ข่าว

บิ๊กป๊อก ยันคำสั่ง คสช.เปิดช่องเจรจาปลดล็อครถไฟฟ้าสายสีเขียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อนุพงษ์" โต้ ข้อหายกสัมปทานบีทีเอส 30 ปี ยัน คำสั่ง คสช.เปิดช่องเจรจา ปลดล็อครถไฟฟ้าสายสีเขียว ใช้กรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ต่อรองบีทีเอส ตั้งเป้าค่าโดยสารถูกลงกว่าครึ่ง

 

 

          เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2563 - รัฐสภา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลุกขึ้นชี้แจงประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า รถไฟฟ้าสายนี้ บีทีเอสได้สัมปทาน 30 ปี สัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 ต่อมา กทม.มีโครงการส่วนต่อขยายส่วนแรก ไม่ได้ให้สัมปทาน แต่จ้างบีทีเอสเดินรถ หลังจากนั้น รฟม.ทำส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 สีเขียวเหนือ เขียวใต้ (หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-บางปู) ถ้าสร้างเสร็จทั้งหมด ไม่อยู่ในสัมปทาน ต้องจ้างเดินรถ 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

"ยุทธพงศ์" เปิดหัวซักฟอก "บิ๊กตู่" ร่ำรวยผิดปกติ

บิ๊กตู่ สวน ฝ่ายค้าน ต้องเข้ามาเพราะมีโกง-ย่ำยีอำนาจตุลาการ

"วิษณุ-อุตตม" สวน "พท." ปมเช่าที่ศูนย์สิริกิติ์

 

          ที่ผ่านมา รฟม.ใช้เงินกู้ในการก่อสร้างส่วนต่อขยาย 2 ส่วนนี้ จากนั้นถ้าจะจ้างเดินรถซึ่งมีแนวโน้มขาดทุน เพราะอยู่ในโซนชานเมือง ผลจะทำให้ต้นทุนมูลค่าโครงการยังไม่ได้คืน ต้องจ่ายดอกเบี้ย ถ้าจ้างเดินรถก็จะเจอภาวะขาดทุนตามมาอีก เมื่อสิ้นสุดสัญญา พ.ศ.2572 จะมีส่วนต่อขยายหลายส่วน การจ้างเดินรถ เอกชนรายใหม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ต้องเตรียมรถล่วงหน้าหลายปี แม้ กทม.จะมีอำนาจต่อรองการดำเนินการหลังปี 2572 แต่การโอนมายัง กทม. จะตามมาด้วยเรื่องของหนี้สิน 

 

          พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับหนี้สินทั้งหมด 113,428 ล้านบาท ต้องชำระหลังปี 2572 จำนวน 55,472 ล้านบาท ชำระก่อนปี 2572 อีก 57,956 ล้านบาท จะแก้ไขอย่างไร กทม.ไม่มีสภาพคล่องไปแก้ปัญหานี้ได้เลย จึงพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อประชาชน และ กทม. ประชาชนจะมีภาระค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท ประชาชนต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และ กทม. มีภาระหนี้ 57,956 ล้านบาท ถ้ารอสัมปทานหมดปี 2572 จะเจอภาระหนี้ 113,428 ล้านบาท

 

          ข้อพิจารณาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา พบปัญหาถ้ามีเอกชนรายใหม่เข้ามาหลังหมดสัญญา การกำหนดผลตอบแทนเอกชนรายใหม่จะมีอัตราใกล้เคียงกับปัจจุบัน เอกชนรายใหม่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากสัมปทานเดิม และสัญญาจ้างเดินรถ ขณะที่ กทม.ไม่สามารถรับภาระหนี้ได้ และการให้เอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แล้วให้มีการเปิดประมูลเอกชนรายใหม่ ต้องใช้เวลาดำเนินการ 2-3 ปี ประชาชนต้องแบกภาระค่าโดยสาร และกทม.มีปัญหาหนี้สินต้องเจรจา 113,428 ล้านบาท อีกทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ต้องมีภาระต้นทุนสูง เนื่องจากสัญญาสัมปทานเดิม สัญญาว่าจ้างเดินรถที่ยังมีอยู่ นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องมีเวลาเตรียมการไม่น้อยกว่า 3 ปี ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่มีปัญหาการคำนวณต้นทุนมาก 

 

         "คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ เนื้อหาของคำสั่งไม่ได้ให้ไปต่อสัมปทาน แต่ให้ไปหาทางออกว่าจะทำอย่างไร คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ตั้งเป้าหมาย 4 ประการ คื่อ 1.ค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระประชาชน 2.กำหนดเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน 3.ขั้นตอนการปฏิบัติคล้าย พ.ร.บ.ร่วมทุน องค์ประกอบคณะกรรมการเหมือน พ.ร.บ.ร่วมทุนทุกอย่าง และ 4.เร่งให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด นี่คือประเด็นเป้าหมายที่ต้องพิจารณา" รมว.มหาดไทย กล่าว 

 

          พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมามีหน้าที่ไปรเจรจาหาทางออก บนหลักการที่ว่าประชาชนได้ค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรม ไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน กทม.และรัฐบาลต้องไม่มีภาระหนี้ และผลตอบแทนการลงทุนของเอกชนอยู่ในอัตราที่เหมาะสม สำหรับสัมปทาน 30 ปี มี 10 ปีที่ต้องอยู่ตามสัญญาเดิม (ปี 2562-2572) ไปแตะไม่ได้ กทม.ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยให้เอกชนเป็นผู้รับภาระแทน ส่วนเป้าหมายของการเจรจาคือ เริ่มนับสัญญาสัมปทานใหม่ หลังจากสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง โดยจะมีการแบ่งรายได้ให้ กทม. และเอกชนได้ผลตอบแทนในระดับที่ยอมรับได้ มีการกำหนดเกณฑ์ที่ควรได้ ถ้าได้มากกว่าเกณฑ์ก็ต้องแบ่งเพิ่มให้ กทม. 

 

          ทั้งนี้ เฉพาะส่วนต่อขยาย ไม่มีใครรับทำแน่นอน การเจรจาตามกฎหมายบอกให้ต้องเจรจารายเดิมก่อน คสช.ได้ใช้คำสั่งเพื่อจุดประสงค์นี้ ไม่มีการพูดเรื่องเอื้อใคร แต่ประชาชนจะได้ค่าโดยสารที่เป็นธรรม ต้องต่ำกว่าครึ่งของราคาที่เป็นอยู่ตลอดสาย รัฐบาลไม่ต้องแบกหนี้ ไม่ต้องเอางบประมาณรัฐไปจ่าย และผู้ประกอบการต้องได้ผลประโยชน์ที่ควรได้ หากได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ต้องแบ่งเพิ่มให้ กทม.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ