ข่าว

เขย่าซ้ำ นิพิฏฐ์ แฉ นาที อยู่จีน ร่วมโหวตงบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นิพิฏฐ์ เขย่าซ้ำเบอร์ใหญ่ภูมิใจไทยกดบัตรแทนกัน แฉ นาที อยู่จีน ร่วมโหวตงบ

 

              หลังจาก นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยกรณี นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส. พัทลุง พรรคภูมิใจไทย มีชื่อลงมติในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่นายฉลองไม่ได้อยู่ในห้องประชุม ล่าสุด มีการแฉซ้ำอีกว่ายังมีแกนนำพรรคเดียวกันเดินทางไปต่างประเทศแต่กลับมีการแสดงตนอยู่ในองค์ประชุม และลงมติเช่นเดียวกัน

 

 

 

              วันที่ 21 มกราคม 2563 นายนิพิฏฐ์ เปิดเผยว่า จะเปิดเผยข้อมูลเด็ดเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นองค์ประชุมของ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย อีก 1 คน เป็นระดับผู้ใหญ่ในพรรคภูมิใจไทยที่ดูแลภาคใต้ และเกี่ยวดองกับรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่รัฐมนตรี โดยมีหลักฐานการเดินทางไปต่างประเทศในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ แต่กลับมีการแสดงตนเป็นองค์ประชุม และลงมติ

              “วันนี้จะขอเช็กบิล กัดคนภูมิใจไทยโชว์อีกคน ระดับแถว 3 ของพรรค ที่ดูแลภาคใต้ทั้งหมด ไม่ใช่ รัฐมนตรีแต่เกี่ยวดองกับรัฐมนตรี ผมยังไม่ขอบอกว่าใคร รอเปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กของผมวันนี้” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

              พร้อมกันนี้ นายนิพิฏฐ์ยังได้เรียกร้องให้พรรคภูมิใจไทยรับผิดชอบ นำนายฉลองมาแถลงข่าวว่าไม่ได้ลงมติมาตราใดบ้าง และรอศาลตัดสินอีกครั้ง ยืนยันว่าส่วนตัวไม่ได้มีเจตนาให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นโมฆะ ซึ่งอาจทำได้โดยการให้หักมติที่นายฉลองลงออก และยืนยันว่าไม่ได้เอาคืนพรรคภูมิใจไทยหลังแพ้เลือกตั้งเขต 2 พัทลุง แม้มีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องก็ยังค้างอยู่ในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

 

 

โพสต์ภาพ “นาที” อยู่จีนวันโหวตงบ

              ต่อมานายนิพิฏฐ์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปว่า “วันที่ 11 มกราคม 2563 ขณะที่มีการประชุมงบประมาณ ผมได้ข่าวว่า นางนาที รัชกิจประการ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย เดินทางไปประเทศจีน ลองตรวจดูหน่อยสิครับว่า หลังจาก check in ที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว บัตรของคุณนาที รัชกิจประการ ยังมีการกดโหวตอยู่ที่สภาหรือเปล่า อย่าว่าใครผิด ใครถูกเลย ถือว่างานนี้ ผมท้าให้ท่านเปิดเผยข้อมูลก็แล้วกันครับ แล้วมาดูกันว่า ข้อมูลในมือของท่านกับข้อมูลในมือของผมตรงกันหรือเปล่า”

              ทั้งนี้ นายนิพิฏฐ์โพสต์แสดงรูปถ่ายเป็นภาพหมู่ของกรุ๊ปทัวร์ดูงานตามโครงการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการศึกษาการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนระหว่างจังหวัดระนองกับเมืองซานเหมินเซียะ มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 11 - 15 มกราคม 2563 อีกรวม 3 ภาพ

 

 

 

              ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับข้อสงสัยการเสียบบัตรแทนกันของนางนาทีตามที่นายนิพิฎฐ์ตั้งข้อสงสัยนั้น รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 11 มกราคม 2563 พบว่า นางนาทีเดินทางไปเมืองเจิ้งโจว ประเทศจีน โดยสายการบินไทยสมายล์ เที่ยวบินที่ WE680 ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 16.55 น. โดยนางนาทีเช็กอินที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เวลา 15.30 น. แต่ปรากฏว่า บัตรของนางนาทียังลงคะแนนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ถึงเวลา 15.46 น. ซึ่งหมายความว่า ขณะที่นางนาทีเช็กอินที่ด่าน ตม. เวลา 15.30 น. แต่ที่สภายังมีการกดบัตรของนางนาทีในการโหวตลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ อยู่ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าหลังจากเวลา 15.46 น. สภาไม่ได้มีการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 อีกต่อไป

 

 

 

นายกฯ ยันเป็นเรื่อง ส.ส. ไม่ใช่รัฐบาล

              พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ที่ จ.นราธิวาส ว่า การที่ ส.ส. จะเข้าหรือไม่เข้าประชุมสภา เป็นเรื่องของสภา เป็นเรื่องของการเมือง แต่อย่าเอาปัญหานั้นปัญหานี้มาถามตน เพราะตนเป็นรัฐบาล มีหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร บางเรื่องเป็นเรื่องของสภา บางเรื่องเป็นเรื่องของคนอื่น ก็ขอให้ไปถามคนที่พูด หรือคนที่ทำเรื่องนั้น รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบในฐานะฝ่ายบริหาร แต่สภาผู้แทนราษฎรอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ อย่าเอาเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติมาถามฝ่ายบริหาร เพียงแต่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนยอมรับกติกาอยู่แล้ว

              “เรื่องที่ว่ามีเสียบบัตรแทนกันอย่ามาถามผม ทุกคนทราบดี ขอให้ไปตรวจสอบกันมาว่าทำถูกหรือไม่ถูก” นายกฯ กล่าว

 

 

 

              ส่วนกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้จะเป็นโมฆะหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ และถ้ามีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ก็ดำเนินการไป แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือตนต้องแก้ปัญหาอย่างไรให้การใช้จ่ายงบประมาณมีเงินเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องงบลงทุนที่มักมีปัญหา เพราะเงินจำนวนหลายแสนล้านบาท ก็ต้องคิดกันว่าถ้าเกิดปัญหาตรงนี้จะทำอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บางเรื่องแม้จะเคยมีลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้น แต่รายละเอียดแตกต่างกัน จึงต้องไปดูกันอีกที ถ้ามีการส่งให้ศาลพิจารณาก็เป็นเรื่องของศาล ไม่ขอก้าวล่วง

              “ก็เขาไม่ออกงบมาให้ แล้วเป็นความผิดของใครล่ะ เป็นความผิดที่ผมหรือ เอ้านี่ไม่ใช่ความผิดของใครไปตรวจสอบมาสิจ๊ะ ขั้นตอนมันติดตรงไหน เธอไปถามส่วนนั้นว่ามันติดตรงไหน ไปถามเขามา แล้วถามเขาดูว่าอย่างนี้แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ไม่ใช่มาถามผม เพราะผมเป็นคนรอรับงบประมาณมาใช้” นายกฯ กล่าวอย่างมีอารมณ์ เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่าปัญหานี้อาจทำให้งบประมาณมีปัญหาและล่าช้าตามไปด้วย

 

 

 

ชวนรับ ส.ส. ชอบทิ้งบัตรให้ จนท. เก็บ

              นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ต้องให้เวลาเลขาธิการสภาฯ ไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดย้อนหลังว่ามีการเสียบบัตรแทนกันจริงหรือไม่ ใครเป็นผู้กระทำ โดยปกติแล้วบัตรลงคะแนนมักจะอยู่ที่ ส.ส. แต่ละคน แต่ ส.ส. ส่วนหนึ่งมักจะทิ้งบัตรคาเครื่องลงคะแนนไว้จริงๆ แต่เมื่อเลิกประชุมแล้วเจ้าหน้าที่จะไปดึงบัตรเหล่านี้ออกจากเครื่องในทุกที่นั่ง แล้วนำมาเก็บไว้ พอตอนเช้ามา ส.ส. ก็จะมาขอบัตรลงคะแนนจากเจ้าหน้าที่ที่เก็บไว้ให้

              “ผมเคยสั่งให้ตรวจสอบกรณีของ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นกรณีลักษณะเดียวกัน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถชี้ได้ว่าใครเป็นคนกดบัตรให้ ซึ่งที่ผ่านมาได้เตือนตลอดเวลาว่าอย่าไปลงมติซ้ำ หรือไปทำอะไรผิด เพราะสภานิติบัญญัติต้องเป็นแบบอย่างในการเคารพเสียงประชาชนและกติกาบ้านเมือง อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ต้องไม่ทำ เตือนตลอดเวลาให้ระมัดระวังเรื่องเหล่านี้” นายชวน กล่าว

 

 

 

เชื่อเสียบบัตรแทน พ.ร.บ.งบ ไม่โมฆะ

              ผู้สื่อข่าวถามว่า การเสียบบัตรคาไว้ในเครื่องอาจจะเปิดโอกาสให้เกิดการเสียบบัตรแทนกันได้หรือไม่ ประธานสภาชี้แจงว่า โดยทั่วไปถ้าไม่สมคบกันก็คงไม่มี อยู่ดีๆ จะไปกดบัตรแทนคนอื่นได้อย่างไร การเสียบบัตรคาไว้เป็นเรื่องปกติ เพราะบางเรื่องต้องลงมติหลายครั้ง เช่น เรื่องงบประมาณ ส.ส. จะเสียบบัตรคาไว้ แต่ถ้าเสียบคาไว้แล้วคนอื่นมากดแทนให้นั้นไม่ค่อยมี ยกเว้นแต่ฝากให้เพื่อนมากดแทนก็เป็นอีกเรื่องที่ทำไม่ได้ ดังนั้น หากพบว่ามีการเสียบบัตรแทนกันก็ต้องมีมาตรการบางอย่าง ต้องดูเจตนารมณ์ เรื่องนี้อยู่ที่ความรับผิดชอบของแต่ละคน

              “อย่าไปห่วงภาพลักษณ์ ให้ห่วงความชอบธรรม ความถูกต้องดีกว่า เมื่อสภาเป็นสถาบันหลักต้องสร้างมาตรฐาน ไม่ใช่ไปปกปิดความจริงกัน ต้องให้โอกาส ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย” นายชวน กล่าวตอบข้อถามที่ว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะทำให้ภาพลักษณ์สภาเสียหายหรือไม่

 

 

 

              ส่วนการเสียบบัตรแทนกันจะมีผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาไปแล้ว จนอาจจะเป็นโมฆะหรือไม่นั้น นายชวนกล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน สภาทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน แต่โดยหลักแล้ว บัตรของใครถือว่าคนนั้นเป็นผู้ทำหน้าที่ แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ที่มีคนแอบฝากกัน แต่ไม่สามารถเป็นเหตุที่จะอ้างได้

 

เลขาฯ สภาจ่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

              นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผลการตรวจสอบเรื่องเสียบบัตรแทนกันว่า ว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับทีมกฎหมายพบว่า 1. ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริง โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักชวเลขมาตรวจสอบ ซึ่งพบว่า ในมาตรา 31 - 55 และข้อสังเกตนั้น มีชื่อนายฉลองร่วมลงมติจริง 2. ได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาบัตรลงคะแนนในห้องประชุมสภามาให้ข้อมูล ปรากฏว่าบัตรลงคะแนนของนายฉลองถูกเบิกไปใช้จริง และลงมติในวันที่ 8 - 11 มกราคม โดยในวันที่ 8 - 10 มกราคมนั้นไม่ได้มีการส่งบัตรคืนเจ้าหน้าที่ แต่พบอีกครั้งว่าบัตรถูกเสียบคาไว้ที่เครื่องลงคะแนนในวันที่ 11 มกราคม และ 3. ได้เรียกฝ่ายเทคนิคมาช่วยตรวจสอบช่องเสียบบัตรลงคะแนน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเสียบบัตรไว้ในตำแหน่งใด เพราะกล้องของฝ่ายเทคนิคไม่ได้มีการจับภาพ ส.ส. ไว้ทุกคน และไม่มีกล้องวงจรปิดภายในห้องประชุมด้วย

 

 

 

              “คณะกรรมการตรวจสอบจึงมีความเห็นว่า ข้อกล่าวหานั้นเป็นจริง ทำให้ผลการลงมติตั้งแต่มาตรา 31 - 55 และข้อสังเกตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้ถูกต้องคือ ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 139 ที่ให้สมาชิกของรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 75 คน เสนอต่อประธานสภา ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในระหว่างที่ประธานสภาชะลอร่างกฎหมายไว้ 3 วันเพื่อให้สมาชิกเสนอความเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายสรศักดิ์ กล่าว

 

มั่นใจเสียงเดียวไม่ทำให้ พ.ร.บ.ตกไป

              เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตของคณะกรรมการตรวจสอบยังเห็นว่า กรณีนี้ไม่ทำให้ร่างกฎหมายต้องตกไป เพราะเป็นเพียงแค่เสียงเดียว แต่คณะกรรมการก็เคารพการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการ อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งผลการตรวจสอบให้นายชวน ทราบแล้ว ซึ่งเรื่องนี้คงต้องนำไปหารือในที่ประชุมสภาด้วยว่าจะเห็นเป็นอย่างไร

 

 

 

              ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ามีการเสียบบัตรและกดลงมติแทนนายฉลองจริงใช่หรือไม่ นายสรศักดิ์ กล่าวว่า ถูกต้อง แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นบุคคลใดที่นำบัตรไปเสียบไว้ในช่องไหน

 

ภท. ตั้ง กก. สอบ - ฉลองแจง 7 ข้อ

              นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของนายฉลอง ให้ผู้อื่นเสียบบัตรแทนจริงหรือไม่ มีนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผอ.พรรค เป็นประธานกรรมการ นายสุริยงค์ หุณฑสาร และนายธนิศร์ ศรีประเทศ เป็นกรรมการ หากผิดจริงคือถ้าไม่ร้ายแรงก็ตักเตือน แต่ถ้าผิดร้ายแรงก็ให้พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค 

              นายศุภชัย กล่าวต่อว่า เบื้องต้นนายฉลองได้ชี้แจงดังนี้ 1. ยอมรับว่าไม่ได้ลงมติ 2. ลืมบัตรไว้ในที่ประชุม 3. ไม่ทราบว่ามีการกดบัตรลงคะแนน 4. มีเพื่อน ส.ส. นำบัตรมามอบให้อีก 2 - 3 วันต่อมา 5. ยอมรับผิดที่ลืมบัตร และขอโทษต่อทุกฝ่าย ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือให้ใครกดบัตรลงคะแนนให้ 6. พร้อมที่จะชี้แจงต่อกรรมการสอบสวนทุกฝ่าย และ 7. จดจำเป็นบทเรียน

 

 

 

              ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบกรณีที่นางนาทีมีรูปปรากฏตัวอยู่ที่ประเทศจีน แต่กลับมีชื่อเป็นองค์ประชุมด้วย แต่ดูเหมือนว่าการเดินทางไปจีนนั้นได้มีการแจ้งให้ทราบ ต้องกลับไปดูอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เวลาประชุมพรรคนั้นก็บอกตลอดว่าต้องใส่ใจ ถ้าไม่มีธุระอะไรสำคัญก็ต้องอยู่ประชุม ในการประชุมพรรควันพรุ่งนี้ (22 มกราคม) คงต้องมีการสอบถามเรื่องนี้

 

ส.ว. เดินหน้าต่อโหวตงบ 63 ฉลุย

              ส่วนที่รัฐสภา วันเดียวกัน ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2563 ต่อเป็นวันที่สอง โดย ส.ว. ได้มีการขอหารือกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการลงมติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ชี้แจงว่า เรื่องนี้ผู้รับผิดชอบโดยตรงคือสภา ซึ่งเข้าใจว่าสภากำลังดำเนินการอยู่ ร่างกฎหมายนี้ส่งมาอย่างเป็นทางการยังวุฒิสภา ก็ต้องถือว่าส่งมาถูกต้อง เราต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 20 วัน อีกทั้งวุฒิสภาคงไม่มีอำนาจวินิจฉัย หรือดำเนินการว่าร่างกฎหมายนี้ถูกหรือผิด แต่ถ้าระหว่างนี้สภาบอกว่าขอให้รอไว้ก่อน เราก็ต้องรอ

 

 

 

              ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า ถ้าวุฒิสภาเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญต้องเข้าชื่อกันยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมองประโยชน์สาธารณะ แต่หากศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายนี้ใช้ไม่ได้จริง ก็มี พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2562 เพื่อเดินหน้าได้เหมือนกัน

              หลังจากที่ประชุมวุฒิสภาได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 อย่างครบถ้วนแล้ว จึงได้มีการลงมติเห็นชอบด้วยเสียง 225 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี และงดออกเสียง 8 เสียง

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ