ข่าว

เจษฎ์ เชื่อ คำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่ฟันร่างกม.งบฯโมฆะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อดีต ทปษ.กรธ." ชี้ม.143 ใช้ฟื้นร่างกม.งบฯ63 ของรบ.ไม่ได้ เจตนารมณ์ชี้ชัดสภาฯ ลงวาระสามไม่ทัน 105 วัน เชื่อ คำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่ฟันร่างกม.งบฯโมฆะ

 


               รัฐสภา - 25 มกราคม 2563 - "อดีต ทปษ.กรธ." ชี้ม.143 ใช้ฟื้นร่างกม.งบฯ63 ของรบ.ไม่ได้ เจตนารมณ์ชี้ชัดสภาฯ ลงวาระสามไม่ทัน 105 วัน เชื่อ คำวินิจฉัยศาลรธน. ไม่ฟัน ร่างกม.งบฯ โมฆะทั้งฉบับ เหตุเนื้อหาไม่มีปัญหา แนะให้แยกระหว่างกระบวนการ กับเนื้อหา


                 

 

 

              นายเจษฎ์ โทณวณิก  นักวิชาการด้านกฎหมาย ฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวต่อประเด็นการพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาให้สภาฯ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับแต่ที่ได้รับร่างจากรัฐบาล และหากเกินกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าสภาฯ เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบฯ ฉบับที่รัฐบาลส่งมายังสภาฯ ว่า เจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อไม่ให้สภาฯ ถ่วงเวลาการทำงานทั้งในชั้นของสภาฯ หรือในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ  เพราะหากพิจารณาเกินเวลา 105 วัน  รัฐบาลฐานะหน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณ และผู้ใช้งบประมาณมีสิทธิใช้ร่างงบประมาณท่ีเสนอมา ส่วนระยะเวลา 105 วันนั้นคิดมาจากฐานการแบ่งระยะเวลาการใช้งบประมาณ เป็นรายไตรมาศ ขณะที่ในแนวทางปฏิบัติ คือ สภาฯ พิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน หมายถึงกระบวนการลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ 

    

 

             "ในคำร้องที่ส.ส.เข้าชื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีประเด็นดังกล่าว ระยะเวลา 105 วันคือกระบวนการที่สภาฯ พิจารณาไม่เสร็จในวาระสาม แต่ร่างพ.ร.บ.งบฯ​63 นั้นทำเสร็จสิ้นทั้งในกระบวนการทั้งหมดของสภาฯ และของวุฒิสภา ดังนั้นหากจะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคงไม่เกี่ยวกับกระบวนการที่ต้องรื้อการพิจารณาของสภาฯ ใหม่ แต่ในประเด็นที่เป็นต้นตอ คือ การเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน คือ กระบวนการตรา ดังนั้นในประเด็นที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายต้องรอคำวินิจฉัยของศาล" นายเจษฎ์ กล่าว 

 

 

           อดีต กรธ.  กล่าวตอบคำถามด้วยว่าประเด็นคำร้องที่ส.ส.เสนอ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าทางใดคือร่างพ.ร.บ.งบฯ​63 ต้องใช้บังคับ ว่า ใช่ ร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ไม่มีทางเป็นโมฆะทั้งฉบับ เพราะหากพิจารณาในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตว่าด้วยการพิจารณาร่างพ.ร.บ. นั้น จะพบสาระสำคัญคือ เนื้อหาของร่างกฎหมายต้องมีปัญหา แต่ร่างพ.ร.บ.งบฯ​63 บทบัญญัติไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาคือกระบวนการออกเสียงเท่านั้น ดังนั้นต้องแยกเป็นสองประเด็น 

 

            "ยกตัวอย่างเหมือนการคลอดของมนุษย์ ที่คนหนึ่งคลอดธรรมชาติ อีกคนผ่าตลอด ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เด็กสามารถเกิดมาได้มีชีวิต ไม่ได้หมายความว่าคนที่เกิดโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาตินั้นไม่ใช่มนุษย์ ยกเว้นแต่ตาย โดยพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา คือ เนื้อหาไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เกิดจากกระบวนการทำคลอด  ส่วนผลของการเสียบบัตรจะเป็นอย่างไร จะผิดหรือไม่ต้องว่ากันในรอบสองต่อไป โดยแยกออกจาก เนื้อหาของร่างกฎหมาย" นายเจษฎ์ กล่าว

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ