ข่าว

ปชป.ล่อกันเอง สกัด "ธรรมนัส" ผวาเจาะฐานเสียงภาคใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ธรรมนัส" โวยแผน ปชป. ต้องการปรับ ครม. ยันแจงเคลียร์ทุกปม "สาทิตย์" นำ 17 เสียง จี้ ทบทวน โหวต 6 รมต. ผ่านฉลุย ฝ่ายค้านเสียงแตกฟัดกันเละ

 

              ถึงแม้เสียงในสภาต่อผลการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี 4 เดือน เมื่อ 5 รัฐมนตรี และ 1 นายกฯ ในรัฐบาลได้รับคะแนน “ไว้วางใจ” จากที่ประชุมสภาทั้งหมด แต่ตัวเลขการลงคะแนนให้รัฐมนตรีกลับมีนัยสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่เสียง ส.ส. ฝั่งรัฐบาลจะเทมาที่ผู้ถูกอภิปรายเท่านั้น แต่กลับมีเสียง ส.ส. ฝ่ายค้านบางส่วนเสียบบัตรลงคะแนน “ไว้วางใจ” สวนมติ 5 พรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมการลงคะแนนครั้งนี้

 

 

 

              อย่างไรก็ตาม ยังเห็น “จุดยืน” ส.ส. ในรัฐบาลโดยเฉพาะจากขั้วประชาธิปัตย์บางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว “ไม่ไว้วางใจ” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ถึงแม้จะจำยอมเสียบบัตรโหวต “ไว้วางใจ” ก็ตาม โดยในช่วงค่ำคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ภายหลังสภาจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุม ส.ส. ทันที เพื่อกำหนดทิศทางการลงมติในวันรุ่งขึ้น

              ท่ามกลางแรงกระเพื่อมที่มาจาก ส.ส. ในพรรคส่งสัญญาณในที่ประชุมเพื่อแสดงจุดยืน หากมีรัฐมนตรีคนใดชี้แจงข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านไม่เคลียร์ ไม่ควรมีสิทธิ์ได้รับการไว้วางใจ โดยในวงประชุมมี 17 ส.ส. อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง , นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช , นายอันวาร์ สาและ ส.ส. ปัตตานี , นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ฯลฯ เสนอ “ไม่ไว้วางใจ” ร.อ.ธรรมนัส ภายหลังตอบฝ่ายค้านไม่ชัดเจน จากข้อกล่าวหาเรื่องคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย และคุณวุฒิการศึกษา

 

 

 

              แต่สุดท้ายประชาธิปัตย์ต้องยึดมติพรรค เพื่อรักษามารยาททางการเมืองในสถานะพรรคร่วม ให้โหวต “ไว้วางใจ” 24 ต่อ 17 เสียงลงมติในทิศทางเดียวกัน โดย 17 ส.ส. ทำได้เพียงกดดันถึงหัวหน้ารัฐบาล ในการตัดสินใจทบทวนคณะรัฐมนตรี เมื่อรัฐบาลกำลังถูกตั้งคำถามถึงภาพลักษณ์ของรัฐมนตรีใน ครม. ถึง “มลทิน” ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งขัดแย้งกับเงื่อนไข 1 ใน 3 ที่เข้าร่วมรัฐบาลต้องไม่มีการทุจริต

              นายเทพไทออกมาแสดงจุดยืนตัดสินใจฝืนโหวตและกระทำขัดต่ออุดมการณ์พรรค จากวรรคสำคัญที่ประกาศไว้ “สุดท้ายก็ต้องจำใจทำตามมติ ส.ส. ของพรรค ลงมติไว้วางใจให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ด้วยการใช้ปากกากดลงคะแนนแทนการใช้มือกด เพราะเชื่อว่ามือที่สะอาดไม่ควรไปเปรอะเปื้อนกับสิ่งสกปรก เก็บมือที่สะอาดไว้สำหรับทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนดีกว่า”

 

 

 

              จนมาถึงรุ่งเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ออกมายืนยันถึงเอกภาพของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีมติไปในทางเดียวกัน จากหมวกใบเดียวในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล พอใจกับคำชี้แจงจากรัฐมนตรีตลอด 4 วันเต็ม ส่วนประเด็นที่ประชาธิปัตย์จะโหวตสนับสนุน ร.อ.ธรรมนัส ถือเป็นการถกเถียงเป็นธรรมดาหลังการอภิปราย

              เช่นเดียวกับ นายสาทิตย์​ , นายเทพ​ไท ​, นายอันวาร์​​ และนายพนิช ที่ร่วมกันแถลงก่อนโหวตญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

              โดยนายสาทิตย์​ กล่าว​ว่า​ เมื่อคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้ประชุมหารือถึงการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ซึ่งในบรรดานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 5 คนที่ถูกอภิปรายได้ชี้แจงประเด็นข้อกล่าวหา หรือแม้แต่บางคนยังไม่ถูกอภิปราย แต่ก็ได้ชี้แจงไปบ้าง โดยที่ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า​ มีจำนวน​ 5​ คนที่เราไม่ติดใจ แต่มีการถกกันมากในกรณีของ​ ร.อ.ธรรมนัส ​มีการยกเหตุผลว่าจะลงมติกันอย่างไร ส.ส. จำนวนมากในพรรคเห็นว่า ร.อ.ธรรมนัส ไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคดีที่ประเทศออสเตรเลีย ทั้งคุณวุฒิการศึกษาและประเด็นอื่น รวมถึงมีการหยิบยกประเด็นอื่นๆ กันขึ้นมาเพื่อหารือว่าจะลงมติกันอย่างไร​ จนในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ต้องใช้วิธีลงมติกัน ถือเป็นครั้งแรกที่ต้องใช้วิธีนี้ ผลปรากฏว่า​เห็นควรลงมติไว้วางใจ 24 เสียง และลงมติไม่ไว้วางใจ 17 เสียง ถือเป็นเสียงไม่ไว้วางใจที่มีค่อนข้างมาก

 

 

 

              “พวกผม 4 คนอยู่ใน 17 เสียง ที่เห็นว่ายังไม่ควรไว้วางใจ​ ร.อ.ธรรมนัส แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติเช่นนี้ เราจำเป็นต้องดำเนินการตามมติพรรค ส่วนที่ต้องออกมาแถลงข่าวเพื่อต้องการส่งสัญญาณถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีว่าการได้เสียงไว้วางใจจะนับเฉพาะในสภาไม่ได้ ควรจะฟังเสียงประชาชนด้วย ซึ่งกระแสความไว้ไม่ไว้วางใจ​ ร.อ.ธรรมนัส เป็นที่กังขาอย่างมาก จึงขอเรียกร้องไปยังผู้นำรัฐบาลจะต้องหยิบประเด็นนี้ไปทบทวน จึงจำเป็นต้องแถลงจุดยืนว่าทั้ง 17 คนจำเป็นต้องทำตามมติพรรคแต่นายกฯ ต้องนำความติดใจกังวลใจและข้อกังขาของส่วนหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์รวมถึงประชาชน​ โดยสัญญาณดังกล่าวหวังว่านายกฯ จะรับฟังและนำไปสู่การทบทวนเพื่อความมั่นคงของรัฐบาลที่ต้องขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของประชาชนทั่วประเทศ” นายสาทิตย์ ​กล่าว

 

 

 

“ธรรมนัส” ซัดแผน ปชป. ปรับ ครม.

              แรงกระเพื่อมจากพรรคประชาธิปัตย์นี้ กำลังส่งต่อไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ต่อการตัดสินใจของนายกฯ จากนี้จะรักษาเอกภาพเรือเหล็กต่อไปอย่างไร

              แหล่งข่าวระดับสูงบอกกับ “คม ชัด ลึก” ถึงเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์เล่นแง่กับ ร.อ.ธรรมนัส เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการสกัด ร.อ.ธรรมนัส ออกไปจากกระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากหลายโครงการหลายนโยบายที่ ร.อ.ธรรมนัส พุ่งเป้าไปในการช่วยเหลือเกษตรกรในจังหวัดภาคใต้ ทั้งเรื่องยางพารา และปาล์ม เป็นต้น ประกอบกับ ร.อ.ธรรมนัส เป็นคนคอยประสานงานกับ ส.ส. ภาคใต้ของพรรคพลังประชารัฐ ที่คอยทำคะแนนในพื้นที่ และแน่นอนว่า พรรคพลังประชารัฐมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวน ส.ส. มากกว่าเดิม นี่จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคของพรรคประชาธิปัตย์

 

 

 

              เช่นเดียวกับที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่พยายามเตะตัดขาคนของพรรคภูมิใจไทย ทั้ง ส.ส. ในพื้นที่ และนางนาที รัชกิจประการ ก็เพราะว่าต้องการสกัดไม่ให้พรรคภูมิใจไทยเติบโตมากกว่าเดิมในภาคใต้นั่นเอง

              “เรื่องประชาธิปัตย์ ผมคิดไว้แต่แรกแล้ว” ร.อ.ธรรมนัส กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” และว่า “เป็นแผนประชาธิปัตย์ต้องการให้ปรับออกจากคณะรัฐมนตรี โดยการยืมมือฝ่ายค้าน ทั้งๆ ที่ผมชี้แจงได้เคลียร์”

 

“บิ๊กตู่” บริหารต่อโหวตผ่านฉลุย

              ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (28 ก.พ.) เพื่อลงมติในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร เป็นประธานที่ประชุม โดยก่อนการลงมติได้เปิดให้ ส.ส. ปรึกษาหารือ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะขอใช้สิทธิ์ไม่ร่วมสังฆกรรม และไม่ขอเข้าร่วมลงมติในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบภายหลังผู้เสนอญัตติของฝ่ายค้านไม่ได้อภิปรายสรุปญัตติตามข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งถือว่าการอภิปรายยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ

 

 

 

              ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) หลายคนได้พร้อมใจกันแต่งกายชุดดำเพื่อไว้ทุกข์ โดย นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ขอแต่งกายชุดดำเพื่อไว้ทุกข์ให้แก่การประชุมสภา ที่ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภา

              จากนั้นเป็นการลงมติโดยผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รับมติไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 49 งดออกเสียง 2 เสียง ถือว่าที่ประชุมมีมติไว้วางใจเพราะเสียงกึ่งหนึ่ง 244 เสียง , พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีมติไว้วางใจ 277 เสียง ไม่ไว้วางใจ 50 งดออกเสียง 2 เสียง , นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีมติไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 54 งดออกเสียง 2 เสียง , พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มีมติไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 54 งดออกเสียง 2 เสียง , นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ มีมติไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 55 งดออกเสียง 2 เสียง และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีมติไว้วางใจ 269 เสียง ไม่ไว้วางใจ 55 งดออกเสียง 7 เสียง

 

 

 

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ เป็นที่จับตาว่าผลคะแนนโหวตของ พล.อ.ประวิตร สูงสุด มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่คะแนนโหวตของ ร.อ.ธรรมนัส ได้น้อยที่สุดในจำนวน 6 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่วิปรัฐบาลกำชับ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่ให้คะแนนโหวตรัฐมนตรีเท่ากันทุกคน ทำให้เป็นที่จับตาและวิจารณ์ในหมู่ ส.ส. อย่างมาก

 

แฉ 5 งูเห่าโหวตหนุน “บิ๊กป้อม”

              มีรายงานว่า จากการตรวจสอบการลงคะแนนโหวตที่ พล.อ.ประวิตร ได้คะแนนสูงกว่านายกฯ และ 4 รัฐมนตรี พบว่า 5 เสียงที่ลงมติไว้วางใจให้ พล.อ.ประวิตร ประกอบด้วย น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา พรรคเสรีรวมไทย , นายวัชรา ณ วังขนาย พรรคเสรีรวมไทย , นายอำไพ กองมณี พรรคเสรีรวมไทย , น.ส.พรพิมล ธรรมสาร พรรคเพื่อไทย และ นายพลภูมิ วิภัตภูมิประเทศ พรรคเพื่อไทย

 

 

 

              แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับ 2 ส.ส. พรรคเพื่อไทย เคยลงมติสวนมติพรรคไปก่อนหน้านี้และถูกตั้งกรรมการสอบสวน ส่วน 3 เสียงของพรรคเสรีรวมไทย คือเสียงใหม่ที่ลงมติต่างจากรัฐมนตรีคนอื่น ทั้งนี้สำหรับพรรคเสรีรวมไทย มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าพรรค และมีบทบาทสำคัญในการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะประเด็นถวายสัตย์ที่สร้างความปั่นป่วนในการอภิปรายครั้งนี้ เนื่องจากที่ประชุมไม่ยอมให้อภิปรายในประเด็นดังกล่าว

 

เศรษฐกิจใหม่งดออกเสียง “ธรรมนัส”

              รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วน ร.อ.ธรรมนัส ที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจ 269 เสียง ไม่ไว้วางใจ 55 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง ซึ่งได้รับคะแนนไว้วางใจน้อยที่สุดใน 5 รัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากการตรวจสอบการลงญัตติของสำนักรายงานการประชุมสภาพบว่าเสียงของ 5 ส.ส. พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) ลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง 5 คน แต่งดออกเสียงให้แก่ ร.อ.ธรรมนัส ประกอบด้วย นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ , นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ , นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ , นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ขณะที่ 2 เสียง ที่งดออกเสียง คือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา และ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา คนที่หนึ่ง ซึ่งเป็นปกติของการทำหน้าที่ในสภา ทั้งนี้พบว่า ร.อ.ธรรมนัส ได้ลงคะแนนไว้วางใจให้แก่ตนเองด้วย ขณะเดียวกัน นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส. นครพนม พรรคภูมิใจไทย หรือ สหายแสง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้ลงมติไว้วางใจนายกฯ กับ 5 รัฐมนตรีด้วย

 

 

 

วิปรัฐบาลปลื้มคะแนนเกินเป้า

              ด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายว่า ขอบคุณสมาชิกทุกคนที่โหวตไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง 6 คน ด้วยคะแนนที่มากกว่าที่เราเตรียมการไว้ ส่วนคะแนนของ พล.อ.ประวิตร ที่พบว่ามากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นนั้น เพิ่มขึ้นมาจากพรรคเพื่อไทย 2 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย 3 เสียง ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ถือว่าอยู่ในระนาบเดียวกัน ส่วนคนที่คะแนนเกิดอุบัติเหตุก็ต้องขออภัย หลังจากนี้จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ให้คะแนนอยู่ในระนาบเดียวกันให้ได้มากที่สุด

              “การลงมติครั้งนี้ถือเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย คะแนนเสมอกันไม่มีอะไรบิดเบี้ยว แต่ก็แปลกใจที่ผู้เสนอไม่ไว้วางใจไม่อยู่ร่วมโหวตด้วย และยืนยันรัฐบาลสามารถยืนด้วยขาตัวเองได้ ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ก็มีกฎหมายสำคัญคือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งเราก็โหวตเฉพาะเสียงรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าเรายืนด้วยขาตัวเองได้” นายวิรัชกล่าว

              เมื่อถามว่าคะแนนเสียงที่รัฐบาลเตรียมการไว้คือเท่าไร นายวิรัช กล่าวว่า 269 เสียง และคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ก็มาเต็มเปรี๊ยะ ส่วนคะแนนที่เพิ่มมานั้นไม่ทราบจริงๆ ว่าเพราะอะไร และคะแนนที่เพิ่มเราไม่สามารถควบคุมได้

 

 

 

“บิ๊กตู่” สบายใจผ่านศึกซักฟอก

              ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ทุกอย่างเรียบร้อย ทั้งหมดเป็นเรื่องของสภา และการประชุมเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ได้ทำตามข้อบังคับ เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญทุกประการ ต้องขอขอบคุณทุกคนและประชาชนที่ให้กำลังใจแก่รัฐบาล

              “วันนี้ก็ได้สบายใจไปอีกอย่างหนึ่งเพราะได้ผ่านพ้นตรงนี้ จะได้ไปทำงานด้านอื่นๆ ซึ่งมีอีกหลายงานที่รออยู่ และนี่คือความจำเป็นของรัฐบาลที่ต้องทำงานและเตรียมการในด้านงบประมาณ ซึ่งได้มีการประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าทุกโครงการที่รัฐบาลทำไป จะลงไปสู่กลุ่มต่างๆ ให้ครบทุกกลุ่ม ทั้งประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งมนุษย์เงินเดือนต่างๆ แต่ก็ขึ้นกับว่าเราจะมีงบประมาณมากน้อยเพียงใด เพราะมีงบประมาณทั้งที่ลงไปถึงมือประชาชนโดยตรง ซึ่งต้องมาพิจารณาร่วมกันอีกหลายกระทรวง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

              นายกฯ กล่าวอีกว่า ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจก็ไม่ได้สั่งทั้งหมดพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกคนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเป็นการเชิญมาร่วมมือกับรัฐบาลไม่ใช่ไปบอกก่อนว่าเราจะทำอะไร ดังนั้นอย่าคิดว่าอะไรก็เอื้อประโยชน์กันทั้งหมด ขอร้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลชุดนี้บ้าง เราทำงานด้วยความตั้งใจ ซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ อะไรที่เป็นปัญหาก็ให้กระบวนการยุติธรรมว่ากันไป ซึ่งทุกคนต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม ตนก็คงไปบังคับใครไม่ได้ ถ้าทุกคนต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขต้องเริ่มจากที่ตัวเองก่อน รัฐบาลไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งกับใครทั้งสิ้น

 

 

 

นายกฯ ลั่นยังไม่ถึงเวลาปรับ ครม.

              ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า “ไม่มีการปรับ” เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้โผ ครม. เตรียมพร้อมไว้แล้วหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ยังไม่ถึงเวลา” เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) บางส่วนจะมาร่วมด้วยหากเป็นเช่นนั้นต้องเกลี่ยสัดส่วนครม.ใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “เอาข่าวมาจากไหน”

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยสีหน้าเรียบเฉยและใช้เวลาให้สัมภาษณ์ยาวถึง 12 นาที ก่อนเดินทักทายพร้อมถ่ายรูปกับเจ้าหน้าที่ประจำรัฐสภาเพื่อเป็นที่ระลึกก่อนเดินทางกลับไปยังทำเนียบรัฐบาลทันที โดยไม่มีวาระงานอย่างเป็นทางการแต่ใช้เวลาในการตรวจเอกสารและโครงการต่างๆ ภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 มีผลบังคับใช้

 

 

 

บิ๊กป้อมปัดตอบลือฮั้วเพื่อไทย

              ด้าน พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์เมื่อเดินทางมาถึงรัฐสภาก่อนโหวตลงมติด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ผู้สื่อข่าวถามว่าพอใจหรือไม่ที่ไม่ถูกอภิปราย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็อภิปรายอยู่ ไม่ถูกอภิปรายอะไร โธ่” เมื่อถามถึงกระแสข่าวการฮั้วกับพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร ได้แต่ยิ้ม ไม่ได้ตอบคำถามใดๆ ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ ปฏิเสธตอบคำถามถึงความมั่นใจในเสียงโหวตของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ โดยมีสีหน้าเรียบเฉยก่อนขึ้นไปยังห้องประชุมสภา

              ต่อมา พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับเสียงไว้วางใจมากถึง 277 เสียง ว่า เป็นเรื่องของสภา เมื่อผู้สื่อข่าวถามกรณีที่ ส.ส.อนาคตใหม่ จะนำข้อมูลไปอภิปรายนอกสภาถึงการดำเนินการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เดี๋ยวจะลงรายละเอียดในเว็บไซต์ให้อ่าน ก็เห็นอยู่แล้วว่าอยู่มาตั้ง 15 ปีไม่มีเชื่อมโยงกลุ่มทุนใดๆ 

              เมื่อถามย้ำว่าแต่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงว่าข้อมูลในการอภิปรายจะถูกนำไปใช้พูดนอกสภาหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เป็นไร

 

 

 

“ธรรมนัส” รับได้หมดผลโหวต

              ด้าน ร.อ.ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์ก่อนการโหวตลงมติว่า เรื่องของการโหวตลงมติตนไม่ได้ร่วมประชุมกับพรรคพลังประชารัฐที่มีการประชุมเช้านี้ ส่วนผลการลงคะแนนลงมติวันนี้ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่มีผลสำหรับตน ในส่วนของรัฐบาลก็ไม่ได้คุยกับใครว่าเสียงจะเป็นอย่างไร และก็ไม่ได้มีความกังวลใจ เมื่อถามว่า สิ่งที่ชี้แจงมั่นใจว่าเพื่อนสมาชิกจะเข้าใจหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ตอบว่า แล้วแต่เพื่อนสมาชิก เราถือว่าทำดีที่สุดแล้ว มีอีกเยอะที่ยังไม่ได้ออกมา

              เมื่อถามว่าไม่ว่าผลมติจะออกมาเป็นอย่างไรรับได้ใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เราเข้ามาสู่เวทีการเมืองแล้ว มันต้องยอมรับอะไรที่เป็นบวกเป็นลบได้ทุกสถานการณ์ ไม่ใช่ว่าเข้าสู่การเมืองแล้วโดนอะไรหน่อยร้องเหมือนสุนัขโดนเหยียบหาง 

              เมื่อถามว่าจะมีผลต่อการร่วมรัฐบาลหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นเรื่องของนายกฯ เราก็เป็นแค่รัฐมนตรีช่วยตัวเล็กๆ เมื่อถามว่า โดยมารยาทแล้วเสียงควรจะเท่ากันหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า นี่เป็นการเมืองระบอบประชาธิปไตย เสียงของส.ส.แต่ละคนเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะใช้ดุลพินิจของตัวเอง เมื่อถามว่า คิดว่าผลจากการลงมติจะมีผลต่อการปรับ ครม. หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องของนายกฯ เป็นการหารือของผู้ใหญ่

 

 

 

              ส่วนข้อกล่าวหาทั้งหมดที่ชี้แจงไปพอใจหรือไม่นั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ยังมีอีกเยอะที่ยังไม่ได้เอาออกมา เดี๋ยวค่อยเอาออกมาทีละช็อต ความเห็นส่วนตัวของตนเมื่อเขาเล่นการเมืองนอกสภา ตนก็จะเล่นการเมืองนอกสภา เขาเล่นวิธีไหนตนก็จะเล่นวิธีนั้น จะมีการชี้แจงนอกสภาอีกครั้ง และฝากเรียนว่าดำเนินคดีไปแล้วหลายท่านที่ จ.พะเยา ไม่ได้ขู่แต่เอาจริงในเรื่องนี้ และอย่ามาขอร้องให้ถอนฟ้องก็แล้วกัน โดนหมดข้อหาหมิ่นประมาทก็เตรียมแล้วกันทั้งอาญาและแพ่ง

 

อ้างกดดันคะแนน “บิ๊กตู่” ไขก๊อก

              มีรายงานข่าวจากแกนนำพรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยว่า จากการที่มี 3 ส.ส. ของพรรค ลงคะแนนสนับสนุน พล.อ.ประวิตร ไม่ได้เกิดจากปัญหาความขัดแย้งกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ หรือถูกซื้อตัวให้ย้ายขั้วเป็นงูเห่าในฝั่งของรัฐบาล แต่เป็นความตั้งใจลงคะแนนให้ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของพรรค ที่ต้องการแสดงออกให้เห็นว่าคะแนนของผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละคนมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถือเป็นหัวหน้ารัฐบาล กลับมีคะแนนน้อยกว่า พล.อ.ประวิตร ซึ่งไม่ได้ถูกอภิปรายพาดพิงถึง จึงต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความรับผิดชอบต่อคะแนนเสียงที่ได้รับความไว้วางใจน้อยกว่าคนเป็นรองนายกรัฐมนตรี

 

 

 

              “ใจจริงแล้วทั้ง 3 คนไม่ได้รักชอบพอหรืออยากจะยกมือให้ พล.อ.ประวิตร แต่ยุทธศาสตร์นี้ต้องการสร้างความแตกต่างของผลคะแนนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นนายกฯ แทนที่จะได้คะแนนไว้วางใจมากที่สุด กลับได้เป็นลำดับรอง ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำอีกต่อไป และ ส.ส. ของพรรคทั้ง 3 คนพร้อมทำงานกับพรรคเสรีรวมไทยต่อไป” แหล่งข่าวแกนนำพรรคเสรีรวมไทยกล่าว

              ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ที่นี่ไม่มีงูเห่า เหตุผลคืออะไร ติดตามได้ในไลฟ์สด 20.15 น.คืนนี้”

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการลงมตินั้น น.ส.นภาพร ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “วันนี้ ดิฉันเข้ามาโหวตลงมติไม่ไว้วางใจ แม้ว่าสวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ก็เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ช่วงการโหวตคนแรกคือนายกฯ เหมือนบัตรจะไม่ปกติ ดิฉันจึงขอยืนขึ้นพูด เพื่อแสดงเจตนาอีกครั้งค่ะ”

 

 

 

“วัชรา” แจงหนุน - ปัดรับกล้วย

              ต่อมา นายวัชรา กล่าวถึงกรณีการลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร ว่า เนื่องจากเห็นว่า พล.อ.ประวิตร ยังไม่ได้ถูกอภิปราย และไม่มีข้อมูลใดๆ จึงยังไม่รู้ว่าผิดอย่างไร หากจะให้ไปลงมติไม่ไว้วางใจเลยคงไม่ได้ อะไรที่ยังไม่เกิดจะไปว่าเขาก่อนคงไม่ได้ อีกทั้งที่ผ่านมาการทำงานในอดีตของ พล.อ.ประวิตร เห็นว่าทำงานได้ดีหลายเรื่อง จึงลงมติให้ความไว้วางใจ ทั้งนี้การลงมติดังกล่าวตนจะไปทำความเข้าใจกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะอธิบายให้เข้าใจเหตุผล เชื่อว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้าใจ เพราะท่านเป็นคนมีเหตุผล ตนลงมติตามความคิดของตัวเอง ไม่ใช่งูเห่า ไม่เคยรับเงินหรือกล้วยใดๆ ทั้งสิ้น

 

ภท. ยัน ส.ส. 61 คน ไม่มีสวนมติ

              นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวภายหลังการลงมติว่า ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ได้ลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะครบทั้ง 61 คน โดยไม่มีใครลงคะแนนสวนมติพรรค 

              มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงเช้าก่อนลงมติทางพรรคภูมิใจไทยได้มีการประชุม ส.ส.เป็นการภายใน โดยแกนนำพรรคระบุจำเป็นต้องโหวตสนับสนุนเพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และเรื่องวินัยของพรรคสำคัญที่สุด จึงส่งผลให้ ส.ส.ทั้ง 61 คนโหวตไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพของพรรค

 

 

 

              ส่วนกรณี นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ไม่ลงคะแนนเสียงลงมติขอปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (27 ก.พ.) สร้างความไม่พอใจให้กับแกนนำพรรคถึงขั้นมีการตำหนิและไปพูดคุยกับ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ซึ่งเป็นบิดาว่าบุตรชายควรคำนึงถึงวินัยของพรรคมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นคนรุ่นใหม่

 

พท. รับบังคับให้โหวตไม่ได้

              นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ ว่า วันนี้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน 5 พรรค และรองหัวหน้าอนาคตใหม่ได้ส่งตัวแทนเข้ามาประชุมร่วมกัน โดยได้สรุปผลการทำงานในช่วงที่ผ่านมา เรียนว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เราตั้งใจเต็มที่ที่จะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ และคาดหวังว่าวันสุดท้ายคือวันสรุปจะเป็นวันที่เราจะได้สรุปให้ดีที่สุดมีทีเด็ด แต่เสียดายที่ไปไม่ถึงตรงนั้น ไม่โทษอื่นใด เราโทษว่าตัวเราประเมินฝ่ายรัฐบาลผิดพลาด เรายอมรับว่าเรามีการตกลงกันจริงระหว่าง 3 ฝ่าย แต่เป็นการตกลงให้บริหารกระชับ ให้จบที่เวลา 19.00 น. แต่ก็พูดปลายเปิดไว้ว่า ถ้าอภิปรายไม่จบอย่างไรให้ขยายไป 24.00 น. ซึ่งหลายวันที่ผ่านมาเราก็อภิปรายกันถึงตี 1 ตลอด เราก็คิดว่าวันสุดท้ายจะไปถึง 24.00 น. ก็น่าจะไม่มีปัญหา ตลอดการอภิปรายเราพยายามจัดคิวเต็มที่แต่ก็คลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นธรรมชาติของการอภิปรายทุกครั้งที่ไม่มีใครสามารถทำให้ตรง 100% ได้ เพราะมีหลายปัจจัยทั้งรัฐบาลประท้วง ฝ่ายค้านประท้วง รัฐมนตรีชี้แจงฯลฯ เรื่องเวลาเกิน 

 

 

 

              “เราต้องขอโทษเพื่อนร่วมงาน แต่เราเชื่อว่าเวลาที่เหลืออยู่จะขอได้ และเพื่อนจะได้อภิปรายกันครบ แต่เมื่อเราเห็นปัญหาที่ส่อว่าจะทำให้การอภิปรายมีปัญหา เราก็ได้เลื่อนให้ นายปกรวุฒิ อุดมพิพัฒน์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อนาคตใหม่ ได้อภิปราย พล.อ.ประวิตร ทั้งที่ไม่อยู่ในคิว แต่ก็ไม่จบอยู่ดี อภิปรายได้เพียงครึ่งหนึ่ง ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ได้อภิปรายถึงเลย ก็มีการเจรจาต่อรองกันหลายรอบ ฝ่ายรัฐบาลก็อ้างว่าเป็นข้อตกลง เราก็ยอมรับว่าเป็นข้อตกลง แต่ถ้าข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ ข้อตกลงก็ไม่ได้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ข้อตกลงไม่ใช่กฎหมาย เราพยายามทำตามข้อตกลงแล้ว แต่เมื่ออภิปรายยังไม่จบสิ้นก็ต้องเข้าใจได้ ขอเพียงอีก 1 ชั่วโมงก็อภิปรายครบแล้ว”

              นายสุทิน กล่าวอีกว่า วันนี้เราเสียใจ ต้องขอโทษประชาชนที่เราทำหน้าที่ได้ไม่ครบ เพราะรัฐบาลไม่เอื้ออำนวยให้เราได้ทำงานจริงๆ เพื่อนร่วมงานของเราเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ก็ทำให้เรากระทบกระทั่งกันบ้าง เราได้คุย และได้ปรับความเข้าใจกันแล้ว ส่วนชื่อ พล.อ.ประวิตร ที่เอาไว้ท้ายสุดเราจัดมาตั้งแต่แรก ไม่ได้มาเปลี่ยนเอาทีหลัง เรื่องนี้เราอธิบายกันเข้าใจ และจะทำงานด้วยกันต่อไป

 

 

 

              เมื่อถามถึงกรณีที่มีคนจากฟากฝ่ายค้านไปลงมติไว้วางใจรัฐบาล นายสุทิน กล่าวว่า เรามีเพียงแนวทางการลงมติให้ส.ส.เท่านั้น คงไปบังคับกันไม่ได้ ทั้งนี้การอภิปรายจบ เราก็ต้องสรุปบทเรียนว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหนอย่างไรบ้าง เมื่อถามว่า ที่มีคำถามมาจากอนาคตใหม่เรื่องคุณขอมา นายสุทิน กล่าวว่า เรื่องคุณขอมายืนยันว่าไม่มี ให้ดูการทำงานดีกว่า เพราะถ้ามีแล้วจะคุ้มอะไร จะได้อะไร ที่ผ่านมาก็มีคนเสนอกลยุทธ์ว่าอภิปรายคนนั้น ไม่อภิปรายคนนี้ เพื่อเสี้ยมให้แตกกัน แต่สุดท้ายแล้วทุกพรรคเสนอใครมาก็ไม่มีใครไม่ได้อภิปรายคนไหน เสียดายแต่นายรังสิมันต์ ที่ยังไม่ได้อภิปราย ถ้าได้อภิปรายคนสุดท้ายก็จะครบ

 

นัดเคลียร์ อนค. - ระวังไอโอเสี้ยม

              เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างอนาคตใหม่กับเพื่อไทย นายสุทินกล่าวว่า “ร้าวได้ก็เชื่อมได้ ผมไม่ถือว่าเป็นรอยร้าวเป็นความคลาดเคลื่อนระยะสั้น ตอนนี้เรากับน้องอนาคตใหม่ให้ระวังไอโอเสี้ยมให้ฝ่ายค้านแตกกัน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะนัดกินข้าวกัน ไม่ถือว่าประสานรอยร้าว แต่เป็นการปรับความเข้าใจในระยะสั้นๆ"

 

 

 

              ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เหตุที่เราประกาศออกจากห้องประชุมและไม่ร่วมลงมติไม่ไว้วางใจเพราะเป็นสิทธิของเสียงข้างน้อยที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง ตามหลักเสียงข้างมากจะไม่ปิดกั้นเสียงข้างน้อย เหตุผลสำคัญที่สุดที่เราประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม เพราะฝ่ายค้านเราเห็นว่าญัตติที่อภิปรายมีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในญัตติ 1 ท่าน คือ พล.อ.อนุพงษ์ ยังไม่ได้อภิปราย ดังนั้นเราถือว่าการอภิปรายยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญจึงลงมติไม่ได้ และข้อบังคับเขียนชัดว่าก่อนการลงมติต้องมีผู้อภิปรายสรุปเป็นสิทธิของผู้เสนอญัตติ แต่เรายังไม่ได้สรุปเนื่องจากเราแสดงเจตนารมณ์โดยการเดินออกจากห้องประชุมว่าเราโดนเสียงข้างมากปิดกั้น นี่คือวิธีการตอบโต้ของเสียงข้างน้อยที่ดีที่สุด 

              "วันนี้ผมและเพื่อนส.ส.จึงใส่ชุดดำมาเพื่อต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ทุกคนเห็นว่าการใช้อำนาจเมื่อวานนี้ เบื้องหลังลึกๆ ก็เห็นว่ามีการปิดกั้นไม่ให้มีการอภิปรายเลย ทำให้ยืดหยุ่นเวลาไม่ได้ และพยายามใช้อำนาจให้จบในเวลา 19.00 น.ให้ได้ ผมพูดตรงๆ ว่าเป็นคำสั่งผู้ใหญ่ นั่นหมายความว่าระบบสภาถูกครอบงำด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ย้ำว่าการเข้าไปร่วมเหมือนไปยอมรับวิธีการของเขา ส่วนกลุ่มอนาคตใหม่ที่เข้าร่วมก็ถือเป็นสิทธิ์ตามเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการลงคะแนน เราไม่มีกิจที่จะไปทำลายทำร้ายพวกเดียวกันเอง เรื่องลงคะแนนกับเรื่องความขัดแย้งถูกจับมาโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน อย่างไรก็ตามญัตติแบบนี้จะไม่มีการปิดอภิปรายได้ แต่สุดท้ายคำสั่งที่มีอำนาจสั่งสภาได้ ซึ่งเป็นของผู้ใหญ่ฝั่งรัฐบาล” นพ.ชลน่านกล่าว

 

 

 

พิธายันทำงานร่วมฝ่ายค้านต่อ

              ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อนาคตใหม่ กล่าวว่า ผลลัพธ์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ระยะสั้นน่าจะส่งผลต่อการปรับครม. ระยะกลางปัญหาของบ้านเมืองถูกส่งต่อให้ประชาชนจนเกิดสถานการณ์ป่าล้อมเมืองนอกสภา จากการที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่และประชาชน ตื่นรู้ปัญหาของประชาชนมากขึ้น ส่วนความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยนั้น ภาพใหญ่พรรคร่วมฝ่ายค้านต้องทำงานร่วมกัน แต่ปีกย่อยต้องถอดบทเรียนร่วมกัน ประชาชนเห็นแล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่อยากให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องเวลาเพียงอย่างเดียว และคืนนี้ส.ส.ในกลุ่มอดีตอนาคตใหม่จะเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งจะสร้างให้พรรคมีความเข้มแข็ง วางแผนยุทธศาสตร์ บุคคล และอุดมการณ์ ยอมรับว่าจะมีการพูดคุยถึงพรรคใหม่แต่จะชื่ออะไรนั้นยังไม่ขอเปิดเผย

              นายคารม พลพรกลาง ส.ส. บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น ใน 5 ชั่วโมงสุดท้ายของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถ้ารัฐบาลแบ่งเวลาให้ฝ่ายค้านอภิปรายโดยไม่ยึดกติกาที่จัดสรรไว้อย่างเดียว บรรยากาศจะดีกว่านี้ แต่เมื่อรัฐบาลเลือกแบบนี้ทำให้เสียงข้างมากกุมสภา จนฝ่ายค้านไม่สามารถสรุปการอภิปรายได้ ประเด็นต่อมา ส.ส. ที่ทำหน้าที่อภิปรายถูกข่มขู่ รวมทั้งกรณีของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่ใช้สิทธิ์ของประชาชน อภิปรายนอกสภาเรื่อง 1เอ็มดีบี แต่กลับถูกรัฐข่มขู่ ทั้งนี้ขอบคุณ ส.ส. 55 คน ที่ยังอยู่ร่วมเดินไปข้างหน้าพร้อมกับประชาชน ส่วน ส.ส. ที่ย้ายไปสังกัดพรรคอื่นไม่ขอตอบว่ามีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องหรือไม่ ขอให้สังคมตั้งคำถามเอง ส่วนกรณี น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่มีการติดต่อจากรัฐบาล แต่ปฏิเสธไม่เข้าไปสังกัดพรรคด้วย กลับถูกข่มขู่ ซึ่ง น.ส.เบญจา ได้ไปแจ้งความแล้ว ตนเห็นว่าเป็นการกระทำไม่เหมาะสม เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับสภา ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส เรื่องคุณสมบัติ มีข้อสังเกตทางกฎหมายหลายประเด็น ซึ่งผู้อภิปรายได้บอกเรื่องนี้กับสังคมไปแล้ว ส่วนนายกฯ จะเห็นอย่างไรก็แล้วแต่จะพิจารณา

 

 

 

พี่ศรียื่น กกต. สอบซื้อขาย ส.ส.

              ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อเอาผิดพรรคการเมือง และ ส.ส. ที่มีพฤติกรรมขายตัว อันเนื่องมาจากกรณีที่ ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ ได้นำคลิปเสียงฉาวมาเปิดเผยและอ้างว่ามีการเสนอซื้อตัวขายตัวของ ส.ส. ย้ายพรรคโดยตั้งค่าตัวถึงคนละ 23 ล้านบาทหรือมากกว่านั้น ถือเป็นการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเข้าข่ายกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ตามมาตรา 92 (2) และ (3) แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ซึ่งอาจทำให้พรรคการเมืองที่มีการกระทำดังกล่าวถึงขั้นสิ้นสุดการเป็นพรรคการเมืองได้ สมาคมจึงมาร้องเรียน กกต. เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนและเอาผิดพรรคการเมืองและหรือผู้ที่กระทำการดังกล่าวเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ