ข่าว

คุก "ปลอด" 1 ปี 8 เดือน - อุทธรณ์พลิกขัง "ธาริต" 2 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปลอดประสพ" นอนคุก ศาลฎีกาสั่งจำคุก 1 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา ย้ายลูกน้องไม่เป็นธรรม ศาลอุทธรณ์พลิกจำคุก "ธาริต - 3 ดีเอสไอ" 2 ปี คดีแจ้งข้อหา "มาร์ค-สุเทพ" ฆ่า ปชช.

 

              เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563  ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี เวลา 13.00 น. นายปลอดประสพ สุรัสวดี อายุ 75 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ที่ศาลได้ออกหมายจับให้ติดตามตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1063/2558 ที่ นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เดินทางมารายงานตัวต่อศาลก่อนถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาฎีกาครั้งที่สามในวันที่ 7 เมษายน นี้ พร้อมขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ด้วย โดยวันนี้นายปลอดประสพมีอาการป่วย ใส่หน้ากากอนามันและนั่งรถเข็นมาศาล พร้อมทั้งมีบุตรชาย ญาติและคนใกล้ชิดนับสิบคนมาร่วมให้กำลังใจด้วย

 

 

 

              ทั้งนี้ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.1063/2558 พร้อมระบุว่าเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2546 นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตัั้งนายวิฑูรย์ โจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรสหกรณ์ แต่จากนั้นมีการตรา พ.ร.ฎ.โอนป่ากรมป่าไม้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลเมื่อลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 กันยายน 2546 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองการอนุญาต กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

              ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2546-12 พฤศจิกายน 2556 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกคำสั่งกระทรวงทรัพยากรฯ ให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่ง 399/2546 ซึ่งแต่งตั้งโจทก์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนอันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ เพื่อยับยั้งไม่ให้โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่ง สาเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวกันมาก่อน กระทั่งวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ด้วยการให้นายดำรงค์ พิเดช ออกคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 543/2546 ย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 เป็นการย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม คำสั่งย้ายที่จำเลยให้ความเห็นชอบนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. โดยนายปลอดประสพ จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีโดยตลอด

 

 

 

              คดีนี้ “ศาลชั้นต้น” มีคำพิพากษา เห็นว่าการที่จำเลยมีคำสั่งไม่แต่งตั้งโจทก์ให้เลื่อนขั้นเป็นข้าราชการระดับ 9 นั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงให้จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี พร้อมให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท ต่อมาทั้งนายปลอดประสพ จำเลย และนายวิฑูรย์ โจทก์ ต่างยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พฤติการณ์จำเลยนับว่าเป็นความผิดร้ายแรงจึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษจึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่งที่ใช้ให้นายดำรงค์โยกย้ายโจทก์ จึงให้จำคุก 2 กระทง กระทงละ 1 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทด้วย

 

 

 

              ขณะที่นายปลอดประสพ จำเลย ได้ยื่นฎีกาต่อสู้คดีและได้ประกันตัวระหว่างฎีกา ด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท แต่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งให้ปรับนายประกันเต็มจำนวนและให้ออกหมายจับนายปลอดประสพ จำเลยมาฟังคำพิพากษา

              ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลย เป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการจึงไม่ควรรอการลงโทษ และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาทนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนบทลงโทษศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ให้จำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน โดยให้ออกหมายคดีถึงที่สุดด้วย

 

 

 

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังที่ได้รับฟังคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งผลถือเป็นที่สุดตามกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวนายปลอดประสพ อดีตรองนายกฯ และอดีตปลัด ทส. ไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรับโทษตามผลการพิพากษา

              วันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา โดยข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553

 

 

 

              คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ โดยเห็นว่าพยานที่โจทก์นำสืบมานั้นไม่เห็นว่าจำเลยที่จงใจกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไรในการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ก่อนหน้าที่จะมีความเห็นควรแจ้งข้อหาโจทก์ที่ 1-2 ในความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผลจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 จำเลยทั้งสี่เคยมีความเห็นว่าการชุมนุม นปช.เป็นความผิดกฎหมาย จึงแจ้งข้อหาก่อการร้าย แสดงว่าจำเลยที่ 1-4 เห็นว่าโจทก์ที่ 1-2 กระทำไปตามหน้าที่ แม้ภายหลังการไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง ศาลอาญาจะชี้ว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นความผิด

              จากการพิจารณาพฤติการณ์ประกอบกัน ฟังได้ว่าการที่จำเลยทั้งสี่มีความเห็นต่างจากเดิม เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองเพื่อเอาใจรัฐบาล ผลในการต่ออายุตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ การที่จำเลยทั้งสี่สืบสวนสอบสวนโจทก์ทั้งสอง พร้อมแจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผลทั้งที่เป็นอำนาจ ป.ป.ช. การกระทำจึงเป็นความผิดตามฟ้อง โดยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง การกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 200 วรรคสอง จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 3 ปี คำเบิกความเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ