ข่าว

'ปลอด'ล่องหน ศาลออกหมายจับ เบี้ยวนัดฟังฏีกาคดี 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ออกหมายจับ "ปลอดประสพ" สั่งปรับนายประกัน 4 แสน อ้างป่วย เบี้ยวนัดฟังคำพิพากษาฎีกา คดีผิด ม.157 กลั่นแกล้งย้าย ขรก.ระดับรองอธิบดีโดยมิชอบ นัดใหม่ 7 เม.ย.

 

 

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์  2563 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1063/2558 ที่ นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อายุ 75 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

ผู้สื่อข่าวรายงายว่า ครั้งนี้เป็นการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 2 เนื่องจากเคยมีการเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว แต่ปรากฏว่า นายปลอดประสพ จำเลย ไม่มาศาล โดยมีผู้รับมอบอำนาจมายื่นคำร้องขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาฎีกา และระบุว่ามีอาการป่วย จากนั้นศาลพิจารณาแล้วให้ยกคำร้องของนายปลอดประสพ จำเลย และมีคำสั่งให้ปรับนายประกันตามจำนวนประกัน 400,000 บาท พร้อมให้ออกหมายจับนายปลอดประสพ จำเลย เพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกาในนัดต่อไปวันที่ 7 เมษายน เวลา 10.00 น.

 

สำหรับคดีดังกล่าว คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2546 นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้น มีคำสั่ง 399/2546 แต่งตั้งนายวิฑูรย์ โจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรสหกรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 แต่จากนั้นมีการตรา พ.ร.ฎ.โอนป่ากรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลเมื่อลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 กันยายน 2546 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองการอนุญาต กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

 

ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2546-12 พฤศจิกายน 2556 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกคำสั่งกระทรวงทรัพยากรฯที่ 287/2546 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่ง 399/2546 ซึ่งแต่งตั้งโจทก์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อน อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ เพื่อยังยั้งไม่ให้โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่ง สาเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวกันมาก่อน

 

กระทั่งวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 ทางจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ ด้วยการให้นายดำรงค์ พิเดช ออกคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 543/2546 ย้ายโจทก์ไปตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 โดยเป็นการย้ายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม อีกทั้งก็ไม่ใช่ความจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ และจำเลยก็ทราบดีว่า นายดำรงค์ไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ ดังนั้นคำสั่งย้ายที่จำเลยให้ความเห็นชอบนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อเสียชื่อเสียง และเสียสิทธิไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นระดับ 9 จึงขอให้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ด้วย 2 ล้านบาท เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. โดยนายปลอดประสพ จำเลย ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีมาโดยตลอด

 

จากนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 เห็นว่า นายวิฑูรย์ โจทก์ มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารได้ แต่การที่จำเลยมีคำสั่งไม่แต่งตั้งโจทก์ ให้เลื่อนขั้นเป็นข้าราชการระดับ 9 นั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงให้จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ขณะที่โทษจำคุกให้รอลงอาญา ไว้ 2 ปี และให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 1.4 ล้านบาท ซึ่งต่อมาทั้งนายปลอดประสพ จำเลย และนายวิฑูรย์ โจทก์ต่างยื่นอุทธรณ์

 

ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2561 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อ่านคำพิพากษา เห็นว่า การย้ายโจทก์เพียงคนเดียวในระดับที่ต่ำกว่าเดิมเสมือนเป็นการลงโทษ โดยโจทก์กับจำเลยเคยมีข้อพิพาทกันเมื่อปี 2541 ขณะที่จำเลยเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกับโจทก์ โดยไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ให้โอกาสโจทก์และผู้เกี่ยวข้องไปเป็นพยานในการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหา

 

ขณะที่โจทก์เคยกล่าวโทษจำเลยต่อพนักงานสอบสวน สน.บางเขน จนมีการส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ด้วย การที่โจทก์ได้เลื่อนชั้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ก็ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่จำเลยให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนั้น จึงกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย และน่าเชื่อว่ามาจากกรณีจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองโจทก์มาก่อน โดยยกเลิกการแต่งตั้งเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และการที่จำเลยยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง ทำให้โจทก์ขาดโอกาสในการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ความเสียหายดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่สามารถชดเชยให้แก่โจทก์ได้ 

 

 

เมื่อพิจารณาการกระทำที่จำเลยให้รับโอนนายดำรงค์มาซ้อนตำแหน่งโจทก์ที่โจทก์ได้รับการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจทำให้เกิดปัญหาว่าการปฏิบัติราชการของนายดำรงค์ต่อการออกคำสั่ง-ประกาศต่างๆ ของกรมป่าไม้ว่ามีความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ พฤติการณ์นับว่าเป็นความผิดร้ายแรง จึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษ

 

ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์ฯ ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์ฯ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่ง ที่ใช้ให้นายดำรงค์โยกย้ายโจทก์ จึงให้จำคุก 2 กระทง กระทงละ 1 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทด้วย

 

ทั้งนี้หลังฟังคำตัดสินศาลอุทธรณ์ ทางนายปลอดประสพ ได้ประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งศาลตีราคาหลักทรัพย์ 400,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล กระทั่งล่าสุดวันนี้ศาลฎีกานัดฟังคำตัดสินเป็นครั้งที่ 2 แต่นายปลอดประสพไม่มา จึงถูกศาลออกหมายจับ และสั่งปรับนายประกัน 400,000 บาท

////////////////

เมื่อพิจารณาการกระทำที่จำเลยให้รับโอนนายดำรงค์มาซ้อนตำแหน่งโจทก์ที่โจทก์ได้รับการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจทำให้เกิดปัญหาว่าการปฏิบัติราชการของนายดำรงค์ต่อการออกคำสั่ง-ประกาศต่างๆ ของกรมป่าไม้ว่ามีความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ พฤติการณ์นับว่าเป็นความผิดร้ายแรง จึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษ

 

ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์ฯ ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์ฯ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่ง ที่ใช้ให้นายดำรงค์โยกย้ายโจทก์ จึงให้จำคุก 2 กระทง กระทงละ 1 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทด้วย

 

ทั้งนี้หลังฟังคำตัดสินศาลอุทธรณ์ ทางนายปลอดประสพ ได้ประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งศาลตีราคาหลักทรัพย์ 400,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล กระทั่งล่าสุดวันนี้ศาลฎีกานัดฟังคำตัดสินเป็นครั้งที่ 2 แต่นายปลอดประสพไม่มา จึงถูกศาลออกหมายจับ และสั่งปรับนายประกัน 400,000 บาท

////////////////

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ