ข่าว

"ทวี สอดส่อง"ชี้เงื่อนอำพราง"พรป."รธน.มีอำนาจน่าพิศวงมาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ทวี สอดส่อง" จับพิรุธเงื่อนอำพรางของ "พรป."ประกอบรัฐธรรมนูณปี 60 ทั้ง 10 ฉบับ ที่มีอำนาจน่าพิศวงมาก แม้แต่ส.ส. และพรรคการเมืองตกอยู่ในสภาพ"ลูกไก่ในกำมือ"ถึงเวลาทวงคืนรัฐธรรมนูญที่อำนาจเป็นของประชาชน

 

 

         พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวใจความว่า เงื่อนอำพรางของ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” 

        ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่พรรคได้กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคฯ จำนวน 191.2 ล้านบาท ที่แม้ไม่มีบทบัญญัติห้ามการกู้ยืมไว้ว่าเป็นความผิดก็ตาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการกู้ยืมเงินของพรรคดังกล่าวมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น ฯ มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคกระทำการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 72 ประกอบมาตรา 92 และมาตรา 94 จึงวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคฯ เป็นเวลา 10 ปี นั้น

 

         ส่วนตัวไม่ขอวิจารณ์คำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญแต่ขอพูดเรื่อง “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” หรือ “พรป.”ที่มีอำนาจและน่าพิศวงมาก ทั้งที่สถานะและศักดิ์ทางกฎหมาย ของ พรป.ก็เท่ากับพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. แต่กระบวนการร่าง พรป. มีลักษณะเฉพาะที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ต้องให้เสร็จทันในเวลาที่กำหนด

 

       ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มี พรป.อยู่ด้วยกัน 10 ฉบับ (ตามมาตรา 130) ดังนี้

1. พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2. พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
3. พรป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
4. พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
5. พรป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
6. พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
7. พรป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
8. พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
9. พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
10. พรป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     การเสนอร่างกฎหมาย พรป. ตาม รัฐธรรมนูญ 60 มีกำหนดได้ 2 ทาง (ตามมาตรา 131) คือ

(1) คณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง

(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

 

        จากการตรวจสอบจากรัฐธรรมนูญย้อนหลัง พบว่า พรป.ได้เริ่มมีครั้งแรกใน รัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้มี พรป. 8 ฉบับ ต่อมาใน รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มี พรป. 9 ฉบับ ส่วน รัฐธรรมนูญ กำหนดให้มี พรป.10 ฉบับ

 

         แต่กรณีที่ถือว่าเป็น “สร้างอำนาจตุลาการมากเกิน” ปรากฏตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นมรดกของรัฐประหารปี 2549 ได้กำหนดให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ เสนอร่าง พรป.ตรงต่อสภาผู้แทนราษฎรได้เองโดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี สำหรับ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นมรดกของการรัฐประหาร 2557 ก็กำหนดให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องต้องเสนอร่าง พรป.ได้แต่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีก่อน ส่วน รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้นได้รักษาหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยไม่ให้อำนาจศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เสนอกฎหมาย พรป. แต่อย่างใด

 

           ในยุค รัฐบาล คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ช่วงปี 2557 – 2561 พบว่าได้ผ่านร่างกฎหมายโดย สนช. ที่ หน.คสช แต่งตั้งขึ้น มีกฎหมายผ่านทั้งสิ้น 364 ฉบับ รวมทั้ง พรป. 10 ฉบับข้างต้นด้วย นอกจากนี้ยังมี ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่ง หัวหน้า คสช. รวมกัน มีจำนวนมากกว่า 500 ฉบับ ซึ่งฉบับที่ยังไม่ถูกยกเลิกก็มีสถานะเป็นกฎหมายอยู่ จึงถือเป็นยุครัฐบาล คสช มีการสร้างกฎหมายมากที่สุดโดยไม่มี

 

           ส่วนรวมของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ จนมีคำพูดของนักวิชาการบางกลุ่มว่าเป็น “มรดกปาบของ คสช. “ ที่ทิ้งไว้


           

 

 

        พรป ทั้ง 10 ฉบับล้วนสถาปนาอำนาจให้ศาลและองค์กรอิสระต่าง ๆ ให้มีโครงสร้างอำนาจมากล้นบางฉบับมีถ้อยคำเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่น พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 เป็นต้น ในขณะที่โครงสร้างอำนาจของประชาชนอ่อนแอไร้อำนาจต่อรอง และการกำหนดให้ ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่าง ๆ เสนอร่าง พรป ได้จะขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยที่อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งเป็นอิสระต่อกันและสามารถตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้

 

           การ ยุบพรรค อนค. และเพิกถอนสิทธิฯกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ยุบพรรคไทยรักษาชาติและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารเป็นเวลา 10 ปีเช่นเดียวกัน สามารถกล่าวได้ว่า รธน. 60 กับ พรป ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และ พรป อื่น ๆ รวม 10 ฉบับ ที่บัญญัติขึ้นในยุครัฐบาล คสช. ที่สภานิติบัญญัติมาจากการแต่งตั้งของ หน.คสช นั้น
 

          สถานะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญทั้งฉบับกำหนดให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีอำนาจน้อยเกินไป เป็นกลุ่มคนที่ถูกสันนิษฐานว่าไม่น่าไว้วางใจต้องตรวจสอบที่เกินความจำเป็น และตกอยู่ในสภาพผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเบี้ยล่างที่เหมือน “ลูกไก่ในกำมือ” ของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่าง ๆ (รวม ส.ว.ด้วย) ที่ล้วนมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ไม่ยึดโยงกับประชาชนทั้งสิ้น และไม่มีมาตราการหรือกลไกในการตรวจสอบระบบศาลและองค์กรอิสระโดยประชาชนเลย จึงทำให้การสืบทอดอำนาจของ “นักปฏิวัติรัฐประหาร”ยังคงมีอยู่ต่อไป

 

    ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องรวมกันจัดทำ “รัฐธรรมนูญที่อำนาจเป็นของประชาชน” รวมทั้งแก้ไข พรป ทุกฉบับที่มีส่วนรวมของประชาชนตามระบอกประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้สามารถผลักดันและขับเคลื่อนกระบวนการจัดสรร แบ่งบันอำนาจ ผลประโยชน์ ทรัพยากร และความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างความสมดุล มีประสิทธิภาพและเสมอภาพเท่าเทียม อันนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศและความผาสุกของประชาชนที่กระบวนการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ