ข่าว

"ส.ว." ติงโควต้า ตุลาการศาลรธน. ส่อขัดรธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ส.ว." ติงโควต้าตุลาการศาลรธน. ส่อขัดรธน. ก่อนประชุมลับเพื่อลงมติเลือก หลังพบโควต้าจากอดีตอธิบดี มีหนึ่งเดียว จากกฎหมายกำหนดให้มี 2 แนะให้โยก "ปัญญา" จากสายรัฐศาสตร์ เป็นสายอดีตอธิบดีแทน ด้าน "พรเพชร" บอกเป็นปัญหาที่กฎหมายประกอบ รธน. แนะแก้ไขรอบหน้า

 

 

          เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 - ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 12 วรรคแปด หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รรับการเสนอชื่อฯ ที่มีพล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ พิจารณาแล้วเสร็จ ที่ใช้พิจารณารวม 150 วัน ซึ่งกมธ.ฯได้ขอขยายเวลาพิจารณารวม 4 ครั้ง 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

"วุฒิสภา"เห็นชอบ 4 ว่าที่ตุลาการศาลรธน.ตีตก 1

วุฒิสภาจ่อไฟเขียวขยายเวลาสอบคุณสมบัติตุลาการศาลรธน.รอบที่ 4

กำชับกก.สอบประวัติตุลาการศาลรธน.ให้เสร็จในกรอบขยายรอบ 4

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการพิจารณารายงานของการตรวจสอบประวัติฯ และลงมติ ซึ่งใช้เป็นการประชุมและลงคะแนนลับนั้น ส.ว. หารือต่อที่ประชุมเพื่อขอให้กมธ.ฯ ตรวจสอบประวัติฯ ชี้แจงรายละเอียดต่อการใช้ระยะเวลาตรวจสอบประวัติ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 5 คนได้แก่ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตในศาลฎีกา , นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา , นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ,นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และนายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ยาวนาน เพื่อให้สังคมเข้าใจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ถูกตั้งคำถามว่าเกี่ยวข้องกับการพิจารณา วินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ และประเด็นที่ตรวจสอบในข้อมูลเชิงลึก 

 

          ทั้งนี้ พล.อ.อู้ด ชี้แจงว่า การตรวจสอบประวัติและข้อมูลเชิงลึกนั้น ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เพราะต้องรักษาข้อมูลให้เป็นการพิจารณาแบบลับ อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่ใช้จำนวนมาก เพราะหลังจากที่กมธ.ฯ ได้รับข้อมูลต้องส่งไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตรวจสอบ ซึ่งระบบราชการมีความล่าช้า โดยเฉพาะการจัดเก็บเอกสารแบบรุ่นโบราณ ทำให้ใช้เวลาค้นหาข้อมูลตามที่ต้องการมาก ซึ่งการทำงานของกมธ.ฯสามารถตรวจสอบได้แค่นี้ ตามความยากที่ได้ข่าวสารหรือเนื้อหาต่างๆ ตามต้องการ ตามเวลาที่กำหนด

 

          จากนั้น พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ส.ว. หารือด้วยว่าตนไม่สบายใจที่พล.อ.อู้ด ระบุว่าทำงานได้แค่นี้ เพราะทำให้ประชาชนคิดได้ว่าส.ว. ที่มีหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลนั้นมีเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านเวลา ซึ่งตนต้องการให้กมธ.ฯ ชี้แจงว่า ทำได้เต็มที่เพื่อให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นที่ยอมรับกับประชาชน ทำให้ พล.อ.อู้ด ระบุถอนคำพูดที่ระบุว่า ทำได้แค่นี้  

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. หารือกับที่ประชุมถึงความไม่สบายใจกรณีโควต้าของ 5 บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 กำหนดให้มีโควต้าของบุคคลที่ได้รับการสรรหา มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหนงไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ต้องมี 2 คน แต่กรณีที่เสนอชื่อมีเพียงคนเดียว คือ นายนภดล ดังนั้นในอนาคตหากมีบุคคลร้องต่อองค์พิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาได้ ซึ่งตนขอให้นายนัฑ ผาสุก เลขาธิการวุฒิสภา ฐานะเลขานุการกรรมการสรรหา ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวด้วย

 

          พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า ตนอ่านรายงานของคณะกรรมการสรรหาบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเอียด ไม่พบประเด็นวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นตนมองว่าอาจเป็นเผือกร้อนของประธานวุฒิสภาที่มีหน้าที่นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ​แต่งตั้ง อย่างไรก็ตามเพื่อแก้ปัญหา ตนเสนอให้โยกโควต้าของนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากสายรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งอดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่ามีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี ให้เข้าเงื่อนไข มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากโควต้าสายรัฐศาสตร์ มีเกินจำนวนที่กำหนด คือ 2 คน ซึ่งมีนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมอยู่ด้วย 

 

    ทั้งนี้พล.อ.อู้ด กล่าวว่า "กรณีที่เสนอไม่อยู่ในอำนาจของกมธ.ฯ" 

 

          อย่างไรก็ตามในประเด็นดังกล่าว นายพรเพชร ชี้แจงต่อที่ประชุมด้วยว่า ตนไม่อนุญาตให้ถามเลขาธิการวุฒิสภาในประเด็นดังกล่าว เพราไม่มีอำนาจให้ตนต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ตนยอมรับว่าเป็นความรับผิดชอบของตนที่จะนำรายชื่อหลังจากที่วุฒิสภาเห็นชอบทูลเกล้าฯ ซึ่งตามกฎหมายไม่ระบุถึงอำนาจชี้ขาดของประธานวุฒิสภาต้องตีความหรือชี้ขาดตามประเด็นที่พล.อ.ต.เฉลิมชัย หารือว่าขาดองค์ประกอบหรือไม่ หรือขัดแย้งกับกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีการแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายใหม่ ควรเสนอปัญหาเพื่อให้แก้ไขให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ต่อคนที่ปฏิบัติหน้าที่

 

          อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนข้อกังวลเรื่องโควต้านั้น มีประกาศชองประธานกรรมการสรรหา ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ยืนยันว่าคำวินิจฉัยของประธานกรรมการสรรหา ถือเป็นที่สุด ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ส่วนระยะเวลาที่ใช้ตรวจสอบประวัติจำนวนมาก นั้นตนไม่ขอแก้ตัวแทน แต่กมธ.ฯ ได้รับเวลาสรรหาครั้งแรก เพียง 45 วัน ซึ่งน้อยกว่าข้อบังคับที่วุฒิสภาเขียนขึ้นภายหลังว่า กำหนดให้ใช้เวลา 60 วัน.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ