ข่าว

เหลือ 2 ทางชี้ชะตา...ไพร่หมื่นล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถนนทุกสายมุ่งหน้ารอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดี "เงินกู้" ระหว่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ปล่อยกู้ให้พรรคอนาคตใหม่ 2 สัญญา จำนวน 191,200,000 บาท

 

              ภายหลังวันที่ 11 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นคำร้องมีคำสั่งยุบพรรค เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

 

 

 

              เป็นอีกหนึ่งจุดหักเหทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคเมื่อ 15 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา ถึงแม้ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติ “ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่” ในคดีที่ “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่

              แต่สำหรับคดีเงินกู้ 191,200,000 บาท ตามที่ กกต. มีมติกล่าวหาตามมาตรา 72 นั้น มีบทกำหนดโทษใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ซึ่งบัญญัติอยู่ที่มาตรา 126 ว่า ผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

 

 

 

              แตกต่างกับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เคยออกมาย้ำมาโดยตลอดว่า “เงินกู้” ไม่ใช่รายได้ ไม่ใช่เงินบริจาค แต่ถือเป็น “หนี้สิน” โดยเฉพาะไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกู้เงิน ซึ่งมาตรา 62 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 กำหนดที่มาของรายได้ว่ามาจากแหล่งใด แต่ไม่มีเรื่องเงินกู้ ซึ่งเป็นการเขียนถูกแล้ว เพราะเงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่ถือว่าเงินกู้คือหนี้สิน แต่หากพรรคอนาคตใหม่มีความผิดตามมาตรา 62 ก็มีโทษแค่ปรับเท่านั้น ไม่มีสิทธิยุบพรรคหรือดำเนินคดีอาญา 

              คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คาดว่าอยู่บน 3 แนวทางหลัก 1. ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากคำร้องของ กกต. ในมาตรา 72 และมาตรา 92 (3) มีผลไปถึงกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ทั้ง 14 คน ถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 94 กำหนดภายใน 10 ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ ส่วน ส.ส. ในพรรคที่เหลือ ต้องไปหาสังกัดพรรคการเมืองใหม่ภายใน 60 วันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) เพื่อรักษาสมาชิกภาพ ส.ส. ไม่ให้สิ้นสุดลง

 

 

 

              2. ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเฉพาะกรรมการบริหารพรรค 14 คน เนื่องจากเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในการทำสัญญาเงินกู้จำนวน 191,200,000 บาท ทั้ง 2 ฉบับ ที่ทำเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 จำนวน 161,200,000 บาท และทำเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 จำนวนวงเงิน 30,000,000 บาท หรือแนวทางที่ 3. ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 72 ทำให้พรรคอนาคตใหม่ยังคงสถานะเป็นพรรคการเมืองต่อไป

              แต่ประเด็นสำคัญกลับอยู่ที่ผลวินิจฉัยหากออกมาในแง่ลบ ไม่ใช่มีผลต่อความเป็นพรรคการเมืองเท่านั้น แต่จะมีผลไปถึง ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จะอยู่รวมตัวกันครบทั้งหมดเพื่อย้ายไปสังกัด “พรรคใหม่” ต่อไปหรือไม่ หรือกลายเป็นปรากฏการณ์ “ผึ้งแตกรัง” ย้ายไปร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่อยู่ในสภา

 

 

 

              ถึงแม้พรรคอนาคตใหม่ และ กกต. จะพิจารณาตัวบทกฎหมาย ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 หมวด 5 หัวข้อ “รายได้ของพรรคการเมือง” ในมาตรา 62 ทั้ง 7 ข้อมีความแตกต่างกัน แต่อยู่ที่คำพิพากษา 9 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้วินิจฉัยคำร้องไปถึงพรรคอนาคตใหม่ จะมีบทสรุปสุดท้ายเป็นอย่างไร

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ