ข่าว

"ปิยบุตร" พ้อศาลปิดทางสู้ยุบ อนค ขู่เดินสายป่วน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หากถูกยุบพรรคควง "ธนาธร" เดินสายป่วนนอกสภา "ปิยบุตร" พร้อมนำ ส.ส. อนาคตใหม่ ลุยอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก

 

              กลายเป็นเรื่องลุกลามเมื่อแกนนำพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ประกาศพุ่งชนทุกรูปแบบ หากศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในคดีกู้เงินของพรรค ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งการออกมาประกาศเช่นนี้ทำให้การเมืองไทยเริ่มร้อนระอุขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าว-ศาลรธน.นัดชี้ชะตาพ.ร.บ.งบ63-ยุบอนค

 

 

 

“ปิยบุตร” ขู่ยุบพรรคเจอสู้นอกสภา

              เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ รัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พร้อมด้วย ส.ส. ของพรรค แถลงถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำพิพากษาคดีกู้เงินของพรรค ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ว่า พวกเราพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ เพราะมีข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่ามีเอกสารของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลุดออกมา ยืนยันว่า กกต. ดำเนินกระบวนการพิจารณาโดยมิชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และน่าเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้เราสู้ในศาล การไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวน ทำให้พรรคอนาคตใหม่เสียโอกาสในการสืบพยานสำคัญในชั้นศาล

 

 

 

              “ผมได้เรียนเสมอว่า ภาพยนตร์ที่เรียกว่ายุบพรรค ดำเนินการมาแล้วหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่เรายังเชื่อมั่นในความยุติธรรม เรายังคงเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างถูกต้องทั้งนี้ หากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจริงๆ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และผมจะเดินสายอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง 6 คนนอกสภา เพื่อผสมผสานกับ ส.ส. ในสภาต่อไป ส่วนการยุบพรรค เป็นไปได้ไหมว่า กรรมการบริหารพรรคจะลาออกเพื่อเปิดทางให้คนอื่นขึ้นมาทำหน้าที่แทนนั้น ผมยืนยันเช่นเดียวกับคดีก่อนหน้านี้ว่าเรามั่นใจในความบริสุทธิ์ และพรรคจะไม่ถูกยุบ การใช้วิธีการให้กรรมการบริหารพรรคลาออกจาก ส.ส. นั่นแสดงให้เห็นถึงการยอมจำนนต่อความอยุติธรรม พรรคอนาคตใหม่ไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม และจะต่อสู้ถึงที่สุด” นายปิยบุตร กล่าว

 

 

 

“บิ๊กป้อม” เมินอนาคตใหม่ลุยนอกสภา

              ที่ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี​ ให้​สัมภาษณ์​กรณีที่พรรคอนาคตใหม่แถลงว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ​นัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคในวันที่​ 21​ กุมภาพันธ์​ นี้​ เหมือนเป็นการตัดตอน​พรรคอนาคตใหม่ ไม่ให้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม​ 6​ คน​ ว่า​ “ไม่รู้สิ​ เป็นเรื่องของศาล” ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่เตรียม​เดินสายอภิปราย​นอกสภานั้น​ “ก็แล้วแต่เขา”

 

ลั่น พปชร. ไร้กลุ่มสามมิตร

              พล.อ.ประวิตร​ ยังให้​สัมภาษณ์​กรณีที่​ นายสมคิด​ จาตุศรี​พิทักษ์​ รองนายกรัฐมนตรีและแกนกลุ่มสามมิตร​ นัดรับประทานอาหารร่วมกับ​ ส.ส.​ พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่​ 5​ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา​ ว่า “เขาอยู่พรรคไหน​ พรรคพลังประชารัฐ​ใช่หรือไม่ ก็ลูกน้องทุกคน​ เป็นเรื่องธรรมดาที่ไปกินข้าวกัน​ ไม่มีนัยอะไร”

 

 

 

              ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ได้มีการต่อรองอะไรกันใช่หรือไม่​ พล.อ.ประวิตร​ กล่าวว่า​ ไม่มีๆ​ ส่วนที่ถามย้ำว่า​ ในพรรคดูเหมือนว่ายังแยกกันเป็นกลุ่ม​นั้น ไม่มี​ จะแยกอะไร​ เราเป็นหนึ่งเดียว​ ส่วนกลุ่มสามมิตร ยังคงมีอยู่ในพรรคพลังประชารัฐหรือไม่นั้น “ไม่มีแล้ว​ๆ”

 

“ธรรมนัส” ย่องทำเนียบพบ “สมคิด”

              เวลา 08.30 น. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เดินทางเข้าพบนายสมคิด ที่ห้องทำงานชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พูดคุยกันประมาณ 30 นาที โดยเป็นการเข้าพบหลังนายสมคิดไปร่วมรับประทานอาหารกับแกนนำกลุ่มสามมิตรและ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐกว่า 40 คน และหลังจากนายกฯ ขอให้นายสมคิดช่วยในเรื่องของการเตรียมข้อมูลรับมือการอภิปราย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง นายสมคิด เปิดเผยว่า ร.อ.ธรรมนัส มาพูดคุยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจฐานรากเท่านั้น ไม่ได้มีเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า มาคุยเรื่องงาน

 

 

 

ลือขอพึ่งบารมีกลุ่มสามมิตร

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัส มีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด คาดว่าการเข้าพบนายสมคิดครั้งนี้เพื่อหารือการรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่น่าจะถูกอภิปรายหนัก แต่ในทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ ถือว่า ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้มีกลุ่มก๊วนการเมืองในมือมากพอที่จะช่วยเหลือในศึกอภิปรายครั้งนี้ส่วนใหญ่มีเพียงกลุ่มพรรคการเมืองเล็กๆ ที่เคยประสานงานร่วมรัฐบาล ทำให้ต้องวิ่งหากลุ่มการเมืองเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือในการถูกอภิปรายครั้งนี้

 

“วิษณุ” เรียกถกวางแนวทางสู้ศึก

              ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานการประชุมหารือข้าราชการ โดยระบุว่า มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเชิญบรรดารัฐมนตรีที่มีชื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่น ร.อ.ธรรมนัส , นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาดไทย ต่างประเทศ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาด้วยตัวเอง สำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีเลขาธิการนายกฯ มาด้วยตัวเองเช่นกัน รวมถึงคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง

 

 

 

              นายวิรัช เปิดเผยว่า เป็นการหารือร่วมกับคณะทำงาน เพื่อเตรียมข้อมูลในการเตรียมความพร้อมของการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น เป็นการทำความเข้าใจ ข้อบังคับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ อย่างไรก็ตามจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เป็นการไลน์ไว้เท่านั้น โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นการนัดบรรดารัฐมนตรี พร้อมคณะทำงานของแต่ละคนหรือแม้แต่หน่วยงานในกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยหารือกัน ซึ่งถ้ารัฐมนตรีคนใดติดภารกิจมาด้วยตัวเองไม่ได้ก็จะมอบหมายให้ทีมงานมาพูดคุย แต่รัฐมนตรีคนใดที่เดินทางมาด้วยตัวเองได้ก็มาเอง ส่วนที่ถามว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อช่วยรัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้าถูกอภิปรายใช่หรือไม่นั้น อย่าไปพูดอย่างนั้น เจอกันอีกทีวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ไม่มีอะไรปิดบังอยู่แล้ว

 

วิปเชื่อ “ประธานสภา” เอาอยู่

              ที่ ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาและกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า หลังจากที่ได้หารือกับวิปรัฐบาลเบื้องต้นกำหนดไว้ 3 วันครึ่ง คือเริ่มตั้งแต่เวลา 13.30 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และลงมติในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จากนี้จะนำไปหารือกับฝ่ายค้านอีกครั้ง เพื่อกำหนดวันที่ชัดเจน ส่วนรายละเอียดจะประชุมถึงเวลาไหนนั้นต้องหารือกับฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกำหนดที่ชัดเจนต่อไปคาดว่าจะใกล้เคียงกับกรอบที่เราวางไว้

 

 

 

              เมื่อถามว่า ในส่วนของรัฐบาลจะรับมืออย่างไรหากฝ่ายค้านพูดนอกเรื่อง นายเทวัญ กล่าวว่า การอภิปรายทุกครั้งต้องอยู่ในกรอบที่กำหนดอยู่แล้วว่ากรอบอยู่ตรงนี้ หากอภิปรายนอกกกรอบจะโดนประท้วง ถ้ามีการประท้วงก็ไม่จบ เชื่อว่าประธานสภาจะควบคุมได้

 

ปชป. ตั้งวอร์รูมคุมซักฟอกใกล้ชิด

              นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์นี้ ว่า รัฐมนตรีพร้อมที่จะชี้แจงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อที่จะติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมข้อมูลให้รัฐมนตรีในการที่จะชี้แจงหากถูกพาดพิง ซึ่งคณะทำงานวอร์รูมนี้จะทำงานร่วมกันกับคณะทำงานของรัฐมนตรี โดยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เชื่อว่าทุกฝ่ายจะปฏิบัติตามหลักอย่างตรงไปตรงมา และอยากให้มีการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และการตรวจสอบที่เข้มข้น ก็มีความเชื่อว่านี่เป็นขบวนการถ่วงดุลที่ดีที่สุดในระบบประชาธิปไตย ส่วนทางพรรคเราไม่ได้มีองครักษ์เพื่อพิทักษ์ใครเป็นกรณีพิเศษ แต่เชื่อว่า ส.ส. ทุกคนหากมีกรณีที่อภิปรายครั้งนี้มีส่วนที่ขัดต่อหลักการหรือข้อบังคับการประชุมคงมีการท้วงติงกันเพื่อให้อยู่ในกรอบและหลักการ

 

 

 

พท. เผยอย่าปล่อย “บิ๊กตู่” ลอยนวล

              ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ (กพศ.) พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ กับ 5 รัฐมนตรี ว่า ขณะนี้เมื่อสืบสภาพของสถานการณ์ลึกลงไป จะรับรู้ถึงสัญญาณอันเป็นสำนึกใหม่จากนักการเมืองที่มาจากตัวแทนประชาชน ทั้งซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้านที่เริ่มเข้าใจตรงกันอย่างถ่องแท้ว่า ที่ผ่านมากลุ่มคนที่มาจากการยึดอำนาจทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้คำนึงถึงความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนเลย จึงหมดเวลาในการถือครองอำนาจแล้ว หากยังปล่อยให้อยู่ในอำนาจต่อไปบ้านเมืองก็จะเกิดแต่ความเสียหายจนยากที่จะเยียวยาได้ ดังนั้น เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เผยความจริงแล้วก็จะเป็นเวลาที่เหล่าผู้แทนราษฎรทุกฝ่าย สมควรจับมือร่วมกันอัปเปหิผู้นำสืบทอดอำนาจและพวกให้หลุดออกจากอำนาจไป ให้ได้ทราบบทเรียนการสั่งสอนเผด็จการให้รู้จักพลังประชาธิปไตยของพี่น้องประชาชนเจ้าของประเทศตัวจริงเสียบ้าง แล้วมาแสวงความร่วมมือหาทางออกให้แก่ประเทศชาติให้เป็นรูปแบบที่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยกันต่อไป

 

 

 

“ปิยบุตร” ชงตั้ง กมธ. ต้านรัฐประหาร

              วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตามที่นายปิยบุตร เป็นผู้เสนอ โดยนายปิยบุตรกล่าวว่า 88 ปีในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยมีการรัฐประหาร 13 ครั้ง หรือทุก 6 ปี จะมีรัฐประหาร 1 ครั้ง ข้ออ้างการทำรัฐประหารจะเป็นเรื่องเดิมๆ คือ โดยเฉพาะรัฐประหารปี 2557 ที่สร้างผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ ดังนั้นการรัฐประหารจึงไม่ได้เข้ามาปราบโกงทุกครั้ง แต่เมื่อรัฐประหารจากไป จะมีปัญหาทุจริตตามมา การรัฐประหารจึงไม่ใช่เครื่องมือปราบโกง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้นายทหารเข้ามาครองอำนาจ ทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็นการคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

 

 

 

              นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า การตัดตอนรัฐประหารมีหลายวิธีได้แก่ 1. การปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องประชาธิปไตย ต้องให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือทหาร ไม่ใช่ทหารขี่คอรัฐบาลพลเรือน 2. มาตรการทางกฎหมาย ให้ระบุลงไปประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ว่า ประชาชนเป็นผู้เสียหายจากการกบฏ เพื่อมิให้ศาลบอกว่า ประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อมีการไปดำเนินคดีกับผู้ทำรัฐประหาร รวมถึงให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่า ห้ามตุลาการยอมรับการทำรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ตลอดจนให้มีการรองรับอำนาจปวงชนชาวไทยในการต่อต้านรัฐประหาร นอกจากนี้ ต้องนำตัวผู้ทำรัฐประหารมาลงโทษ เมื่อกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ เหมือนอย่างที่หลายประเทศทำมาแล้ว

 

ปชป.- พท. รุมถล่มบอกเป็นสันดาน

              ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช อภิปรายว่า ไม่สนับสนุนให้ตั้ง กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าวเพราะเห็นว่าการตั้งญัตติเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันรัฐประหารจะเสียเวลาเปล่า จะเขียนอย่างไรก็มีคนฉีก สถาปนาตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สิ่งที่จะป้องกันรัฐประหารได้คือการปฏิรูปกองทัพให้โครงสร้างเล็กลง ปลูกจิตสำนึกประชาธิปไตยไว้ในหลักสูตรโรงเรียนเตรียมทหาร และปลุกจิตสำนึกประชาชนให้ต่อต้านการรัฐประหาร เชื่อว่ารัฐประหารเป็นเรื่องของคนบ้าอำนาจ ภาษาการเมืองเป็นวงจรอุบาทว์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า vicious circle ภาษาราชการเรียกว่า นิสัยอันถาวร ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเป็นสันดาน

 

 

 

              นายนิยม เวชกามา ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. ชุดนี้ โดยเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น กมธ. ชุดนี้ด้วย เพราะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารถือเป็นวิบากกรรมต้องมาชดใช้กรรม ถ้าจะแก้ไขไม่ให้มีการรัฐประหาร ต้องเขียนกติกาให้ชัดเจน หากใครทำรัฐประหารต้องถูกตัดหัว 7 ชั่วโคตร แต่วันนี้ไม่มีโทษนี้ ดังนั้นต่อไปหากเกิดรัฐประหาร ประชาชนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารและสามารถจับหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ ตั้งแต่ ผบ.เหล่าทัพ ประชาชนจะได้รางวัลนำจับคนละ 1-2 หมื่นบาท

 

สาทิตย์ชูขจัดเงื่อนไข - ข้ออ้างรัฐประหาร

              นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าเป็น ส.ส. 7 สมัย ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่สภาได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการรัฐประหารในประเทศไทยอย่างกว้างขวางขนาดนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่ยุคนี้ถูกหาว่า เป็นยุคสืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตามการวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารได้ก่อให้เกิดคำถามว่า กำลังพูดด้วยสายตาของใคร ใช้สายตานักการเมืองมองผู้ที่มาจากการรัฐประหาร หรือเรามองจากสายตาของประชาชนผู้อยู่ภายใต้การปกครอง เพราะเราต้องยอมรับว่า จะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ประชาชนมองผู้ยึดอำนาจและผู้มีอำนาจในแต่ละสถานการณ์แตกต่างกัน ดังนั้น คิดว่าการป้องกันการรัฐประหารต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความจริง หน้าที่ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการยึดอำนาจต้องขจัดเงื่อนไขในทางการเมืองในการอ้างเพื่อนำไปสู่การรัฐประหารให้ได้

 

 

 

              “การมองสาเหตุที่แท้จริงของรัฐประหารโดยไม่ชี้หน้าโทษใครคือการมองกลับมาที่การทำหน้าที่ของตนเอง เพราะใน เวลาที่เรียกร้องให้ต้องปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล เราได้กำลังคิดถึงอำนาจหน้าที่ของตัวเองอย่างที่ประชาชนมองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ญัตตินี้เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องตั้งกมธ.เฉพาะเพื่อไปศึกษา แต่ กมธ. สามัญ อาทิ กมธ. พัฒนาการทางการเมือง ก็สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ แม้จะมีคำพูดว่า สังคมใดที่ปกครองด้วยเผด็จการไม่เจริญ แต่อย่าลืมจีน การยึดอำนาจโดยพรรคคอมมิวนิสต์ และปกครองจนถึงทุกวันนี้ เศรษฐกิจเป็นอย่างไร ก็เห็นกันอยู่”

 

“ช่อ” ซัดรัฐประหารคือไวรัส

              น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายตอนหนึ่งว่า การรัฐประหารเหมือนไวรัสเอชไอวี ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องทั้งระบบ อาการป่วยไข้ที่เกิดจากไวรัสรัฐประหารที่ยังไม่มีคนพูดถึงมากนักคือ จุดยืนที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ของไทยในเวทีโลก ที่เกิดจากวงจรอุบาทว์ในการรัฐประหาร ตนเกิดในยุคที่ประเทศไทยมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก ในยุคที่ประเทศไทยเป็นประทีปแห่งความหวังของภูมิภาค แต่เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2549 การต่างประเทศของไทยที่รุ่งเรือง บทบาทของไทยที่เคยเป็นผู้นำของภูมิภาคก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

 

“โรม” ติงตุลาการช่วยสร้างอาณาจักร

              ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายตอนหนึ่งว่า การรัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากกฎหมายนี้บังคับใช้ได้อย่างบรรลุผล สิ่งที่ต้องเห็นในการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องขึ้นศาล และอาจจะมีคำพิพากษาประหารชีวิต วันนี้ท่านจะไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็น น.ช.ประยุทธ์ แต่เครื่องมือกฎหมายที่เราใช้อยู่มีปัญหา ไม่สามารถใช้บังคับได้จริง ส่วนหนึ่งองค์กรตุลาการ องค์กรศาล ได้มีคำพิพากษารองรับมาตลอดว่า คณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจแล้วนั้น ย่อมมีอำนาจในการปกครอง และออกกฎหมายบังคับใช้ต่อประชาชน สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะองค์การตุลาการไปยอมรับทำให้คณะรัฐประหารเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตย

 

 

 

หนุนประหารชีวิต - ยึดทรัพย์

              นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอให้ตรากฎหมายเพื่อลงโทษผู้ที่ทำรัฐประหารด้วยการนำตัวไปประหารชีวิตและยึดทรัพย์ และขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันที่ระบุว่ามาตามระบอบประชาธิปไตย ขอให้ตรากฎหมายลงโทษคนที่ปฏิวัติและให้สิทธิประชาชนต้านการรัฐประหาร ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อปกป้องประชาธิปไตย

              นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ประเทศไทยมีโอกาสเกิดรัฐประหารได้อีก ลุงคนเก่าไป ลุงคนใหม่มา เป็นอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ วิ่งไล่กันไม่หมด ประเทศชาติเลยไม่ได้ผุดได้เกิด จึงขอวิงวอนให้สมาชิกสภาสนับสนุนให้ตั้งกรรมาธิการขึ้น และขอแนะนำให้รัฐบาลนำ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นกรรมาธิการด้วย เพราะคงไม่มีใครที่จะมีความรู้และป้องกันการรัฐประหารได้ดีเท่ากับหัวหน้าคณะรัฐประหารในอดีตอีกแล้ว

 

 

              นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนตั้งคณะกรรมาธิการ หากสภาไม่สนับสนุนถือว่าเสียศักดิ์ศรี และถือเป็นขี้ข้าของใครบางคน ทั้งนี้ ผลการศึกษานั้นเชื่อว่าอนาคตจะถูกหยิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แม้ ส.ส. บางคนจะระบุว่าผลการศึกษาหรือกฎหมายไม่สามารถป้องกันการรัฐประหารได้อย่างแท้จริงก็ตาม เชื่อว่าคนที่อภิปรายนั้นใจคิดอย่างหนึ่ง แต่ต้องอภิปรายอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าเห็นใจ

              ทั้งนี้ อยากเห็นผลการศึกษาของกรรมาธิกาฯ คือสภาพปัญหาที่ชัดเจนและลงลึก ผลกระทบที่เกิดขึ้น บทบาทหน้าที่ของกองทัพต่อการปกป้องสถาบันสูงสุด ปกป้องประเทศ ซึ่งควรแยกจากกัน และต้องศึกษากลไกของวัฒนธรรมประชาธิปไตยเพื่อสร้างอำนาจให้ประชาชน

 

 

 

              จากนั้นเวลา 17.30 น. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานที่ประชุม ได้แจ้งว่า แจงต่อที่ประชุมว่าขณะนี้มีสมาชิกอภิปรายไปแล้ว 35 คนและได้รับการประสานงานจากวิปทั้งสองฝ่ายว่าญัตติดังกล่าวมีความสำคัญ ทำให้มีผู้ที่อยากอภิปรายเพิ่มอีกหลายท่าน ดังนั้นขอนำไปอภิปรายต่อในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ และขอปิดประชุม

 

ปชป. จี้รื้อ กก.บห.ชุดใหม่ ปมแห่ลาออก

              วันเดียวกัน นายอันวาร์ สาและ ส.ส. ปัตตานี ในฐานะรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรื่อง ขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแก้ไขวิกฤติพรรคและรับผิดชอบร่วมกัน และขอให้เสนอยุทธศาสตร์การฟื้นฟูพรรคที่มีประสิทธิภาพ โดยระบุถึงปัญหาการลาออกของสมาชิกคนสำคัญของพรรคระหว่างสมัยประชุมสภาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการใดๆ จากฝ่ายบริหารที่จะแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาดังกล่าว

 

 

 

              “กระผมและเพื่อนสมาชิกร่วมพรรค จึงมีความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องยืนเคียงข้างประชาชนตามอุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งพรรค แต่ปัจจุบันพรรคตกต่ำเป็นอย่างมาก อาจเกิดจากการที่ประชาชนสับสนในเรื่องของนโยบายพรรค อุดมการณ์พรรค จึงขอเสนอให้พรรครีบจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแก้ไขวิกฤติพรรค เพื่อจะได้รับผิดชอบร่วมกัน และเพื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคได้รับทราบถึงปัญหาและหาทางแก้ไข หากยังไม่มีทางแก้ไขต้องเสียสละให้บรรดาสมาชิกได้เลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างศรัทธาให้สังคม” นายอันวาร์ ทิ้งท้ายไว้ในหนังสือดังกล่าว

 

 

 

ป่าไม้ลุยตรวจที่ดินพ่อปารีณา

              เมื่อเวลา 10.00 น. นายพัฒนะ ศิริมัย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) พร้อมด้วย นายสุชาติ บัวบาง เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ศูนย์ป่าไม้ราชบุรี สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) ร่วมกับ พ.ต.อ.ทูน เดชคุณมาก ผกก.สภ.สวนผึ้ง และพนักงานสอบสวน เจ้าของคดี ทหาร ฝ่ายปกครอง ร่วมกันเข้าตรวจสอบที่ดินที่ นายทวี ไกรคุปต์ พ่อของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ครอบครอง โดยนำแผนที่ดาวเทียมมาประกอบ โดยที่พนักงานสอบสวนได้ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจชี้แนวเขตพื้นที่ทั้งหมด ตามอำนาจหน้าที่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกให้นายทวีมารับทราบข้อกล่าวหา และชี้แนวเขตเพื่อประกอบสำนวนคดี แต่ปรากฏว่านายทวีไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามนัด เพื่อทำการชี้แนวเขตที่ดิน หรือมอบหมายให้ตัวแทนมาทำการชี้แนวเขต

              จากการตรวจชี้แนวเขตของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พบว่า พื้นที่ที่นายทวีครอบครองนั้น มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนตามแนวแผนที่ดาวเทียม จำนวนกว่า 800 ไร่ จากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้นำเอกสารสรุปจากป่าไม้มาประกอบในสำนวนคดี เพื่อดำเนินคดีกับนายทวี ตามกระบวนการขั้นตอนกฎหมายต่อไป

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ