ข่าว

ผวา15 เขื่อนจ่ายน้ำเกินเป้า แห้งก่อนฤดูฝน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผวา15เขื่อนจ่ายน้ำเกินเป้า แห้งก่อนฤดูฝน ชงผันฝั่งตะวันตกช่วย

          เมื่อวันที่ 12 มกราคม  2563- กรมชลประทาน โดยศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้งปี 62/63 รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจํานวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกันทั้งสิ้น 46,231 ล้านลบ.ม. (61% ของความจุอ่าง) เป็นน้ำใช้การได้ 22,410 ล้านลบ.ม. (43% ของความจุอ่าง) ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง จํานวน 14 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่กวงอุดมธารา แม่มอก จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลําพระเพลิง ลําแชะ ลํานางรอง ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว คลองสียัด และหนองปลาไหล

       สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,841 ล้านลบ.ม. (44% ของความจุอ่าง) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,145 ล้านลบ.ม. (23% ของความจุอ่าง) ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ม.ค.63) ทั้งประเทศ แผนการจัดสรรน้ำ 17,699 ล้านลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 6,206 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 แบ่งเป็นในส่วนลุ่มเจ้าพระยา แผนการจัดสรรน้ำ 4,000 ล้านลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,917 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48

      ทั้งนี้แผน-ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2562/63 ในเขตชลประทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ม.ค.62) ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ ปัจจุบัน เพาะปลูกแล้ว 2.64 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 114.40 ของแผน สำหรับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาได้รณรงค์งดทํานาต่อเนื่องในฤดูแล้งปี 2562/63 แต่ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 1.61 ล้านไร่

       ในส่วนคุณภาพน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา สถานีประปาสําแล จ.นนทบุรี สูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร ท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี ท่าน้ำกรมชลประทาน สามเสน (สูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวัง) ทั้งนี้กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเค็ม โดยผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง สถานีปราจีนบุรี (ปกติ) แม่น้ำท่าจีน สถานีปากคลองจินดา (ปกติ) และแม่น้ำแม่กลอง สถานีปากคลองดําเนินสะดวก (ปกติ)

     จังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 จํานวน 18 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และสุโขทัย รวมทั้งสิ้น 89 อําเภอ 509 ตําบล 4,429 หมู่บ้าน/ชุมชน


     

      ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จากนั้นได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาวังยาง-หนองขวัญ จ.กําแพงเพชร รวมทั้งลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพาะยาบริเวณประตูระบายน้ำคลองกระถิน และบริเวณฝายกั้นแม่น้ำปิงจุดที่ 2 ของโครงการชลประทานนครสวรรค์ 

   ผวา15 เขื่อนจ่ายน้ำเกินเป้า แห้งก่อนฤดูฝน       นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สํานักงานชลประทานที่ 12 โดยส่วนเครื่องจักรกลสูบน้ำช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ที่ประสบปัญหาภัยแล้งสูบน้ำช่วยเหลือช่วยเหลือราษฎรที่ประสบสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่างๆ โดยบริเวณหมู่ 1 ต.วังน้ำเย็น อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ได้ดําเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จํานวน 3 เครื่อง และบริเวณหมู่ 3 ต.โคกโคเฒ่า อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ได้ดําเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 12 นิ้ว จํานวน 3 เครื่อง รวมทั้งหมดจํานวน 6 เครื่อง ชึ่งการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาชันสูตร และโครงการส่งน้ําและบํารุงรักษาโพธิ์พระยา

      อย่างไรก็ตามรายงานข่าวจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 4.91 หมื่นล้านสบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การกว่า 2 หมื่นล้านลบ.ม. ร้อยละ 42 เฝ้าระวังน้ำน้อย 14 แห่ง (แม่กวง ภูมิพล สิริกิติ์ แม่มออก ทับเสลา กระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง ลำแซะ ลำนางรอง ป่าสักฯ คลองสียัด และหนองปลาไหล) ส่วนแหล่งน้ำขนาดกลาง 354 แห่ง จากทั้งหมด 660 แห่งที่มีระบบติดตามได้เฝ้าระวังน้ำน้อย 101 แห่ง (เหนือ 31 แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 53 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง ตะวันออก 11 แห่ง ตะวันตก 2 แห่งและใต้ 2 แห่ง) 

       สำหรับผลการจ่ายน้ำพบว่าสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จัดสรรน้ำเกินแผน 15 แห่ง ภาคเหนือสูงสุด 5 แห่ง ที่จัดสรรน้ำเกินแผน ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนภูมิพล และเขื่อนแม่มอก รองลงมารองลงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนจุฬาภรณ์ และภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนบางพระ และสุดท้ายภาคตะวันตกและภาคใต้ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนแก่งกระจาน ทั้งนี้หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้น้ำคงไม่เพียงพอหากมีการระบายไปเรื่อยๆ

     ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ห่วงใยเกษตรกรใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาซึ่งปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งนี้ไปแล้ว 2.25 ล้านไร่ ทั้งที่กระทรวงเกษตรฯ แจ้งแล้วว่าไม่มีแผนการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากกรมชลประทานไม่มีน้ำเพียงพอสนับสนุนจึงขอให้ผู้ที่คิดจะปลูกข้าวนาปรัง หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือทำปศุสัตว์ตามคำแนะนำของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ แย่งน้ำภาคการเกษตร อีกทั้งหากต้องสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะอย่างต่อเนื่องหรือซื้อน้ำเพื่อเลี้ยงต้นข้าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

      ขณะเดียวกันสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่าเมื่อกรมชลประทานไม่มีน้ำส่งให้นาปรังจะมีพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายร้อยละ 50 จากพื้นที่ที่ปลูกแล้ว 1.59 ล้านไร่ คิดเป็น 800,000 ไร่ โดยเกษตรกรลงทุนปลูก 5,564 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 4,129 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ปลูกอีก 1.59 ล้านไร่จะเสียหายร้อยละ 80 คิดเป็น 1.27 ล้านไร่ เกษตรกรลงทุนไปแล้ว 5,658 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 6,662 ล้านบาท จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งเข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชอื่นแทนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้

        ขณะที่นายระพีพัฒน์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2562 ลุ่มเจ้าพระยามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั้งหมด 7.89 ล้านไร่ ปัจจุบันปลูกแล้ว 2.25 ล้านไร่ จึงยังคงมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรอื่น 5.64 ล้านไร่ โดยสามารถปลูกพืชใช้น้ำน้อยเป็นทางเลือกได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสม 3.41 ล้านไร่ โดยโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการทำนาปรังจัดทำขึ้นในปีที่แล้ว สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรสูงกว่าการทำนาปรังเนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่ไม่เพียงพอใช้ในประเทศ มีต้นทุนการผลิต 4,370 บาท ขายได้ตันละ 7,810 บาท ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 2.23 ล้านไร่ สามารถส่งเสริมปลูกพืชตระกูลถั่วทั้งถั่วเขียวและถั่วลิสงเพิ่มเติมได้เนื่องจากยังเป็นพืชที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศเช่นกัน

          ทั้งนี้พื้นที่ที่เหลืออีก 1.86 ล้านไร่เห็นควรให้แต่ละจังหวัดพิจารณาส่งเสริมเกษตรทางเลือกหรือกิจกรรมอื่นๆ ตามความเหมาะสมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร สำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำโดยสิ้นเชิงจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ในลุ่มเจ้าพระยานี้ กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายกรมชลประทานจัดทำโครงการจ้างแรงงานขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อเตรียมเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูเพาะปลูกที่จะมาถึง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูแล้งโดยกำลังเร่งเตรียมแผนปฏิบัติการเพื่อเปิดรับสมัครในเร็ววันนี้

      เมื่อช่วงสายวันที่ 12 มกราคม ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หารือร่วมกับกลุ่มส.ส.ภาคตะวันตก นำโดย พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี รวมถึง น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนาความเจริญในพื้นที่ รวมถึงการแก้ปัญหาภัยแล้ง ประมาณ 1 ชั่วโมง

        นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ได้ประชุม ส.ส.ภาคตะวันตก โดยหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยจะนำน้ำจากภาคตะวันตกมาช่วยวิกฤติภัยแล้ง และผลักดันน้ำเค็ม เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณไม่เพียงพอ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาประเทศมีความซับซ้อน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล คสช.มีจุดอ่อนขาดการยึดโยงกับประชาชนที่ไม่มีระบบสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจะนำข้อมูลจากประชาชนผ่าน ส.ส.มาเสนอต่อรัฐบาล

     ด้าน พล.อ.สมชาย กล่าวว่า วิกฤติภัยแล้งที่ต้องการปริมาณน้ำกว่า 3 หมื่นล้าน ลบ.ม. พื้นที่ภาคตะวันตกมีความสามารถสนับสนุนน้ำมาใช้ได้กว่า ร้อยละ 50 จากเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนแม่กลอง คาดว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอจนจบฤดูแล้งนี้ พร้อมยืนยันว่าชาว จ.กาญจนบุรี และจ.ราชบุรี พร้อมเสียสละนำน้ำในพื้นที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเรื่องการขาดแคลนน้ำจืด เบื้องต้นรัฐบาลได้ดำเนินการผันน้ำจากภาคตะวันตกอยู่แล้ว และพร้อมเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลนำน้ำไปใช้เพิ่มเติม

       เมื่อถามว่าได้ทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่แล้วหรือไม่  พล.อ.สมชาย ย้ำว่าขณะนี้น้ำจากเขื่อนภาคตะวันตกอยู่ในเกณฑ์สมดุลอยู่ปีละ 1.1 หมื่นล้านลบ.ม. และมีเหลือบ้าง จึงสามารถนำส่วนที่เหลือไปผันน้ำได้เพิ่มเติม ทั้งนี้เกษตรกรภาคตะวันตกจะได้รับสิทธิ์เท่ากับเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งภาคอื่นและจะเพิ่มระบบส่งน้ำรูปแบบชลประทานในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย

      ส่วน น.ส.วทันยา กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐจะหยิบยกปัญหาภัยแล้งให้เป็นวาระอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบปีต่อปี เพราะปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปี ดังนั้นส.ส.ทุกภาคและผู้บริหารพรรคจะประสานไปยังรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว

   นอกจากนี้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,194 คน ระหว่างวันที่ 8-11 มกราคม 2563 เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งและการแก้ปัญหาของรัฐบาล ซึ่งได้สรุปผลสำรวจดังกล่าวดังนี้ 1.ประชาชนคิดอย่างไรกับสถานการณ์ภัยแล้ง ณ วันนี้ อันดับ 1 รู้สึกเป็นห่วง กังวล เข้าขั้นวิกฤติ รุนแรง แล้งหนักกว่าทุกปี 43.80% อันดับ 2 กลัวไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ประชาชนเดือดร้อน สงสารชาวนาและสัตว์ต่างๆ 26.51% อันดับ 3 ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการป้องกันและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 22.19% อันดับ 4 สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรและกระทบเศรษฐกิจ 16.14% อันดับ 5 รัฐบาลต้องรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บอกความจริง ไม่ปิดบัง 10.37%

          2.ประชาชนได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด? อันดับ 1 ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง 48.99% ผลกระทบที่ได้รับ คือน้ำประปาเค็ม น้ำขุ่น ไม่สะอาด น้ำไม่แรง อากาศร้อนอบอ้าว มีผลต่อสุขภาพอนามัย ฯลฯ อันดับ 2 ได้รับผลกระทบมาก 32.17% ผลกระทบที่ได้รับ คือไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม พืชผลเสียหหาย สัตว์เลี้ยงเป็นโรค ขาดน้ำ ขาดอาหาร ฯลฯ อันดับ 3 ไม่ได้รับผลกระทบ 18.84% เพราะสถานการณ์เพิ่งเริ่มต้น อยู่ในเมือง ใกล้แหล่งน้ำ มีน้ำสำรองไว้ใช้ได้นานหลายเดือน ฯลฯ

       3.ประชาชนคิดว่าควรมีแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ณ วันนี้ อย่างไร? 3.1) “ประชาชน” ควรมีแนวทางการรับมือ คือ อันดับ 1 ใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้เท่าที่จำเป็น 70.79% อันดับ 2 วางแผนการใช้น้ำ หาภาชนะสำรองน้ำไว้ใช้ 27.94% อันดับ 3 แนะนำบอกต่อให้ทุกคนรักษาสิ่งแวดล้อม 23.81% 3.2) “ภาครัฐ” ควรมีแนวทางการรับมือ คือ อันดับ 1 ทุกฝ่ายช่วยกัน ทำงานรวดเร็ว แก้ปัญหาตรงจุด 52.43% อันดับ 2 หาแหล่งน้ำสำรอง ขุดเจาะน้ำบาดาล ฝนเทียม 33.66% อันดับ 3 รณรงค์ ประกาศ แจ้งเตือน ให้ทุกคนตื่นตัว 31.07%

    4.ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการเตรียมการรับมือภัยแล้งของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด? อันดับ 1 ไม่ค่อยพึงพอใจ 47.44% เพราะเกษตรกรยังคงได้รับความเดือดร้อน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ไม่มีการแก้ปัญหาระยะยาว ฯลฯ อันดับ 2 ไม่พึงพอใจเลย 35.64% เพราะเป็นปัญหาซ้ำซากเกิดขึ้นทุกปี ไม่มีการเตรียมพร้อม ไม่มีการรับมือ ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง ฯลฯ อันดับ 3 ค่อนข้างพึงพอใจ 14.62% เพราะรัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือ อนุมัติงบประมาณ พยายามแก้ไขปัญหาน้ำ เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน ฯลฯ และอันดับ 4 พึงพอใจมาก 2.30% เพราะนายกฯ ให้ความสำคัญ ดูแลใกล้ชิด

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ