ข่าว

สภาอิหร่านฉะ' เพนตากอน' องค์กรก่อการร้าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาอิหร่านฉะ' เพนตากอน' องค์กรก่อการร้าย ระดมเงิน 200 ล้านยูโรเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยรบพิเศษ ส่งผลตะวันออกกลางตึงเครียดขึ้น

 

         ความคืบหน้ากรณีทั่วโลกจับตาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน ภายหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งโจมตีสังหาร พล.ต.กอเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน หนึ่งในผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดของอิหร่าน โดยปลิดชีพด้วยโดรนในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมานั้น

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ว่า ที่ประชุมสภาที่ปรึกษาแห่งชาติหรือสภาผู้แทนราษฎรของอิหร่านทั้ง 290 เสียง มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองกฎหมายว่าด้วยการประกาศให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐและกองทัพสหรัฐ ตลอดจนหน่วยงานทุกแห่งในสังกัด ถือเป็น “องค์กรก่อการร้าย” และเจ้าหน้าที่ของเพนตากอนไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน ถือเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรก่อการร้าย เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ก่อเหตุลอบสังหาร พล.ต.กอเซ็ม สุไลมานี อดีตผู้บัญชาการกองกำลังนักรบพิเศษ “คุดส์” แห่งกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) และนายอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลัง “ฮัชด์” ซึ่งเป็นเครือข่ายนักรบชีอะห์ในอิรักซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ด้วยการโจมตีทางอากาศใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด เมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา

      นอกจากนี้สมาชิกสภาอย่างน้อย 206 คนร่วมลงนามให้สัตยาบันในกฎหมายดังกล่าว ที่มีมาตราหนึ่งระบุว่า รัฐบาลเตหะรานภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ต้องจัดสรรงบประมาณ 200 ล้านยูโร หรือประมาณ 6,736.6 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยรบพิเศษคุดส์ ให้มีความแข็งแกร่งในการป้องกันประเทศ 

      อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรของอิหร่านประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2562 ว่าสหรัฐคือ “รัฐสนับสนุนการก่อการร้าย” ตอบโต้ที่รัฐบาลวอชิงตันขึ้นบัญชีดำไออาร์จีซีว่าเป็น “องค์กรก่อการร้าย”

     มีรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเพิ่มความตึงเครียดให้แก่สถานการณ์ในตะวันออกกลางมากขึ้น ขณะที่มีรายงานว่าฐานทัพสหรัฐทุกแห่งและเรือรบของสหรัฐทุกลำที่ประจำการอยู่ในตะวันออกกลางอยู่ในสถานะ “พร้อมขั้นสูงสุด” เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ในเวลาเดียวกับที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในเลบานอน ประกาศเตรียมโจมตีฐานทัพสหรัฐในตะวันออกกลาง 

    ด้านสื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในทำเนียบขาวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งให้กระทรวงการคลังร่างมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ที่สุดต่ออิรัก หลังสภาผู้แทนราษฎรในกรุงแบกแดดมีมติเมื่อวันที่ 5 มกราคม ต้องการให้กองทัพสหรัฐและพันธมิตรยุติกิจกรรมทุกรูปแบบและถอนทหารออกจากอิรัก 

    ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ยืนยันว่าสหรัฐไม่ได้ตัดสินใจถอนทหารจากอิรักเราไม่ได้ออกแผนการใดๆ สำหรับถอนกำลังจากอิรักหรือเตรียมพร้อมออกจากอิรักและแอสเปอร์ยืนยันว่าสหรัฐยังคงมุ่งมั่นในการทำสงครามกำจัดกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม(ไอเอส)ในอิรักและภูมิภาคนี้ ซึ่งปัจจุบันมีทหารอเมริกันประจำในอิรักราว 5,200 นาย เพื่อสนับสนุนฝึกอบรมกองทัพอิรักในการป้องกันไม่ให้ไอเอสฟื้นคืนชีพ และเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพันธมิตรที่รัฐบาลอิรักเชื้อเชิญให้ไปช่วยขับไล่ไอเอสเมื่อปี 2014

     สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า สหรัฐไม่ตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่า ให้แก่นายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เข้าประเทศเพื่อมาร่วมการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี ที่นครนิวยอร์กในวันพฤหัสบดีนี้ตามเวลาสหรัฐ ทั้งนี้นายชารีฟต้องการมาประชุมยูเอ็นเอสซีเรื่องการยึดมั่นตามกฎบัตรยูเอ็น เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุสังหาร พล.ต.กอเซ็ม ซึ่ีงมีการคาดการณ์กันว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านอาจใช้เวทีนี้เรียกร้องความสนใจจากคนทั้งโลกได้ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอย่างเปิดเผย ทั้งนี้สหรัฐใช้ข้ออ้างว่ามีสิทธิงดวีซ่าด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง การก่อการร้ายและนโยบายต่างประเทศ

    สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต แถลงแผนยื่นและลงมติญัตติจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐในการใช้ปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่าน โดยเปโลซี กล่าวว่า มาตรการยั่วยุของรัฐบาลและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐ, นักการทูต และชาวอเมริกันตกอยู่ในอันตราย ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับอิหร่าน ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาคองเกรส ความรับผิดชอบอย่างแรกของเราคือการทำให้ชาวอเมริกันมีความปลอดภัยและเรากังวลต่อการดำเนินการของรัฐบาลโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับสภาคองเกรสและไม่มีความเคารพต่ออำนาจในการประกาศสงครามของสภาคองเกรสตามที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

    อย่างไรก็ตาม ญัตติดังกล่าวมีแนวโน้มผ่านความเห็นชอบในสภาล่างแต่ยังไม่แน่ว่าจะได้รับการรับรองจากสภาสูงหรือไม่ เนื่องจากสมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนมากสนับสนุนการดำเนินการของทรัมป์ต่ออิหร่าน

    ทั้งนี้นายทรัมป์ประกาศแข็งกร้าวว่าไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากสภาคองเกรสสำหรับปฏิบัติการทางทหารใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสำทับว่าถ้าตัดสินใจจะโจมตีอิหร่านอีกจะแจ้งล่วงหน้าทางทวิตเตอร์และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 ม.ค.) ทรัมป์ได้ทวิตเตอร์ย้ำถึงจุดยืนโดยยืนกรานว่าจะไม่ยอมให้เตหะรานได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่นอน

     ข้อความทวิตเตอร์ของทรัมป์มีขึ้น 1 วันหลังจากเตหะรานประกาศว่าจะลดระดับปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ โดยข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อรับประกันว่าเตหะรานจะไม่ลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆ โดยใช้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์พลเรือนเป็นฉากบังหน้า

     มีรายงานว่า บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปหรืออียูจะประชุมฉุกเฉินเกี่ยวกับวิกฤติอิหร่านในวันศุกร์ที่ 10 มกราคม ในขณะที่ทางกลุ่มอียูหวังหาทางช่วยบรรเทาสถานการณ์ความตึงเครียด

     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านว่า ประเทศไทยเตรียมการให้เหล่าทัพและกระทรวงต่างประเทศติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกๆ เรื่องว่าเป็นอย่างไร และจะมีผลอย่างไรต่อประเทศไทยบ้างซึ่งเราก็เตรียมการไว้ เช่น สถานทูต บ้านทูตต่างๆ รวมถึงการให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานทูตสหรัฐ สถานทูตอิสราเอล และสถานทูตอิหร่าน

     สำหรับในเรื่องของความเชื่อมั่นของประเทศไทยหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทางกระทรวงพลังงานได้เตรียมการในเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการใช้พลังงานต่างๆ เราเตรียมการในทุกเรื่องอยู่แล้ว

     นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รมว.พลังงาน  กล่าวว่า ภายใต้กลไกปกติยังบริหารจัดการได้ แต่ได้เตรียมการที่จะใช้มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่เกือบ 4 หมื่นล้านบาท การสต็อกน้ำมัน ที่ปัจจุบันสามารถใช้ได้ 50 วัน และแก๊สยังมีเพียงพอต่อการใช้ ขณะเดียวกันได้ลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากตะวันออกกลางที่ต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ จาก 74% เหลือ 50% และเปลี่ยนไปสู่พื้นที่อื่นที่ไม่มีปัญหา รวมทั้งได้มีการเตรียมการผลิตน้ำมันดิบในประเทศให้มากและผลิตน้ำมันสำรองขึ้นมาใช้หากว่ามีปัญหา ขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก ขอให้มั่นใจว่าเรามีมาตรการรองรับ ทั้งนี้จะมีการเชิญประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 10 มกราคมนี้

     ขณะที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า หวังว่าจะไม่เกิดสถานการณ์บานปลายและเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ยับยั้งชั่งใจไม่ยั่วยุเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง แต่ยอมรับว่าทุกประเทศยังมีความกังวลในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันเราก็มีคนไทยอยู่ในประเทศที่มีปัญหาแม้ว่าจะไม่ได้มีจำนวนมากโดยในอิหร่านมีประมาณ 200 คน ส่วนในอิรักประมาณ 80-90 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา คนทำงานและแม่บ้าน แต่สถานการณ์ตอนนี้ทุกอย่างยังปกติดี 

    เมื่อถามว่า ทางสถานทูตได้แจ้งเตือนคนไทยอย่างไรบ้าง นายดอน กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติของสถานทูตที่ต้องทำงานเช่นนี้ และที่ผ่านมาทางสถานทูตก็ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เช่นในประเทศอิหร่าน เมื่อถามย้ำว่า หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีสถานการณ์วุ่นวายตามมา เราเตรียมการย้ายคนไทยกลับประเทศอย่างไรบ้าง นายดอน กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานช่วงเวลานี้ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรที่น่าเป็นห่วง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ