ข่าว

ไม่หยุดนิ่งทอ.เดินหน้าร่วมมือพัฒนาอาวุธคุ้มกันประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผบ.ทอ.สัมมนา ทอ.เดินหน้าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ แสวงความร่วมมือ พัฒนาอาวุธ สร้างภูมิคุ้มกันประเทศ ผุดหลักสูตรปริญญาโท ระดมงานวิจัยเข้าร่วม

 

 

20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ พล.อ.ณัฐ  อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดสัมมนาทางวิชาการกองทัพอากาศ ประจำปี 2563 หรือ Royal Thai Air Force Symposium 2020 

 

 

ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจการกำหนดทิศทางการพัฒนากองทัพอากาศ และการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายในประเทศตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นรูปธรรม โดยมีพล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ให้การต้อนรับ

 

พล.อ.ณัฐ กล่าวว่า ตนรู้จักกับผบ.ทอ.มาตั้งแต่เด็กเพราะเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 รุ่นเดียวกัน เห็นความตั้งใจในการพัฒนากองทัพอากาศให้ก้าวหน้า ทันสมัย  พร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ ผอ.ทอ.มีความคิดพัฒนากองทัพอากาศให้เจริญก้าวหน้าต่อเนื่องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงที่เสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศและความสงบสุขเพื่อประชาชน

 

ขณะที่ยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ เป็นความท้าทายที่กองทัพต้องเผชิญคือเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าทุกวินาที มีการพัฒนารวดเร็ว มีราคาสูง เราต้องปรับเขี้ยวเล็บของเราภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด เพื่อเสริมสร้างกองทัพ บริบทปัจจุบันเราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ปรับเปบี่ยนวิธีการ ต้องร่วมมือและร่วมทุนกับหลายประเทศ 

 

พล.อ.ณัฐ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมหลายประเทศก็ปรับเปลี่ยนวิธีการในการประสานงานกับประเทศไทย ในส่วนของยุทโธปกรณ์ต้องมีความร่วมมือและร่วมทุนมากขึ้น รวมถึงภาครัฐและภาคเอกชนมีความสำคัญต้องผนึกกำลังและบูรณาการ ซึ่งกองทัพอากาศประกาศชัดเจนว่ามีแนวทางพัฒนากองทัพอย่างไร

 

สิ่งนี้เป็นนโยบายรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อเป้าหมายสำคัญคือเราต้องพึ่งพาตนเอง สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องจนปัจจุบันกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพสามารถผลิตยุทโธปกรณ์ได้เองหลายรายการ ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีพ.ร.บ.เทคโนโลยีประเทศรองรับเรื่องนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมายลูกขึ้นมาเพื่อรองรับให้เป็นรูปธรรมต่อไป

 

กระทรวงกลาโหมอยู่ระหว่างหาพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ใหม่จัดทำนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศใหม่ เช่น ที่จ.ชลบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นต้น เราต้องเดินหน้าต่อไปให้เป็นรูปธรรม ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นเพื่อเดินหน้า และประสานงานบูรณาการการทำงานที่เป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงกลาโหมมีศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ กรมการพลังงานทหาร

 

ซึ่งได้พัฒนาสิ่งที่ได้ผลิตขี้นมาให้มีคุณภาพแบะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ดินระเบิด กระสุนปืนเล็ก กระสุนปืนใหญ่ เครื่องยิงอัตราจร ซึ่งต้องพัฒนาต่อไปและในอนาคตเราต้องผลิตได้เอง อีกทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ขณะที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมมีศูนย์บูรณาการข้อมูลยุทโธปกรณ์จากทั่วโลกเพื่อศึกษา ขณะนี้กองทัพอากาศขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศก้าวไปอีกขั้น ถือเป็นสตาร์ทอัพที่ดี

 

จากนั้นพล.อ.อ.มานัต กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า ในการสัมมนาวันนี้เป็นการนำเสนอแผนงานโครงการในสมุดปกขาวที่กองทัพอากาศได้จัดทำขึ้นว่าเราจะเดินไปทางไหน ซึ่งแผนงานโครงการระยะยาวเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงในรอบ 20 ปี ยกเว้นเทคโนโลยี ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์กองทัพอากาศและประเทศไทย ซึ่งกองทัพอากาศมีความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างสันอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นภูมิคุ้มกันประเทศ  โดยเราไม่จำเป็นต้องสร้างทุกชิ้นส่วน แต่จะอาศัยความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ

 

พล.อ.อ.มานัต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แแผนงานโครงการประกอบไปด้วย 1.Air domain ซึ่งเป็นเรื่องของกำลังทางอากาศ และเรื่องภาคพื้นทั้งหมด 2.Cyber domain ประกอบไปด้วยลักษณะการใช้งานทั่วไป  3.Cyber War Fair ถือเป็นภัยคุกคามที่เราต้องมีขีดความสามารถ ระบบป้องกันเพื่อขับเคลื่อนในส่วนนี้ให้ได้ และ 4.Space domain  ที่เกี่ยวข้องกับนิติอวกาศ

 

การสัมมนาในวันนี้ เพื่อดูว่ามีส่วนไหนที่ติดขัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย การนำเข้า การเปิดธุรกิจในประเทศ เพื่อดูว่าเราสามารถช่วยผู้ประกอบการในประเด็นใดได้บ้างแล้วนำข้อเสนอสิ่งเหล่านี้ต่อกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลต่อไป โดยทำให้มีความเข้มแข็ง

 

พล.อ.อ.มานัต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กองทัพอากาศเปิดหลักสูตรปริญญาโทเทคโนโลยีป้องกันประเทศครั้งแรก จำนวน 20 ทุนการศึกษาที่ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เพื่อต้องการให้เกิดผลการศึกษาวิจัยที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง หวังผลว่าทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน ภาครัฐจะมีส่วนร่วมในแนวทางของกองทัพอากาศ  

 

อย่างไรก็ตามจะดูว่าในสมุดปกขาวจะสามารถเข้าไปร่วมตรงไหนได้บ้าง โดยในนั้นจะระบุโครงการจัดซื้อ โครงการร่วมพัฒนา ระบุเวลาไว้ทั้งหมด การเข้ามานั้นต้องเป็นไปตามข้อตกลงโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการเซ็นต์สัญญาใดๆ แต่การร่วมมือการตกลงนั้นเป็นสิ่งสำคัญชัดเจน แต่รัฐและเอกชน ทั้งในประเทศไทย ภูมิภาค และโลก เพื่อเดินไปตามแนวทางกองทัพอากาศที่วางไว้

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ