบคุม โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์อย่างสถาบันบำราศนราดูร ที่รับผิดชอบโดยตรง รวมทั้งมีความเป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลได้ดูแลในส่วนของประกันสุขภาพ โยงมาถึงการรับบริจาคเงินของรัฐบาลยืนยันว่าไม่ใช่รัฐบาลไม่มีเงิน เพียงแค่ครม.เสนอมา ต้องการร่วมมือกันตั้งงบประมาณบริจาคมา แต่มีคนเอาไปพันกับงบฯน้ำท่วม ยืนยันว่าทุกงบฯ มีบัญชี มีการตรวจสอบและจะต้องขออนุมัติทุกครั้งในการใช้จ่าย ไม่ใช่จนหรือใครจะสั่งได้ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ทั้งนี้ เงินบริจาคดังกล่าวจะเผื่อไว้ถ้ามีความจำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณรัฐ ส่วนหนึ่งก็จะนำไปช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลายคนเอามาโยงกันทั้งหมด ทั้งเรื่องหน้ากากอนามัยไม่พอมาพันกับเงินบริจาคอย่างนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน เรื่องนี้ตนไม่ได้แก้ตัว แต่ต้องชี้แจงให้เข้าใจ               
                     
          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาในขณะนี้ ทุกเรื่องตนนำมาคิดใคร่ครวญทั้งหมด แม้จะมีการประชุมครม.เศรษฐกิจ ไปแล้วก็ตาม ทุกอย่างต้องเข้าสู่การคัดกรองของคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่อีกครั้ง ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะประกาศใช้ได้เลย หลายอย่างอาจจะยังไม่ออกมาใช้ก็ได้ แต่ยืนยันว่าทำอย่างไรประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 และผลกระทบด้านอื่นๆ จะได้รับการช่วยเหลือ

 

          “วันนี้ผมได้หารือกับกระทรวงพลังงานแล้ว เรื่องการจ่ายเงินคนละ 1,000 บาท จำนวน 2 เดือน ผมยังไม่จ่าย เอาไว้อีกระยะหนึ่ง ค่อยมาดู แต่วันนี้ได้พิจารณาจะคืนเงินให้ประชาชน เช่น ในเรื่องค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการประกันอยู่มิเตอร์ละประมาณ 3,000 บาท รัฐจะคืนตรงนี้ให้ ซึ่งถือว่ามากกว่า 2,000 บาท จะได้ทุกบ้าน ยกเว้น ผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะไม่ให้ คนที่จะได้คือผู้ที่มีบ้านเป็นของตัวเอง อย่างน้อยก็ประทังไปได้ 3,000 บาท ส่วนเงิน2,000 บาทเอาไว้ว่ากันภายหลัง ส่วนจะได้หรือไม่ได้ยังไม่รู้ ต้องขอไปดูเม็ดเงินก่อน โดยการคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า จะเสนอที่ประชุมครม. ในวันที่ 10 มี.ค. นี้ ได้ทั่วทุกคน ซึ่งจะมากจะน้อยก็ขอให้รับไปก่อน ถ้าให้มากเกินไปรัฐบาลก็เป็นปัญหาอีก รายได้รัฐลดลง การเก็บภาษีได้น้อยลงก็ยอมรับ แต่ก็ต้องหาทางอื่นในวันหน้าว่าจะทำอย่างไร เรื่องเงิน 2,000 บาทไว้ว่ากันอีกทีเพราะเดี๋ยวจะว่าทำเรื่องการเมืองกันอีก คงไม่ใช่หรอก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาไม่ใช่ว่าจะไม่ให้ ต้องให้กระทรวงการคลังไปทำบัญชีทุกอย่างให้พร้อมก่อน วันนี้เอาอย่างนี้ไปก่อน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
                      

         นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้หารือกับกระทรวงพลังงานในเรื่องของค่าไฟฟ้า ค่าประปา พิจารณาดูว่าอะไรจะลดราคาได้บ้าง รวมทั้งค่าพลังงาน ค่าน้ำมัน แก๊ส จึงขอร้องว่าอย่าเพิ่งมาตีกันว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย      

                
          “นายกฯ พูดแต่หลักการรับได้กันไหม ใช้ปัญญาหรือเปล่า โดยหลังจากนี้ก็ต้องไปดูว่าข้าราชการทำได้แค่ไหนอย่างไร เพราะต้องใช้กฎหมายทุกตัว ไม่ใช่นายกฯสั่งส่งเดชมันก็ทำไม่ได้ ทุกเรื่องก่อนที่จะเข้าครม. สำนักงบประมาณและสภาพัฒน์ฯ เลขาธิการครม.และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายจะคัดกรองเอกสารก่อนเข้าครม.ทุกครั้ง อันไหนที่ไม่ได้ดึงออกก่อนทำอย่างนี้มา 5-6 ปีแล้ว ให้ไปทำมาใหม่เพราะถ้ารีบร้อนเกินไปก็จะเกิดปัญหาแต่มาตรการหลักๆ ก็ต้องออกไปก่อน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ