ข่าว

ป่าไม้-ส.ป.ก.รังวัดซ้ำ ที่ดิน "ปารีณา" จ่อแจ้งจับรุกป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตรวจซ้ำที่เขาสนฟาร์ม พิกัดดาวเทียมเป็นป่า 'ปารีณา' ยันไม่ได้บุกรุก ขอสู้คดีขู่ฟ้องคนพูดเท็จ

 

               คณะทำงานตรวจสอบที่ดิน “ปารีณา” ขอหมายค้นเช็กซ้ำเขาสนฟาร์ม พิกัดดาวเทียมระบุชัดบุกรุกป่าสงวน ป่าไม้รวบรวมข้อมูลร่วม ส.ป.ก.แจ้งความฟันผิด เจ้าตัวลั่นพร้อมสู้คดีชั้นศาล ขู่ฟ้องคนให้ข้อมูลเท็จ

อ่านข่าว-ป่าไม้มีอำนาจจับ ปารีณา หากพบรุกป่า

 

               จากกรณีการตรวจสอบการถือครองที่ดิน 682 ไร่ ในพื้นที่เขาสนฟาร์ม ต.รังบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กระทั่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ระบุชัดว่าที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพราะสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ยังไม่มีการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมดำเนินคดีตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น 

 

               ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ต.อ.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รอง ผบก.ปทส.) พร้อมนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคไพร นายธวัชชัย ลัดกลูด ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 กรมป่าไม้ ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบที่ดิน น.ส.ปารีณา ลงพื้นที่เพื่อจังหวัดราชบุรี เพื่อชี้จุดที่ น.ส.ปารีณา บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 46 ไร่เศษ และจะไปตรวจสอบพื้นที่ส.ป.ก.เพิ่มเติมอีก 682 ไร่ หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนเเห่งชาติ

 

               พ.ต.อ.วัชรินทร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จะตัองมีคนนำชี้ คือ น.ส.ปารีณา แต่หากเจ้าตัวไม่สามารถมาชี้ได้ก็จะเป็นพยานบุคคล เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง นำพิกัดมาชี้จุดได้ ส่วนการดำเนินคดีเบื้องต้นใชกฎหมายตามพ.ร.บ.ป่าไม้ปี 2484 เพื่อดำเนินการในพื้นที่ส.ป.ก. จำนวน 682 ไร่ แต่ต้องหารือในเเนวเขตของที่ดินดังกล่าวว่าทับซ้อนกับพื้นที่รัฐในกฎหมายฉบับใด พร้อมได้เชิญ ส.ป.ก.หวัดราชบุรี หารือถึงอำนาจทางกฎหมายในการดำเนินคดี แต่หากส.ป.ก.ไม่เป็นหน่วยงานหลักเข้าแจ้งความ ทางกรมป่าไม้ก็สามารถดำเนินการได้

 

               ต่อมาคณะทำงานตรวจสอบดังกล่าวได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดราชบุรีเข้าตรวจสอบพื้นที่เขาสนฟาร์มจำนวน 682 ไร่ เพื่อดูว่ามีการรุกพื้นที่ป่าสงวนเเห่งชาติจำนวนกี่ไร่ รุกพื้นที่ของส.ป.ก.จำนวนกี่ไร่ และเมื่อยึดตามคำตัดสินของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะมีพื้นที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติอย่างแน่นอนเนื่องจากพิกัดของดาวเทียมชี้จุดว่าเขตป่าสงวนปรากฏอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

 

               แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนพื้นที่ได้ว่าบุกรุกกี่ไร่ เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบให้แน่นอนก่อน ซึ่งผลอาจจะมากกว่า 682 ไร่ หรือน้อยกว่าก็ได้ จากนั้นทางกรมป่าไม้จะรวบรวมหลักฐานจากการลงพื้นนำข้อมูลมาทำบันทึกร้องทุกข์กล่าวโทษร่วมกับส.ป.ก.ภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ หลังทำบันทึกเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่การตรวจยึดต่อไป

 

               ในส่วนของการดำเนินคดี นายชีวะภาพ ระบุว่า เป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้ที่ต้องดำเนินการในการร้องทุกข์กล่าวโทษ บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งการดำเนินการทางกฎหมายนั้นอาจจะเป็นการแจ้งความใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ 46 ไร่ แต่พนักงานสอบสวนสามารถรวบไปเป็นสำนวนเดียวกันได้ หรืออีกกรณีคือไปแจ้งความเพิ่มเติมในคดีที่นายวีระ สมความคิด ได้ไปแจ้งความไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562

 

               ขณะเดียวกันนายจุมพต ชอบธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายกรมป่าไม้ อธิบายขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายว่า จากการตีความของกฤษฎีกามีท่อนประโยคที่กำหนดให้ส.ป.ก.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินคดี แต่หากส.ป.ก.ไม่ดำเนินคดี ทางกรมป่าไม้ก็มีอำนวจในทางกฎหมายดำเนินการได้ทันทีเช่นกัน แต่เพื่อความรัดกุมของสวนคดี ส.ป.ก.ควรจะร่วมร้องทุกข์กล่าวโทษ เช่น การปลูกสร้างอาคารในที่ดินของรัฐ ซึ่งจะทำให้เอกสารหลักฐานมีความรัดกุมมากขึ้น

 

               ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าอย่างไร แต่ทราบว่าตอบมาแล้ว รวมถึงได้แจ้งกรมป่าไม้และส.ป.ก.ซึ่งเป็นเจ้าของคำถาม ดังนั้นต้องให้กรมป่าไม้พิจารณาเรื่องนี้ว่าสุดท้ายจะสามารถปรับให้เข้ากับคดีต่างๆ ได้อย่างไร เพราะการตั้งคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา 5-6 ข้อ เป็นคำถามที่ใช้กับในหลายกรณี ไม่ใช่เฉพาะกรณีของน.ส.ปารีณา 

 

               แต่หลักใหญ่คือหัวข้อที่กรมป่าไม้สงสัยหนักที่สุดว่ากรมป่าไม้หรือส.ป.ก.เป็นผู้ที่มีอำนาจดำเนินคดี และคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบแล้วว่าเป็นอำนาจของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ส.ป.ก.ไม่มีอำนาจจับ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการจับ แต่กรมป่าไม้มีอำนาจจับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าที่ดินนั้นเป็นที่ดินป่าไม้ อย่างไรก็ตามต้องไปดูว่าแต่ละคนครอบครองที่ดินมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และส.ป.ก.ดำเนินการในที่ดินดังกล่าวในขั้นไหนแล้ว

 

               “เกณฑ์ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาใช้ประกอบกับที่เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อปี 2558 คือที่ดินนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นที่ดินของส.ป.ก. ต่อเมื่อ 1.มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ 2.คณะรัฐมนตรีจะต้องมีมติว่าที่ดินแปลงนั้นเข้าสู่กระบวนการปฏิรูป 3.ส.ป.ก.ต้องออกแผนงานปฏิรูปสำหรับที่ดินแปลงนั้น

 

               และ 4.มีงบประมาณสำหรับการเข้าไปดำเนินการปฏิรูป ซึ่งถ้าครบทั้ง 4 ข้อนี้ ที่ดินแปลงนั้นจะตกเป็นที่ดินของส.ป.ก. และพ้นสภาพจากการเป็นป่าสงวน แต่ถ้าไม่ครบใน 4 ข้อ ก็ยังเป็นพื้นที่ป่าสงวน และเมื่อเพิกถอนการเป็นป่าสงวนจะกลายเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. 

 

               แต่ศาลฎีกาหรือคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งนี้ได้วินิจฉัยย้ำสำคัญว่าสมมุติว่ามีที่ดินทั้งหมด 682 ไร่ เฉพาะแปลงที่ได้ดำเนินการครบตามคุณสมบัติ 4 ข้อนี้เท่านั้น แปลงอื่นที่ยังไม่ได้ดำเนินการครบ แม้คลุมเครือหรือเข้าข่าย ก็ยังไม่เป็นการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวน หลักสำคัญมีอยู่แค่นี้ กรมป่าไม้จึงต้องกลับไปพิจารณาว่าที่ดินของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายอยู่แค่ไหน คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ตอบ เพราะเขาไม่ใช่ผู้วินิจฉัยคดี” นายวิษณุกล่าว

 

               นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กรณี น.ส.ปารีณา ไม่มาชี้เขตก็สามารถมอบตัวแทนไปได้ แต่ถ้าไม่ไปชี้เขตและไม่ได้มอบหมายใครก็มีความผิดในฐานะไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว มีความผิดตามพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 47 และประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 เป็นความผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือ ขัดขวางโดยการนำชี้หลักเขต ไม่ใช่เรื่องการบุกรุก เพราะกฎหมายส.ป.ก.ไม่มีโทษอาญา แต่มีโทษฐานเดียวคือการขัดขวางเจ้าพนักงานตามมาตรา 47

 

               วันเดียวกันเมื่อเวลา 08.30 น. ที่ศาลจังหวัดราชบุรี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อม นายอุทัย สุวรรณนึก ทนายความได้นำ นายเสี้ยว นำพา อายุ 75 ปี พร้อมด้วย นางปราณี นำพา และน.ส.อำไพ นำพา บุตรสาว เดินทางมาร้องต่อศาลจังหวัดราชบุรีเพื่อขอคืนพื้นที่ทำกินจากกรณีที่ นายทวี ไกรคุปต์ บิดาของน.ส.ปารีณา เข้าไปล้อมรั้วปักเสาปูน พร้อมนำต้นมะพร้าวไปปลูกในที่ดินของตนเองถือครองทำกินอยู่ในโครงการถือครองการจัดการที่ดินเพื่อการจัดการที่ดินตามนโยบายของรัฐปี 2559  บริเวณบ้านหนองมะค่า หมู่ 9 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

 

               ขณะที่ น.ส.ปารีณา กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าที่ดินที่ครอบครองเป็นที่ดินป่าไม้ ว่าขอรอทนายความออกมาชี้แจง ขณะนี้อยู่ในขั้นการศึกษารายละเอียด ส่วนตัวพร้อมสู้คดีและพิสูจน์ในชั้นศาลว่าไม่ได้บุกรุก แต่ตอนนี้ขอดูรายละเอียดและปรึกษาทนายความก่อน เพราะมีข้อกฎหมายจำนวนมาก ก่อนจะแถลงข่าวชี้แจงไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งความจริงแล้วอยากตอบทุกคำถาม แต่ตรงนี้เป็นข้อกฎหมาย ถ้ามีข้อสงสัยให้สอบถามนายทศพล เพ็งส้ม ทีมกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ และยืนยันจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้บุกรุกที่

 

               “ดิฉันยืนยันว่าดิฉันไม่ได้บุกรุกและพร้อมจะสู้คดีแต่ในการตอบคำถามต่างๆ มีข้อกฎหมายเยอะ จึงอยากแถลงข่าวร่วมกับทนายความ เรื่องนี้เป็นข้อกฎหมาย ใครพูดอะไรไปต้องรับผิดชอบ หลังจากนี้จะตอบคำถามอะไรกับสื่อก็ต้องระมัดระวัง ใครพูดอะไรที่ผิดก็จะฟ้อง ดิฉันเองก็จะระมัดระวัง ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อปกป้องตัวเอง และตั้งแต่เกิดเรื่อง ของในไร่หายไปเยอะ ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้ตำรวจเร่งติดตามคดีให้ด้วย" น.ส.ปารีณา กล่าว

 

               ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่าวันนี้ป่าไม้และส.ป.ก.เข้าไปดูในพื้นที่เรื่องการทำประโยชน์ในพื้นที่แปลงดังกล่าว โดยภายใน 1-2 วันนี้ถ้าได้ข้อสรุปว่าเป็นพื้นที่ใช้สอยอย่างไร เท่าไหร่แล้วก็จะดำเนินการแจ้งความและดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเมื่อกฤษฎีกาตอบมาจึงทราบแล้วว่าหน่วยงานไหนจะต้องดำเนินการ

 

               อย่างไรก็ตามในส่วนของกรมป่าไม้มีทั้งพ.ร.บ.ป่าสงวนฯ และพ.ร.บ.ป่าไม้ ที่จะแจ้งดำเนินการ สำหรับส่วนของส.ป.ก.ก็เป็นเรื่องส.ป.ก.ที่จะไปดำเนินการต่อไป ทุกอย่างเป็นขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ