ข่าว

ลุ้นคดี ปารีณา-จาตุรนต์-บก.ลายจุด โอนศาลทหาร ขึ้นศาลยุติธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รองโฆษกอัยการ" เผย หลังปีใหม่ ลุ้นคดี "ปารีณา-จาตุรนต์-บก.ลายจุด" โอนศาลทหาร ขึ้นศาลยุติธรรมหลังยกเลิกคำสั่ง คสช.ให้พลเรือนคดีมั่นคง-อาวุธขึ้นศาลทหาร

 

 

          เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2562 - นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการโอนสำนวนคดีความมั่นคง และความผิด จากศาลทหาร กลับมาสู่การพิจารณาในศาลยุติธรรม ภายหลังจากมีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 9/2562 ว่า ประเด็นการโอนสำนวนคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร มาให้ศาลยุติธรรมดำเนินการสืบเนื่องจากมีคำสั่งของ คสช.ฉบับที่ 9/2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาก่อนมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยคำสั่งนั้นให้ยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 , 38/2557 , 43/2557 , 50/2557 และคำสั่ง หน.คสช. ฉบับที่ 55/259

 

          ซึ่งสาระสำคัญหลักๆ คือให้บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศและคำสั่ง คสช. ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่ให้โอนมาอยู่ในการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงเป็นผลให้คดีที่ค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารก็จะโอนมาศาลยุติธรรม และคดีอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการของอัยการศาลทหาร ก็จะมาโอนมายังสำนักงานอัยการสูงสุด โดยหลังจากที่มีประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 9/2562 แล้ว มีคดีที่โอนจากอัยการทหาร มายังสำนักงานอัยการคดีอาญาที่จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญา รวมทั้งสิ้น 43 เรื่อง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.คดีที่อัยการศาลทหาร ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีในศาลทหารไว้จนสืบพยานเสร็จแล้ว เพียงแต่รอฟังคำพิพากษา โดยกลุ่มนี้เมื่อโอนคดีไปยังศาลยุติธรรม ศาลก็จะทำคำพิพากษาไปแล้วเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์-ฎีกาตามกฎหมายศาลยุติธรรมตามปกติ

 

          2.คดีที่อัยการศาลทหารสั่งฟ้องแล้ว แต่ยังจับตัวมาฟ้องไม่ได้โดยมีหมายจับของศาลทหารอยู่ กรณีนี้ก็ต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวนในพื้นที่นั้นดำเนินการขอเพิกถอนหมายจับเดิมของศาลทหารก่อน จากนั้นไปขอหมายจับใหม่กับศาลยุติธรรมแล้วส่งมาให้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดที่รับผิดชอบคดีนั้นๆ เพื่อจะแจ้งสั่งตามกระบวนการให้ติดตามตัวบุคคลนั้นมาฟ้องศาลภายในอายุความ 3.คดีที่ฟ้องแล้วในศาลทหาร และอัยการศาลทหารได้สืบพยานไปแล้วบางส่วน ยังเหลือพยานที่ต้องสืบต่ออีกก็จะเป็นภารกิจของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดต้องพยานที่เหลือนั้นมาสืบต่อให้เสร็จในศาลยุติธรรม เพื่อคดีจะมีคำพิพากษาโดยศาลยุติธรรมต่อไป และ 4.คดีที่อัยการศาลทหารฟ้องคดีแล้ว แต่ยังไม่เริ่มสืบพยานใดๆ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ก็ต้องดำเนินการสืบพยานตามบัญชีที่อัยการศาลทหารเคยระบุไว้ต่อไปให้จบ

 

          ทั้งนี้คดีที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร ในส่วนที่ต้องดำเนินการนัดพร้อมในศาลยุติธรรมหลังจากโอนคดีมาแล้วนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งในรายละเอียดคดีนั้นยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ อย่างไรก็ดี นอกจากส่วนที่โอนมายังอัยการสำนักงานคดีอาญาแล้วที่จะต้องขึ้นศาลอาญา 43 เรื่องแล้ว ก็ยังมีที่โอนไปยังสำนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ที่จะขึ้นศาลอาญากรุงเทพใต้ และอัยการคดีอาญาธนบุรีขึ้นศาลอาญาธนบุรีด้วยแล้วแต่ท้องที่เกิดเหตุของคดีต่างๆ

 

          เมื่อถามว่า หากคดีโอนจากศาลทหาร มายังศาลยุติธรรม ฝ่ายจำเลยสามารถโต้แย้งกระบวนการสืบพยานที่เคยดำเนินไปแล้วในศาลทหารได้หรือไม่หากเห็นดำเนินไม่ได้เต็มที่ นายประยุทธ ชี้แจงว่า จะย้อนให้สืบพยานเดิมที่เคยดำเนินการไปแล้วไม่ได้ โดยเมื่อโอนคดีมาก็ต้องดำเนินการส่วนที่เหลือตามกระบวนการในศาลยุติธรรมต่อไป เพราะถือว่ากระบวนพิจารณาที่เคยดำเนินการมาแล้วในศาลทหารก็เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น จะไปรื้อใหม่ไม่ได้ แต่ในเรื่องของการประกันตัวหากเคยได้ประกันตัวในศาลทหารมาแล้วก็เป็นการโอนมาทั้งสำนวนและตัวก็เพียงแค่มาทราบนัดใหม่ในศาลยุติธรรม ส่วนจำเลยที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเพราะไม่ได้ประกันในศาลทหาร หากโอนคดีมาศาลยุติธรรมก็สามารถยื่นประกันตัวใหม่ได้

 

          ขณะที่ นายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายอาเด็ม คาราดัคหรือบิลาเติร์ก มูฮัมหมัด (BILAL TURK MUHAMMED) อายุ 28 ปี ชาวอูยกูร์-จีนจำเลย คดีระเบิดบริเวณศาลสักการะพระพรหม แยกราชประสงค์ ช่วงค่ำวันที่ 17 ส.ค.58 และเหตุปาระเบิดจากสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน บริเวณท่าเรือสาทร วันที่ 18 ส.ค.58 หนึ่งในคดีที่ขึ้นศาลทหารช่วงปี 2558 เปิดเผยว่า เมื่อมีประกาศคำสั่ง คสช.ให้โอนคดีมายังศาลยุติธรรมแล้ว คดีที่ฟ้องของนายอาเด็ม คาราดัค และนายไมไรลี ยูซูฟ (MEI RAI LI  YUSUFU ชาวอูยกูร์-จีน อายุ 30 ปี) ในความผิดฐานทำให้ระเบิด และทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการระเบิด รวม 11 ข้อหาตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 และ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ก็ได้โอนไปยังศาลยุติธรรมด้วยซึ่งตนยังไม่ได้รับหมายแจ้งว่าโอนคดีไปยังศาลอาญา หรือศาลอาญากรุงเทพใต้ และกำหนดนัดพิจารณาใหม่อย่างไร โดยเดิมคดีนี้ในศาลทหารได้สืบพยานไปแล้ว 18 ปาก จากบัญชีพยานอัยการศาลทหารแจ้งไว้กว่า 400 ปาก ส่วนจำเลยเตรียมพยานสู้คดีไว้ 40 ปาก ขณะที่ปัจจุบันทั้งสองยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีของนายอาเด็ม และนายไมไรลีนั้น ขณะนี้ถูกโอนไปขึ้นศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริงกรุงแล้ว โดยศาลนัดพร้อมคู่ความครั้งแรกในวันที่ 27 ม.ค.63

 

          ขณะที่คดีอื่นๆ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และความผิดต่อความมั่นคง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่มีบุคคลในสังคมและนักการเมืองตกเป็นจำเลยนั้น อาทิ คดีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกฟ้องร่วมกับนายสัชญา หรือขวัญ สถิรพงษะสุทธิ ในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกรสุนปืนฯ พ.ศ.2490 , พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138,140,371 กรณีวันที่ 29 พ.ค.- 15 ก.ค.57 ร่วมกันมีปืนเล็กกลและเครื่องกระสุน เสื้อเกราะ-หมวกกันกระสุน ซึ่งโอนคดีมายังศาลอาญาเมื่อวันที่ 18 พ.ย.62 เป็นคดีหมายเลขดำ อ.3041/2562 โดยศาลนัดพร้อมครั้งแรกในวันที่ 27 ม.ค.2563 เวลา 09.00 น.

 

          คดีที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ฉายา บก.ลายจุด นักกิจกรรมการเมือง ถูกฟ้องตาม มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 กรณีวันที่ 31 พ.ค.- 4 มิ.ย.57 ได้ส่งข้อความลงในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ทำนองว่าประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับเผด็จการทหาร และเสนิกิจกรรมล้ม คสช.เชิญชวนให้ผู้คนใส่หน้ากากเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งโอนคดีมายังศาลอาญาเมื่อวันที่ 18 พ.ย.62 เป็นคดีหมายเลขดำ อ.3052/2562 โดยศาลนัดพร้อมครั้งแรกในวันที่ 28 ม.ค.2563 เวลา 09.00 น.

 

          คดีของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณ และอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ ถูกฟ้องตาม มาตรา 116 , 368 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) กรณีแถลงข่าวหลังจากที่มีการรัฐประหารเดือน พ.ค.57 ในลักษณะต่อต้านการควบคุมอำนาจของ คสช. โดยทำให้เห็นว่าการเข้าควบคุมอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งโอนคดีมายังศาลอาญาเมื่อวันที่ 18 พ.ย.62 เป็นคดีหมายเลขดำ อ.3055/2562 โดยศาลนัดพร้อมครั้งแรกในวันที่ 29 ม.ค.2563 เวลา 09.00 น.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ